×

กูรูแนะรัฐ-ธปท. หารือแนวทางบริหารจัดการ ‘เอ็นพีแอล’ หวั่นฉุดเศรษฐกิจซึมลึก

19.11.2020
  • LOADING...
กูรูแนะรัฐ-ธปท. หารือแนวทางบริหารจัดการ ‘เอ็นพีแอล’ หวั่นฉุดเศรษฐกิจซึมลึก

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน อยู่ในจุดที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเริ่มพิจารณาว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป จะให้ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการเอง หรือรัฐจะเข้ามาช่วยจัดการ และจะจัดอย่างไร ผ่านใคร 

 

วิธีการบริหารจัดการในปัจจุบัน คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งต้องถามว่าเพียงพอหรือไม่ หรือ ธปท. ควรมีบทบาทมากกว่านี้ ควรมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยหรือไม่ หรือต้องตั้งบริษัทหรือหน่วยงานเข้ามาจัดการ

 

“ผมเองก็ไม่มีคำตอบ แต่รัฐบาลควรเริ่มคิดได้แล้วว่า หนี้เสียก้อนนี้จัดการอย่างไร หากไม่บริหารจัดการอาจจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า”

 

เขาอธิบายเพิ่มว่า เมื่อเกิดหนี้เสีย หรือสินทรัพย์มีปัญหา สิ่งที่ตามมาคือไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการสินทรัพย์นั้นๆ กันแน่ ระหว่างเจ้าหนี้กับเจ้าของสินทรัพย์ พอไม่สามารถจัดการได้ ศักยภาพหรือประสิทธิภาพของสินทรัพย์นั้นๆ ก็จะไม่ถูกใช้งาน ทำให้ไม่เกิด Productivity จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวไม่ได้ หรือหดตัวลึกลงไปอีก 

 

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปถึงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย รัฐบาลในตอนนั้นตัดสินใจขายหนี้เสียออกมา หลังจากพิจารณาแล้วว่าหากรัฐบาลพยุงไว้โดยการตั้งองค์กรบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่มาดูแล จะทำให้เกิดความล่าช้าและการบริหารที่ขาดคุณภาพ 

 

ข้อดีของการตัดสินใจขายหนี้เสีย ก็คือสินทรัพย์เหล่านั้นกลับคืนสู่ตลาด บางสินทรัพย์สามารถกลับไปสร้าง Productivityได้ แต่ข้อเสียก็คือ เกิดความเสียหายอย่างมาก 

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นเรียกว่า Dilemma หรือสภาวะที่ต้องเลือก เมื่อเลือกทางหนึ่งแล้วเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าอีกทางเลือกผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้รัฐบาลกำลังต้องเลือกในโจทย์ที่ยากกว่าเมื่อปี 2540” 

 

เวลาเกิดหนี้เสีย มันจะอยู่กับที่ โรงงานผลิตไม่ได้ หาเวิร์กกิ้งไม่ได้ ถ้ามันเป็นจุดเล็กๆ กลไลก็พอรับมือได้ แต่ถ้าเป็นจุดใหญ่ กลไกอาจรับมือได้ไม่สมบูรณ์

 

บรรยง กล่าวเพิ่มว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ส่วนตัวประเมินว่าเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดเอาไว้ โดยก่อนหน้านี้ประเมินว่า จีดีพีไทยน่าจะหดตัว 10% แต่เมื่อเห็นตัวเลขล่าสุด คิดว่าทั้งปีน่าจะหดตัว 8% และจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่จะฟื้นตัวได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักประเทศ ซึ่งหากอ้างอิงจากการคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือ จะพบว่าภาคการท่องเที่ยวถูกประเมินว่าน่าจะใช้เวลา 3 ปีในการฟื้นตัว หรือในปี 2024 

 

“แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส มีความเชื่อหนึ่งบอกว่า Don’t waste a good crisis. ไม่ว่าวิกฤตอะไรก็ตาม ถ้าฉลาดพอก็ทำให้เป็นโอกาสได้ ส่วนตัวมองว่าตอนนี้เป็นโอกาสที่จะยกระดับการท่องเที่ยวของไทย” 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising