ยังคงเป็นวิกฤตที่ลุกลามต่อเนื่องสำหรับ H&M จากกรณีที่ถูกผู้บริโภคชาวจีนออกมาคว่ำบาตรจากการออกมาระบุว่า จะไม่มีการใช้ฝ้ายที่มาจากภูมิภาคซินเจียงของจีน หลังถูกระบุมาจากการบังคับใช้แรงงาน ล่าสุดเจ้าของพื้นที่ให้เช่าได้สั่งปิดร้านแบบไม่มีกำหนด
Bloomberg รายงานว่า มีร้านของ H&M อย่างน้อย 6 แห่งในจีน ถูกห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าสั่งปิด สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการนำภาพป้ายโฆษณาของแบรนด์ H&M ออก ขณะที่ H&M China กล่าวกับ Nikkei Asia ว่า ร้านค้าบางแห่งหยุดดำเนินการ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม และยังไม่ชัดเจนว่าการปิดเป็นการถาวรหรือไม่
ขณะเดียวกันยังมีรายงานด้วยว่า ร้านค้าของ H&M ไม่สามารถค้นหาได้อีกแล้วบน Baidu Maps ที่คล้าย Google Maps ของจีน รวมถึงบริการแผนที่ของ Alibaba ก็ลบที่ตั้งร้านค้าของ H&M ออกด้วย ซึ่ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2020 H&M เปิดดำเนินการร้านค้า 505 แห่งทั่วประเทศจีน คิดเป็น 5.2% ของยอดขายทั้งหมด นั่นทำให้จีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของ H&M รองจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ร้านค้าอย่างเป็นทางการของ H&M บน Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ไม่สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่วันพุธ (24 มีนาคม) ขณะที่ People’s Daily สื่ออย่างเป็นทางการของจีนรายงานว่า การค้นหาผลิตภัณฑ์ H&M บนแพลตฟอร์ม JD.com และ Pinduoduo ไม่พบผลลัพธ์ใดๆ อีกต่อไป
วิกฤตครั้งนี้ลุกลามขึ้นหลังจากแถลงการณ์ของ H&M ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ได้แสดงความกังวลต่อรายงานการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง โดยจะมีการหยุดใช้ฝ้ายจากซินเจียง และตัดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์จีน แถลงการณ์ครั้งนั้นได้ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งหลังจากในสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ที่ถูกระบุว่า เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ชาวอุยกูร์ในซินเจียง
ทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการแถลงข่าวที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศของประเทศในปักกิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐบาลซินเจียงกล่าวว่า ภูมิภาคนี้ได้เอาชนะภัยคุกคามจากความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายในอดีตด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ละเอียด
“เราหวังว่าแบรนด์ต่างประเทศเช่น H&M จะสามารถแยกแยะถูกและผิดได้มากขึ้น” Xu Guixiang โฆษกของรัฐบาลเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ชาวจีนรวมถึงชาวซินเจียงนั้นไม่พอใจต่อการคว่ำบาตรบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซินเจียง โดยหน่วยงานภายนอกภายใต้ข้ออ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตามแบรนด์ระดับโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า จะยอมรับผ้าฝ้ายจากภูมิภาคซินเจียง หรือเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรจากเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เพราะไม่เพียงแต่ H&M เท่านั้นที่แสดงจุดยืนต่อสาธารณะเกี่ยวกับผ้าฝ้ายที่มาจากซินเจียง แต่แบรนด์ในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างน้อย 11 แบรนด์ รวมถึง Burberry, Nike และ Adidas ก็ประสบปัญหาถูกชาวจีนเรียกร้องให้คว่ำบาตรเช่นกัน
ภาพ : Kevin Frayer / Getty Images
อ้างอิง: