×

กูรูแนะได้เวลาล็อกกำไรขาย ‘หุ้นสหรัฐฯ’ โยกลงทุน ‘ยุโรป-เอเชีย’

01.10.2021
  • LOADING...
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มพักฐาน หลังดัชนีพุ่ง All Time High ต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยดัชนี Dow Jones เพิ่มขึ้นกว่า 12%, S&P 500 ขึ้นมากว่า 15% และ Nasdaq พุ่งราว 14%
  • การพักฐานของหุ้นสหรัฐฯ เกิดจากความกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูง บอนด์ยีลด์วิ่งแรง ห่วงการขยับเพดานหนี้ 
  • ผลสำรวจนักลงทุนมืออาชีพจากทั่วโลก เชื่อตลาดหุ้นจะเกิดการพักฐานแรงในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ 
  • นักบริหารเงินในประเทศไทยแนะนำว่า หากมีกำไรควรเริ่มหาจังหวะขายเพื่อล็อกผลตอบแทน หลังมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ เริ่มสูง กำไรบริษัทจดทะเบียนอาจวิ่งตามไม่ทัน
  • ขณะที่ผู้จัดการกองทุนบางรายมีความเห็นแตกต่าง โดยมองว่ามูลค่าหุ้นสหรัฐฯ แม้จะสูงแต่ไม่ได้แพงเกินไป พร้อมประเมินปีหน้าปัญหาเงินเฟ้อเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มพักฐานในสัปดาห์นี้ หลังจากปรับตัวขึ้นร้อนแรงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จากสารพัดปัจจัยกดดันทั้งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่พุ่งแรง ประกอบกับยังมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันการลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลอดปีที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ให้ผลตอบแทนดี สะท้อนผ่านดัชนีหุ้นที่สามารถทำ All Time High ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ดัชนี Dow Jones ปรับขึ้นมาแล้วราว 12% ดัชนี S&P 500 ขึ้นมาราว 15.8% และดัชนี Nasdaq ขึ้นมาราว 14.6%    

 

ความร้อนแรงของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น หรือ ค่าP/E Ratio เกินค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยปัจจุบัน ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones มีค่า P/E อยู่ที่ 23 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 21.5 เท่า เช่นเดียวกับดัชนี S&P 500 ที่ค่า P/E พุ่งขึ้นแตะ 31 เท่า จากค่าเฉลี่ย 25 เท่า และดัชนี Nasdaq มีค่า P/E อยู่ที่ 36 เท่า สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยที่ 30 เท่าเช่นกัน

 

ด้วยตัวเลข P/E ที่สูงลิ่ว ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกมองว่า ‘เริ่มแพง’ ประกอบกับในเวลานี้ยังมีสารพัดปัจจัยเข้ามากดดัน จึงปฏิเสธไม่ได้ที่นักลงทุนจะตั้งคำถามว่า ได้เวลาขายหุ้นสหรัฐฯ ออกมาหรือยัง

 

ก่อนหน้านี้ Deutsche Bank ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของนักลงทุนมืออาชีพกว่า 550 รายทั่วโลก ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกเดือน พบว่า 58% ของนักลงทุนต่างคาดการณ์ว่าตลาดจะมีการปรับฐานราว 5-10% ในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่ 1 ใน 10 ของนักลงทุนที่ร่วมตอบแบบสอบถามมองว่าจะมีการปรับฐานมากกว่า 10% และมีเพียง 31% เท่านั้นที่เชื่อว่าตลาดจะไม่มีการปรับฐานใดๆ เลย

 

สำหรับมุมมองของนักบริหารเงินลงทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนในประเทศไทย มีความเห็นที่คล้ายกันว่า นักลงทุนที่มีกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ควรเริ่มทยอยขายเพื่อล็อกผลตอบแทนออกมาบ้าง เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเวลานี้เริ่มแพง และมีแนวโน้มว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจวิ่งตามไม่ทันราคา

 

ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนะนำให้นักลงทุนทยอยขายเพื่อทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ออกมา เพราะหากพิจารณาในด้านมูลค่าถือว่าราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปมาก และอยู่ในระดับแพงมากแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นแห่งอื่นๆ ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เติบโตไม่ทัน เมื่อเปรียบเทียบกับการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและมากเกินไปของตลาด 

 

“ผมมองว่าหลังหมดมาตรการแจกเงินที่รัฐบาลนำมาใช้เยียวยาประชาชนในช่วงโควิด คนก็จะต้องออกมาทำงาน ภาคการผลิตก็จะเดินหน้าต่อไป การใช้จ่ายก็ยังคงจะมีอยู่ ยิ่งเป็นช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาส ธุรกิจค้าปลีกจะได้ประโยชน์ หุ้นค้าปลีกก็จะคึกคัก ตลาดหุ้นจะยังร้อนแรง แต่จังหวะนี้ถือเป็นจังหวะดีในการทยอยขายทำกำไร” 

 

นอกจากนี้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนซึ่งไม่สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดก็ถือเป็นความเสี่ยง รวมถึงความเสี่ยงจากนโยบายจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อพิจารณาโอกาสในการทำกำไรเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นแห่งอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่น แล้วจะเห็นว่าทั้งสองตลาดมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า

 

“ถ้าถามผมว่าทำไมแนะนำให้ขายหุ้นสหรัฐฯ แล้วไปซื้อหุ้นยุโรปแทน ก็เพราะ Value ถูกกว่า ค่า P/E ถูกกว่า มี Book Value ถูกกว่า การฉีดวัคซีนก็ทำได้มากกว่า จึงแนะนำยุโรป ส่วนญี่ปุ่นที่แนะนำเพราะจะเป็นเหมือนสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วที่เร่งทยอยฉีดวัคซีน ตอนนี้ญี่ปุ่นฉีดได้ 60% แล้ว ก็จะต้องมีการเปิดเมืองเช่นกัน”

 

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ล่าสุดของ Credit Suisse Securities เมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา สนับสนุนว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นได้แบบจำกัด โดยประเมินว่าระดับดัชนี S&P 500 ในปีหน้าจะอยู่ที่ 5,000 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน สะท้อนว่าโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก หรือมี Upside ได้อีกประมาณ 10% 

 

ขณะที่ UBS Securities มองว่าในปีนี้ ดัชนี S&P 500 จะไตร่ระดับขึ้นได้สูงสุดที่ 4,650 จุด ถือว่ามี Upside อีกไม่มาก เนื่องจากการจัดการปัญหาแพร่ระบาดของโรคโควิดรอบล่าสุดนี้ล่าช้ากว่าที่คาด และประเมินว่าในปีหน้าดัชนีจะอยู่ที่ 5,000 จุดเช่นกัน

 

ส่วน Goldman Sacks มีมุมมองเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาประเมินว่า ดัชนี S&P 500 ในปีหน้าจะยืนที่ระดับ 4,700 จุด สะท้อนว่าตลาดเหลือ Upside จำกัด เพียง 5-6% จากปัจจุบัน

 

ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head Private Banking Group  ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จนถึงปลายปีนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปรับตัวขาขึ้น หรือ Sideway Up แต่เป็นการปรับตัวขึ้นแบบจำกัด ประมาณ 5% จากการทยอยปรับลด QE ลง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดังนั้นทีมบริหารเงินลูกค้าในส่วนของ Private Banking จึงได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุน (Position) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลง

 

“ตลาดสหรัฐฯ ยังถือเป็น 1 ในตลาดหลักของเรา แต่เราลด Position ลงตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ตอนนี้เรามองไปที่ยุโรปและกลุ่มเอเซีย เรามองว่าแนวโน้มดอลลาร์ยังน่าจะกลับไปอ่อนค่า เอเชียจะได้ประโยชน์ และเอเซียน่าจะเริ่มเปิดเมืองได้ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากที่เร่งฉีดวัคซีนได้มากกว่า 50% ถ้าเทียบกันแล้วก็เหมือนสหรัฐฯ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา กิจการ กิจกรรมจะกลับมาจัดอีกครั้ง เวลานี้น่าจะเป็นเวลาเข้าไปเก็บ และลูกค้าควรมองยาวไปใน 3 ปีข้างหน้า”

 

ด้าน สุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน(บลจ.)เอไอเอ กล่าวว่า เอไอเอยังมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าตลาดตราสารหนี้ และมองว่าในระยะยาว 10 ข้างหน้า ตลาดกำลังพัฒนาจะเป็นตลาดที่เติบโตแรง และมีโอกาสสร้างผลกำไรได้มากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ซึ่งราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

 

นอกจากนี้ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีเม็ดเงินของนักลงทุนที่มองการลงทุนแบบเฉียบคมในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Smart Money เริ่มเปลี่ยนตลาดและทยอยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเอเซีย เพราะประเมินว่าจะมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต

 

“ตั้งแต่ปี 2556 ตลาดหุ้นกำลังพัฒนาถูกแรงขายออกมาอย่างหนัก ผมคิดว่าต่างชาติน่าจะกลับมาที่ตลาดเหล่านี้ ทำให้ตลาดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือการกลายพันธ์ุของโรคโควิด และโอกาสที่จะเกิดการกลับมาระบาดใหม่และรุนแรงไปทั่วโลกจะมีอีกหรือไม่ หากเกิดขึ้นอีกก็จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หรือหยุดชะงักลง ก็จะกระทบตลาดหุ้น ส่วนปัญหาเงินเฟ้อที่คนกังวลว่าจะมีผลในระยะยาว ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ ค่อยๆ ดูดเงินกลับ ไม่ใช่การลดลงทันที ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”

 

ขณะที่ ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ อาร์ เอช บี (ประเทศไทย) ระบุว่า นักลงทุนกำลังจับตาท่าทีการทยอยลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และระยะเวลาที่แน่นอน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีผลให้เม็ดเงินทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นไปพักใน

สินทรัพย์ปลอดภัย โดยมองว่าในปีหน้าเมื่อสถานการณ์นิ่งเม็ดเงินเหล่านี้จะไหลออกจากสหรัฐฯ เพื่อกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเอเซีย เนื่องจากยังมีฐานที่ต่ำ และราคาหุ้นยังถูก เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย

 

รวมถึงตลาดหุ้นจีนที่คาดว่าการจัดระเบียนภายในประเทศจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์จีน และกรณีปัญหาของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ไม่สามารถชำระหนี้มูลค่ามหาศาลได้นั้น น่าจะใช้เวลาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน เช่น การพักชำระหนี้ และการยืดชำระหนี้ออกไปอีก 1-2 ปี

 

อย่างไรก็ตามในมุมมองของผู้จัดการกองทุนบางค่ายมีความเห็นที่แตกต่าง โดยมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจลงทุน จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

 

โดย สุทธิโรจน์ สิทธิวัฒนานนท์ หัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุนต่างประเทศ บลจ.วรรณ กล่าวว่า ในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจลงทุนอยู่ เนื่องจากมีบริษัทที่ดี มีขนาดใหญ่จากทั่วโลกจดทะเบียนอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อนั้นคาดว่าจะทรงตัวในระดับ 4-5% จนถึงปีหน้า จากนั้นจะกลับสู่งภาวะปกติเฉลี่ยที่ 2% ในปี 2566 

 

“ผมมองว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ มีบริษัทดีๆ จากทั่วโลกจดทะเบียนอยู่ ถึงราคาหุ้นจะแพง ค่า P/E ปีหน้านักวิเคราะห์มองว่าจะอยู่ที่ 20 เท่า จากค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นที่ 16-17 เท่า ก็ไม่ได้ถือว่าแพงจนเวอร์อะไร ส่วน Nasdaq ค่า P/E 26 เท่า จากค่าเฉลี่ย 23 เท่า ถือว่าสูงแต่ก็ยังรับได้ ผมยังไม่แนะนำให้ขายทำกำไร แต่มองว่าเป็นจังหวะ เพราะเมื่อมีมาตรการทยอยลด QE ออกมา และตามด้วย มาตรการขึ้นภาษีตามนโยบายของโจ ไบเดน ตลาดหุ้นน่าจะเกิด Collection บ้างก็น่าจะเป็นโอกาสเข้าไปสะสมไว้อีก 1-2 ปีข้างหน้า ผมว่าตลาดสหรัฐฯ ไม่มีอะไรน่ากังวล” สุทธิโรจน์กล่าว

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising