บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งออกโรงเตือนระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เนื่องจากเหล่าผู้บริโภคในยุโรปส่วนใหญ่รู้สึกฝืนใจที่จะต้องใช้จ่ายเงินเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่แล้ว
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงที่คลายล็อกดาวน์ระลอกแรก บรรดาผู้บริโภคชาวยุโรปส่วนใหญ่ต่างออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างเพลิดเพลิน แต่ในช่วงเวลานี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างกังวลว่าตนเองอาจจะต้องอยู่กับการระบาดของโควิดนานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ทำให้เริ่มปรับทัศนคติและพฤติกรรมของตน และคิดเรื่องการใช้จ่ายอย่างประหยัดอดออมมากขึ้น
มาร์เชล อเล็กซานโดรวิช (Marchel Alexandrovich) นักเศรฐศาสตร์ชาวยุโรปประจำธนาคารเพื่อการลงทุน Jefferies กล่าวว่า เพราะการระบาดลากยาวมาร่วม 18 เดือนแล้ว และยังไม่มีสัญญาณยุติในเร็ววัน บวกกับการที่ผู้คนเริ่มปรับตัวคุ้นเคยกับการทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ส่วนใหญ่เริ่มเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายของตนเอง
ขณะเดียวกัน ด้าน พอล โอ’คอนเนอร์ (Paul O’Connor) หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์ผสม บริษัท Janus Henderson ในอังกฤษ กล่าวว่า เศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ผู้คนออกมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ไปช้อปปิ้ง หรือเข้ายิมออกกำลังกาย แต่บางภาคส่วนของธุรกิจก็มีแนวโน้มจะประสบปัญหาชะงักงัน เห็นได้จากผลสำรวจของ Ipsos MORI ที่ระบุว่า 40% ของผู้บริโภคชาวอังกฤษรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และมากกว่า 40% รู้สึกไม่สบายใจที่จะเข้าร่วมงานอีเวนต์ใหญ่ๆ อย่างกีฬาและดนตรี หรือแม้กระทั่งกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ รอบสำนักงาน เช่น ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่
ทั้งนี้ความลังเลส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคยินยอมควักเงินออกมาใช้จ่ายเป็นเพราะนโยบายของภาครัฐกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด โดยหลายประเทศในยุโรป ประชาชนไม่อยากออกนอกบ้านเพื่อทำกิจกรรมหรือใช้จ่าย เพราะต่อให้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่หากบังเอิญไปอยู่ในกิจกรรมที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเข้าร่วมก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวทันที อย่างในอังกฤษก็ต้องกักตัว 10 วัน เป็นต้น ขณะที่โควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดในขณะนี้เป็นเชื้อที่ติดได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้คนส่วนใหญ่เลี่ยงออกจากบ้านและงดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายรายยังคงเชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนในช่วง 2 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ เพียงแต่เป็นมุมมองทางบวกที่พ่วงด้วยการเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง: