×

ทำความรู้จัก ยูคอนยอง ล่ามศิลปินเกาหลีที่เต็มไปด้วยเสน่ห์บนเวที และวิธีการแปลแบบเรียลไทม์!

08.10.2019
  • LOADING...
ยูคอนยอง

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • “ทุกวันนี้ยูทำงานประจำเป็นผู้จัดการ ดูด้านการตลาดวิเคราะห์ต้นทุนให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเกาหลียี่ห้อหนึ่ง เหมือนชีวิตมีหน้ากากสามใบ อยู่ที่บริษัทหน้าหนึ่ง อยู่กับลูกเมียอีกหน้าหนึ่ง และเวลามาเป็นล่ามศิลปินก็อีกหน้าหนึ่ง” 
  • “ผมทำการบ้านเยอะมากครับ สมมติว่ามีโชว์ทุกสัปดาห์ พอหมดงานหนึ่งแล้ว  วันรุ่งขึ้นผมก็จะเริ่มแล้ว คือทำตัวเป็นแฟนคลับของศิลปินคนนั้นเลย จะเริ่มหาข้อมูลว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร” 
  • “ผมมองว่าวงการบันเทิงเกาหลี หรือ Korean Wave ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพียงแค่นำข้อดีข้อเด่นในวัฒนธรรมบันเทิงทั้งตะวันออกและตะวันตกมาผนวกกันแล้วกลั่นมันออกมา” 

ยูคอนยอง นับเป็นล่ามศิลปินเกาหลีที่โดดเด่นที่สุดอีกคนหนึ่ง ด้วยความสามารถในการแปลที่เต็มไปด้วยท่าทีสนุกสนานเป็นกันเอง ถ่ายทอดความรู้สึกศิลปินออกมาเป็นภาษาไทยได้โดนใจแฟนๆ และต้องยอมใจในการแปลแบบเรียลไทม์ เพราะเขาจะไปยืนอยู่ข้างหลังคอยแปลให้ศิลปินฟังทันที จนทำให้คอนเสิร์ตหรือโชว์ไหนๆ ดูไหลลื่นเหมือนกับว่ากำแพงภาษาได้ละลายหายไป

 

THE STANDARD POP พูดคุยกับยูคอนยองบ่ายวันหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานและวงการบันเทิงเกาหลีที่เขาได้สัมผัส ก่อนคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีในเย็นวันนั้นจะเริ่มต้น ซึ่งนี่คือกิจวัตรประจำสัปดาห์ของเขาที่จะขับรถจากจังหวัดระยอง ถอดหมวกผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้กับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อสนุกไปกับการทำงานบนเวที เขาบอกกับเราว่าการเป็นล่ามศิลปินเกาหลีเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจจากความเครียดในการทำงาน ไม่ต่างไปจากความรู้สึกของแฟนๆ ที่ได้มาดูศิลปินที่รัก

 

จากเด็กผู้ชายที่เติบโตชานเมืองกรุงโซล อ่านเขียนภาษาเกาหลีได้กำลังคล่อง ครอบครัวก็ย้ายมาตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ เด็กชายที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเรียนภาษาไทยมาก่อนก็ต้องเรียนรู้ภาษาที่สองในทันที พ่อส่งเขาเข้าเรียนโรงเรียนประถมและเรียนรู้ภาษาไทยแบบมัดมือชก แต่ถึงวันนี้ ยูคอนยอง ให้สัมภาษณ์ด้วยภาษาไทยแบบเจ้าของภาษา เล่นมุกทันสมัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะเรียกว่าเขากลายเป็นคนไทยไปครึ่งหนึ่งแล้วก็ว่าได้

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

คุณรับหน้าที่ล่ามมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ศิลปินเกาหลีเข้ามาตีตลาดไทย ย้อนกลับไปเล่าให้ฟังหน่อยว่าจุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร

ถ้าย้อนกลับไป ศิลปินเกาหลีเริ่มเข้ามาแสดงในไทยตั้งแต่ปี 2004-2005 แล้วนะครับ ตั้งแต่วง Paran หรือวง Super Junior ยุคแรกสุดครับ

 

งานแรกที่ทำให้คนรู้จักเยอะๆ น่าจะเป็นการเป็นล่ามให้กับวง Paran และ Super Junior ช่วงปี 2004-2005 ช่วงที่ยูอยู่มหาวิทยาลัยปี 1-2 นี่แหละครับ ซึ่งยูทำงานเป็นล่ามมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นล่ามในวงการบันเทิงเท่านั้นเอง ยูเป็นล่ามให้กับสถานทูต เป็นล่ามให้นักกีฬาทีมชาติเกาหลีตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นประถมครับ 

 

คือตอนยูอยู่ ป.6 ตอนนั้นในเมืองไทยไม่มีล่ามเกาหลีจริงๆ แล้วทีมมวยสากลมาแข่งคิงส์คัพที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก แล้วไม่มีใครช่วย เขาก็ติดต่อมาทางสถานทูต ซึ่งยูไปทำพาสปอร์ตพอดี เขาก็ถามว่ายูพูดภาษาไทยได้ไหม พอตอบว่าได้ เขาก็ให้ไปทำงานเป็นล่ามเลย 

 

หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นล่ามนักกีฬาเทควันโด ปี 1998 เอาจริงๆ คือไม่มีคนสอนเลยครับ เรียนรู้จากหน้างาน จากประสบการณ์ทำงานจริงๆ เลยครับ ไม่ได้ไปศึกษาจากที่ไหนเพิ่มเติม สมัยนั้นต่างจากสมัยนี้ที่งานงานหนึ่งมีล่ามเกือบสิบคน แต่สมัยนั้นมีล่ามเกาหลีอยู่คนสองคนอย่างมาก ต้องทำทุกอย่างทั้งหน้าเวทีและหลังเวที แต่ตอนนั้นไม่คิดว่าเหนื่อย อาจเพราะยังหนุ่มด้วยมั้งครับ ซึ่งมันทำให้ได้เรียนรู้การทำงานในเวลาอันสั้น

 

สังเกตว่าคุณแปลแบบเรียลไทม์เลย ทั้งที่ภาษาเกาหลีแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า คุณทำได้อย่างไร

ผมเรียนรู้จากการพูดคุย จากการเล่นกับพ่อแม่ เพื่อนๆ เท่าที่ยูเคยศึกษา เขาบอกว่าสมองเรามีสองส่วนในแง่การเรียนภาษา ถ้าเราเป็นเด็ก เราจะใช้สมองส่วนหนึ่ง พอโตขึ้นมาเราจะไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นแล้ว เวลามองภาพเราจะมองแล้วอธิบายออกมาเป็นภาษาไทยโดยไม่ได้คิดว่าประโยคต้องมีประธาน กริยา กรรม มันเป็นการพูดการสื่อความเข้าใจนั้นออกมาโดยธรรมชาติ ด้วยความที่ยูเป็น Native Speaker ของทั้งสองภาษา มันเลยไม่เหนื่อยเท่ากับคนอื่นๆ แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษยูจะเหนื่อย เพราะยูต้องแปลในหัวก่อนแล้วค่อยพูด ซึ่งมันจะใช้เวลา ไม่เป็นธรรมชาติแบบภาษาเกาหลีและไทย

 

ส่วนการแปลบนเวที เวลาพิธีกรเริ่มพูด ถ้าเขาเริ่มที่ 0.0 ยูก็ต้องเริ่มที่ 0.5 ไม่อย่างนั้นจะไม่ทัน ยูต้องแปลพร้อมกัน แล้วเดาประโยคว่าเขาจะถามประมาณไหน ถ้าไม่ใช่ก็ต้องรีบแก้ใหม่ ส่วนใหญ่จะบอกกับพิธีกรไว้ก่อนว่าขอให้พูดช้าหน่อย แต่เอาจริงๆ มันก็ยาก เพราะเขาไม่มีโมเมนต์มาสนใจล่ามหรอก เขาต้องสนใจคนดูคนฟังมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องอยู่ที่เซนส์เราแล้วล่ะว่าจะแปลได้จบประโยคไวขนาดไหน

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

คุณทำงานล่ามอยู่พักใหญ่ แล้วหายไปทำงานประจำ มีครอบครัวที่น่ารัก อะไรคือสิ่งที่ทำให้กลับมาทำงานล่ามศิลปินเกาหลีอีกครั้ง

มันมีความเข้าใจผิดด้วยครับ เพราะผู้จัดหลายๆ ท่าน คิดว่าหลังจากที่ยูออกจากวงการ แต่งงาน มีลูกแล้ว ยูไม่รับงานล่ามศิลปินแล้ว รวมถึงตัวยูเองมัวแต่ยุ่งกับการทำงานประจำและอยู่กับครอบครัวจนลืมงานด้านนี้ไปเลย มีรับงานล่ามศิลปินประปรายปีละงาน เพราะผู้จัดขอให้ช่วย แต่ไม่เคยคิดถึงหรือติดตาม เพราะลูกยังเล็ก สมาธิอยู่กับงานประจำและการอยู่กับครอบครัว 

 

จนช่วงปลายปี 2017 มีการติดต่อจากผู้จัดแบบเร่งด่วนเพราะเกิดปัญหา จึงได้ไปทำแบบฉุกละหุก พอได้ทำ ตอนนั้นลูกก็เริ่มโตขึ้น มันทำให้เรามีพื้นที่ในการสัมผัสถึงความทรงจำดีๆ ต่างๆ ที่เคยมีสมัยตอนที่เป็นล่ามยุคแรก รวมถึงยุคดีเจ Seed ซึ่งเป็นในอีกมุมมองหนึ่งหลังจากเราเติบโตขึ้น พอเห็นความตั้งใจของแฟนๆ ศิลปิน บรรยากาศ และพลังบวกที่อยู่ในงาน นั่นคือเหตุผลที่ตัดสินใจรับงานด้านนี้ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

 

งานล่ามศิลปินมีเสน่ห์อย่างไร มันให้อะไรกับคุณบ้าง

สำหรับผม การทำงานนี้เหมือนเป็นการ Healing หลังจากทำงานเครียดๆ ตลอดสัปดาห์ ซึ่งจริงๆ แต่ละคนจะมีวิธีเยียวยาแตกต่างกันไป บางคนไปสังสรรค์กับเพื่อน บางคนไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ ส่วนผมก็ทำงานเป็นล่ามศิลปินครับ (หัวเราะ) มันเป็นความรู้สึกที่ดี ยิ่งคนที่มีส่วนในงานนั้นๆ ทุกคนรู้สึกแฮปปี้เหมือนเรา ยิ่งทำให้เรารู้สึกดีครับ เหมือนอยู่กลางเมืองที่เต็มไปด้วยควันพิษแล้วเราได้เข้าป่าไปสูดอากาศบริสุทธิ์ประมาณนั้นเลยครับ

 

ทุกวันนี้ยูทำงานประจำเป็นผู้จัดการ ดูด้านการตลาด วิเคราะห์ต้นทุนให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเกาหลียี่ห้อหนึ่ง เหมือนชีวิตมีหน้ากากสามใบ อยู่ที่บริษัทหน้าหนึ่ง อยู่กับลูกเมียอีกหน้าหนึ่ง และเวลามาเป็นล่ามศิลปินก็อีกหน้าหนึ่ง ถ้าถามว่าหน้ากากไหนใกล้เคียงตัวยูที่สุด ก็คงเป็นงานล่ามบนเวทีนะครับ จริงๆ ผมเป็นคนสนุกสนานเฮฮา แต่เวลาทำงานในองค์กรที่เราเป็นผู้นำก็ต้องกดไว้บ้าง เพื่อแสดงความเป็นผู้นำออกมา

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

แต่ละครั้งที่รับงาน ทำการบ้านอย่างไรบ้าง

ผมทำการบ้านเยอะมากครับ สมมติว่ามีโชว์ทุกสัปดาห์ พอหมดงานหนึ่งแล้ว วันรุ่งขึ้นผมก็จะเริ่มแล้ว คือทำตัวเป็นแฟนคลับของศิลปินคนนั้นเลย จะเริ่มหาข้อมูลว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วตลอดสัปดาห์นั้นยูจะไม่ฟังเพลงคนอื่นเลย หรือถ้าเป็นนักแสดงก็จะดูคลิปไฮไลต์ของงานเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเวิล์ดทัวร์ เอเชียทัวร์ เราก็จะตามไปดูคลิปของประเทศอื่นๆ ว่าก่อนหน้านี้เขาไปที่ไหนมาบ้าง ซึ่งคลิปเหล่านี้จะมีช่วงที่เขาพูดยาวๆ เราก็จะฟัง ดูลักษณะการพูด ดูว่าแต่ละคนมีคาแรกเตอร์อย่างไร นิสัยอย่างไร แล้วเวลาได้มาเจอเขา เราจะรู้สึกเหมือนรู้จักเขามานาน เราจะอินกับเขา เวลาที่เขาพูดเราจะพอรู้แล้ว อารมณ์เหมือนเพื่อนกันที่เดาไว้ว่าจะตอบประมาณไหน เราจะเดาทางเขาง่ายขึ้น

 

แล้วต้องดูว่าเวลาศิลปินพูด เขาจะมีอารมณ์พูดปกติ พูดเล่นกับเพื่อน หรือเวลาที่เขาตกใจ เราก็จะพยายามถ่ายทอดโมเมนต์นั้น เราจะพยายามเลียนเสียงเขา ถ้าเกิดคนไหนพูดเรียบๆ หน่อย เราก็ต้องลดโทนลงมาให้เรียบๆ แต่ถ้าคนไหนดี๊ด๊าหน่อย เราก็ดี๊ด๊าไปกับเขา ต้องพยายามให้คนฟังไม่ขัดหู อย่างมีครั้งหนึ่งที่ยูไปเป็นล่ามในคอนเสิร์ต TWICE (TWICE WORLD TOUR 2019 ‘TWICELIGHTS’ IN BANGKOK) ตอนนั้นเครียดมากที่ต้องแปลเสียงผู้หญิง ก่อนหน้านั้นผมก็ลองอัดเสียงตัวเองแล้วฟังดูว่ามันพอได้ไหม น่าเกลียดไหม เยอะเกินไปไหม 

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

ด้วยความที่วัฒนธรรมแตกต่าง มีอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างเช่น มุกที่ไม่ควรเล่น คำถามที่ไม่ควรละลาบละล้วง หรือการโดนเนื้อตัวตัวศิลปิน

ถ้าเป็นศิลปินหญิงต้องทิ้งระยะห่างกับเขา ถ้าเป็นไปได้ยูจะขอสองไมค์ ไมค์หนึ่งไว้พูดให้คนดูฟัง ส่วนอีกไมค์จะไว้พูดให้ศิลปินฟัง ซึ่งปกติถ้าเป็นศิลปินผู้ชายยูจะไปยืนพูดใกล้ๆ เขาเลย 

 

ยูสัมผัสมาทั้งวงการบันเทิงไทยและวงการบันเทิงเกาหลี ซึ่งคนไทยอาจจะไม่เข้าใจเรื่องการเข้าใกล้ตัวศิลปินเท่าไร ส่วนยูเองก็ไม่อยากดิสเครดิตวงการบันเทิงเกาหลี แต่คนเกาหลีจะมีการแสดงออกที่แรงกว่าคนไทย อย่างที่ยูเคยคุยกับศิลปินเกาหลีบางคน เขาจะบอกเลยว่าแฟนคลับบางคนดึงเส้นผมเขาเพื่อเก็บไปเป็นที่ระลึกด้วย ที่เกาหลีถึงกับมีชื่อเรียกแฟนคลับหัวรุนแรงว่า ซาแซง นั่นเลยทำให้ต้นสังกัดต้องออกกฎเพื่อป้องกันไม่ให้ศิลปินโดนทำร้าย เพราะถ้าศิลปินโดนทำร้ายเขาจะโทษค่ายหรือต้นสังกัดแล้วว่าไม่ดูแล คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่มีแฮชแท็กขึ้นมาเลยว่าค่ายไหนต้องปกป้องใครให้มากกว่านี้

 

ยูว่าตัวศิลปินเขาไม่ได้ต้องการวางตัวให้ห่างหรือวางตัวให้ดูเทพอะไรแบบนั้น เพียงแค่มันเป็นวัฒนธรรมของวงการบันเทิงเกาหลีมากกว่า สำหรับยู เรารู้ว่าเราควรใกล้ชิดกับเขาในระยะเท่าไรที่พอเหมาะ คือหน้าเวทีกับแฟนๆ เขาจะมีกฎของเขาอีกกฎหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ร่วมงานกันโดยตรงอยู่หลังเวที อย่างพิธีกรหรือล่าม ก็ถือว่าได้ใกล้ชิดในระดับหนึ่ง 

 

ด้วยความฉับไวของการทำงาน ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรบ้าง อยากให้เล่าประสบการณ์ให้ฟังสักหน่อย

ยูคิดว่าวัฒนธรรมเกาหลีกับไทยแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะมุกใต้สะดือ การเคารพผู้ใหญ่ ศาสนา ถ้าเป็นเชิงความแตกต่างทางวัฒนธรรมมันจะเป็นความยากในการแปลมากกว่า 

 

คอนเสิร์ต TWICE ที่มีนิชคุณมาเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ต TWICE ก็แนะนำว่า ‘Prince of Thailand’ แต่เราแปลเป็นไทยไม่ได้ เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การพูดถึงเบื้องบนเป็นสิ่งที่ไม่ควร ตอนนั้นยูก็อ้ำอึ้ง ทุกคนก็อ้ำอึ้งกันหมด จนศิลปินเขาย้ำประโยคเดิมอีก ยูก็คิดแล้วว่าจะแปลหรือไม่แปลดี ถ้าไม่แปลก็เหมือนเป็นการหักหน้าศิลปิน ก็เลยจงใจแปลให้ตะกุกตะกัก ให้รู้ว่าเราไม่สะดวกกับประโยคนี้ ตัวศิลปินก็รู้แล้ว เลยเปลี่ยนประโยคใหม่เป็น “พี่นิชคุณมาค่ะ” คนก็เฮกันทั้งฮอลล์ ก็เลยกลายเป็นโมเมนต์ของคอนเสิร์ตที่น่าจดจำ

 

ส่วนงานแฟนมีตติ้งกับจินฮยอก (Lee Jin Hyuk Fan Meeting ‘JIN HYUK: HAE [T.Y.F.L]’ in Thailand) มีแมลงวันมาตอมบนเวที เราก็ปัดด้วยท่าทางสนุกสนานเฮฮา ให้มันเป็นโมเมนต์สนุกๆ ให้มันสดๆ ซึ่งถ้าเราอึ้ง นิ่ง หรือเครียด ผลอาจจะออกมาอีกรูปแบบได้ครับ

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

โลกยุคนี้รวดเร็ว เรื่องราวก็พร้อมดราม่าตลอดเวลา คุณรับมือกับสิ่งผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น หรือกระทั่งคอมเมนต์แง่ลบต่างๆ อย่างไร 

ผมตั้งใจตามอ่านคอมเมนต์ต่างๆ มากเลยครับ คือยูสมัครทวิตเตอร์ไว้ตั้งแต่ปี 2010 แต่ไม่เคยใช้เลย จนมาทำงานยูซอนโฮในปี 2017 (YOO SEON HO FANMEETING IN BANGKOK: Seonho’s Time) ก็เริ่มรู้แล้วว่าแฟนๆ เขาจะไปคุยกันในทวิตเตอร์มากที่สุด ด้วยความที่ยูกลับมาเป็นล่ามให้กับงานยูซอนโฮ ก็รู้สึกเลยว่าก่อนหน้านี้ ทั้งตอนเป็นดีเจ Seed หรือทำงานเป็นล่าม ความคิดเรายังเด็กมาก ก็คือเราทำงาน ทำให้มันสนุก ไม่พลาด แค่นี้จบแล้ว ไม่เคยสนใจแฟนคลับ 

 

แต่พอได้ไปทำงานเป็นล่ามให้กับยูซอนโฮแล้ว โมเมนต์นั้นยูเห็นหน้าคนดูแต่ละคน เห็นทั้งน้องๆ ทั้งพี่ๆ ผู้ใหญ่ ซึ่งทุกคนแฮปปี้มาก ยูก็เริ่มไปไล่ดูตามแฮชแท็ก มีบางคนบอกว่าเดินทางมาจากต่างจังหวัด บางคนเดินทางมาจากต่างประเทศก็มี ลงทุนค่าเดินทาง ที่พัก อาหารขนาดนั้น เขาย่อมต้องอยากได้ความสุขที่สมบูรณ์แบบที่สุด ตอนนั้นยูรู้สึกผิดที่ทำงานโดยไม่ได้คำนึงถึงแฟนคลับเลย ก็เริ่มเข้าใจประโยคที่ศิลปินเคยพูดว่า “เพราะมีแฟนคลับถึงมีเขาทุกวันนี้” เริ่มเข้าใจแล้วว่าหมายถึงอะไร 

 

ยูก็เริ่มตามอ่านคอมเมนต์แล้วมองหาไอเดียเพื่อนำมาใช้กับงานให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ว่ายูอยากดังหรืออะไร ยูมีงานประจำอยู่แล้ว ยูมาทำงานนี้เพราะความสนุก เหมือนมาปล่อยพลัง มาปล่อยความเครียด อาจจะเพราะยูมีลูกด้วยมั้ง เรารักเขาโดยไม่มีเหตุผล แค่ยูได้มองหน้าเขาก็มีความสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้มันคงไม่ต่างกัน ยูว่าอย่างนั้นนะครับ การที่เราได้เปย์เพื่อเขาแล้วเราได้ความสุขกลับมา เราเข้าใจแล้ว แค่นั้นเองเลยครับ เหมือนเราซื้อของเล่นให้ลูก แค่ได้เห็นเขามีความสุขก็พอแล้ว 

 

นั่นคือสาเหตุที่ยูเริ่มเล่นทวิตเตอร์ แล้วดูว่าแฟนๆ เขาพูดถึงอะไรกัน ส่วนอีกเหตุผลก็คือเวลาทำงาน อย่างที่บอกว่ายูจะทำตัวเป็นแฟนคลับ แล้ววิธีที่เร็วที่สุดคือการดูว่าแฟนคลับศิลปินเขาพูดถึงอะไร ยูจะตามอ่านแฮชแท็กของศิลปินคนนั้นทั้งฝั่งไทยและเกาหลี ซึ่งจะเห็นความแตกต่างว่าแต่ละประเทศเขาจะพูดถึงศิลปินอย่างไร แล้วเราก็นำมาใช้ 

 

คอมเมนต์แง่ลบคุณทำอย่างไร

โอ้โห มีเยอะเลยครับ อันนี้ช่วยไม่ได้ ต้องทำใจอย่างเดียว (หัวเราะ) อย่างช่วงแรกๆ ที่เราทำงานมันยังไม่มีโซเชียล แล้วพอเรากลับมาทำอีกครั้งแล้วมันมีโซเชียล เราก็ทำตัวไม่ถูก ช่วงแรกๆ เราก็ไปไล่ตอบ ไปขอโทษเขา คือบางอย่างมีทั้งส่วนที่ยูผิดเองจริงๆ และมีส่วนที่มันไม่เกี่ยวกับเรา แต่พอยูทำงานมาได้สักครึ่งปีก็เริ่มรู้แล้วว่า ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดของตัวศิลปินหรือทีมงาน เราที่ทำหน้าที่บนเวทีก็ต้องรับผิดชอบแทน นั่นคือบทบาทของเรา นั่นคือสิ่งที่เขาจ้างเรามา เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปเวลาทำงานเราจะไม่นึกถึงเราคนเดียวแล้ว เราต้องนึกถึงเผื่อทีมงาน เราก็จะทำงานเป็นทีมเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก

 

ต้องบอกว่ากรณีนี้ที่เกาหลีแรงกว่าไทยเยอะ ไทยถือว่าเบามาก ผมคิดว่าแฟนคลับไทยสุภาพกว่าเยอะ ด้วยความที่เป็นประเทศที่ประนีประนอม ดังนั้นข้อผิดพลาดที่ผิดจริงเราก็ต้องรับฟังและนำไปปรับปรุงตัวเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องเตือนตัวเองเสมอว่าสาเหตุที่กลับเข้ามาทำงานด้านนี้เพราะอะไร

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

ในมุมของคนที่ใกล้ชิดศิลปินเกาหลีแทบทุกสัปดาห์ และค่อนข้างหลากหลาย ทั้งแนวดนตรี ดารา นักแสดง ตัวคุณเองกำลังอินกับวงอะไร หนังหรือซีรีส์เรื่องไหนเป็นพิเศษบ้างไหม

ผมไม่เป็นติ่งวงไหนเลยครับ แต่ตอนเด็กๆ จะชอบนักร้องชื่อ ซอแทจี (วง Seo Taiji and Boys) เขาเป็นคนเปลี่ยนวงการเพลงเกาหลีเลย เป็นคนที่ทำให้มีผู้จัดการส่วนตัววงแรก รวมถึงเรื่องลิขสิทธิ์ แฟนคลับ แฟนด้อม เป็นวงแรกเลยที่กล้าต่อรองกับสื่อต่างๆ สมัยก่อนเกาหลี ถ้าสื่อเรียกให้มาต้องมา ไม่อย่างนั้นจะโดนแบน แต่เขาเป็นวงแรกที่กล้าปฏิเสธสื่อ 

 

การทำงานเพลงเกาหลีแต่ก่อนไม่มีช่วงเบรก คือศิลปินทำงานเพลงต่อไปเลย แต่ซอแทจีเป็นคนที่ทำเพลงเอง ดังนั้นเขาต้องการเวลาเบรกเพื่อทำเพลง แล้วเขาเป็นคนแรกที่ประกาศยุติการทำงานอัลบั้ม มีการประกาศลงหนังสือพิมพ์เลยนะครับ Goodbye Stage นี่ก็เริ่มต้นมาจากคนนี้ล่ะครับ

 

ใครคือศิลปินเกาหลีที่คุณรอคอยได้ทำงานร่วมกับเขา

โซจีซบ แต่ไม่ใช่ผมรอคอยนะครับ ภรรยาผมที่รอคอย เขาเป็นแฟนคลับตัวยงมากๆ เวลายูไปทำงานแทบไม่เคยติดไปดูเลย แต่มีโซจีซบนี่ล่ะครับที่ขอไป ส่วนคนที่ผมรอคอยที่จะได้ทำงานด้วยที่สุดคือประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครับ

 

ยูคอนยอง

ยูคอนยอง

 

การเติบโตของกระแสเกาหลีในบ้านเรารุนแรงมาก คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร รวมถึงมองอนาคต Korean Wave ที่ตอนนี้กำลังมีอิทธิพลไม่เฉพาะในเอเชีย แต่ไปสู่ระดับโลก ทั้งดนตรี ซีรีส์ ภาพยนตร์ และวัฒนธรรม

คือจริงๆ ยูเติบโตมากับเจป๊อปด้วยซ้ำไป แต่พอมองอย่างเป็นกลางจะเห็นว่าเคป๊อปมันโดดเด่นขึ้นมาเร็ว อะไรที่ดังเร็วมันจะมีทั้งคนที่ชอบไปเลยกับคนที่เกลียดไปเลย นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีแอนตี้แฟนเยอะ ไม่เหมือนกับเจป๊อปที่วางรากฐานมายาวนานเป็นสิบๆ ปี ญี่ปุ่นหลังสงครามเขาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมเป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่ยุค 70-80 จนเข้ามาเมืองไทยถึงช่วงปี 2000 

 

ผมมองว่าวงการบันเทิงเกาหลี หรือ Korean Wave ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพียงแค่นำข้อดีข้อเด่นในวัฒนธรรมบันเทิงทั้งตะวันออกและตะวันตกมาผนวกกันแล้วกลั่นมันออกมา ผมเห็น Korean Wave แล้วคงคล้ายๆ iPhone นะครับ คือมันไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการนำสิ่งที่มีจากหลายๆ ที่มาจูนแต่งให้เป็นของตัวเองและดูดีขึ้น

 

และด้วยคอนเทนต์นี่แหละครับที่ทำให้เคป๊อปโดดเด่นขึ้นมาได้ ทั้งยังมีการพัฒนาคอนเทนต์อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกวันนี้คอนเทนต์มันไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวแล้วล่ะ มันอยู่ที่การยึดตลาดอนาคตได้เร็วและมากหรือเปล่า ยูมองว่ามันจะมีตลาดด้านสื่ออินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียจะโตขึ้นอีก ด้วยการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต VR, AI อะไรเหล่านี้ ซึ่งตลาดนี้มูลค่ามหาศาลยิ่งกว่าปัจจุบัน ก็ต้องดูว่าเคป๊อปเขาจะซึมและครองตลาดนั้นได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน จะเป็นผลนำไปสู่ความนิยมของเคป๊อปในอนาคต

 

ภาพ: THE STANDARD, ยูคอนยอง

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ติดตามอ่านเรื่องสนุกๆ ของยูคอนยองได้ที่ทวิตเตอร์ @gyyoo85
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X