×

กูรูย้ำ ผู้ลงทุน ‘บิตคอยน์’ ต้องรับความเสี่ยงได้สูง แนะใช้เงินเย็นลงทุน

โดย THE STANDARD TEAM
12.01.2021
  • LOADING...
กูรูย้ำ ผู้ลงทุน ‘บิตคอยน์’ ต้องรับความเสี่ยงได้สูง แนะใช้เงินเย็นลงทุน

การเคลื่อนไหวของบิตคอยน์ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นร้อนแรงและผันผวนอย่างหนัก โดยราคาบิตคอยน์เริ่มเป็นสัญญาณขาขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 ซึ่งช่วงนั้นเคลื่อนไหวในระดับ 10,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ ก่อนจะขึ้นมาทำจุดสูงสุดในรอบนี้ที่ระดับ 42,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2654 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 320% ก่อนที่ราคาจะร่วงลงอย่างหนักมาอยู่ที่บริเวณ 35,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ภายในวันเดียว

 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่ราคาบิตคอยน์ผันผวนรุนแรง เพราะสินทรัพย์ที่มีคนลงทุนไม่ได้มากนัก การเคลื่อนไหวของราคามักผันผวนตาม แต่ถ้าในอนาคตจำนวนผู้ลงทุนในบิตคอยน์​เพิ่มขึ้น ความผันผวนก็จะลดลงตามไปด้วย

 

“ตลาดบิตคอยน์เวลานี้ ถ้าเปรียบก็อาจยังเหมือนกับสระว่ายน้ำ เมื่อมีคนตัวใหญ่กระโดดลงมาในสระย่อมสร้างแรงกระเพื่อมของน้ำเป็นธรรมดา แต่ถ้าขนาดของสระใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นมหาสมุทร เมื่อคนตัวใหญ่รายเดิมกระโดดลงไป แรงกระเพื่อมก็ไม่มากแล้ว”

 

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของบิตคอยน์ในช่วงนี้ที่เคลื่อนไหวต่อวันในระดับ 25% อาจดูเหมือนเยอะ แต่ถ้าเทียบกับอดีตถือว่าลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว เพราะในอดีตเคยขึ้นลงต่อวันถึง 100% 

 

จิรายุสกล่าวว่าเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ราคาบิตคอยน์พุ่งจากระดับ 650 ดอลลาร์เป็น 25,000 ดอลลาร์ ขณะนั้นคนส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นฟองสบู่ โดยยอดซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั่วโลกช่วงเวลานั้นอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 10 เท่าตัวจากเมื่อ 4 ปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าจากสระว่ายน้ำเริ่มกลายมาเป็นแม่น้ำ แม้จะยังไม่ใช่มหาสมุทร แต่ความผันผวนก็ลดลงจากอดีตมาก

 

นอกจากนี้จิรายุสยังมองว่าการที่ราคาบิตคอยน์เริ่มพักฐานลงมาซื้อขายในระดับ 35,000 ดอลลาร์ เทียบกับระดับสูงสุดรอบใหม่ที่ราวๆ 42,000 ดอลลาร์ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะก่อนหน้านี้ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง และขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 โดยที่ยังไม่มีการพักฐานเลย

 

เขากล่าวด้วยว่าการปรับขึ้นอย่างร้อนแรงของบิตคอยน์ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าย้อนดูสถิติการเคลื่อนไหวของบิตคอยน์พบว่าราคามักปรับขึ้นร้อนแรงทุกครั้งหลังเกิดปรากฏการณ์ ‘ฮาล์ฟวิ่ง’ หรือปรากฏการณ์ที่จำนวนบิตคอยน์ออกใหม่ในทุกๆ 10 นาทีจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง

 

“วงการนี้จะมีไซเคิล เรียกว่าบิตคอยน์ฮาล์ฟวิ่ง คือจำนวนบิตคอยน์ออกใหม่จะน้อยลงไปครึ่งหนึ่งทุกๆ 10 นาที ซึ่งในช่วง 6 เดือนหลังจากเกิดปรากฏการณ์นี้ ราคาบิตคอยน์มักปรับขึ้นร้อนแรงทุกครั้ง”

 

จิรายุสกล่าวว่าบิตคอยน์ฮาล์ฟวิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงกลางปี 2012 ตอนนั้นจำนวนบิตคอยน์ออกใหม่ลดลงจาก 50 บิตคอยน์ในทุกๆ 10 นาที เหลือ 25 บิตคอยน์ ซึ่งราคาบิตคอยน์หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,000 ดอลลาร์เป็น 11,000 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 10,000% แต่หลังจากนั้นราคาก็ปรับลดลงมาอยู่จุดต่ำสุดที่ราวๆ 250 ดอลลาร์ 

 

ครั้งที่สองเกิดขึ้นช่วงปี 2016 ทำให้จำนวนบิตคอยน์ออกใหม่ลดลงจาก 25 บิตคอยน์เหลือ 12.5 บิตคอยน์ในทุกๆ 10 นาที ขณะที่ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นจาก 650 ดอลลาร์มาอยู่ที่ 25,000 ดอลลาร์  ซึ่งในช่วงนี้คนไทยเริ่มรู้จักบิตคอยน์กันมากขึ้นแล้ว และหลังจากนั้นราคาก็ลดลงมาอยู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์

 

สำหรับครั้งล่าสุดที่เกิดบิตคอยน์ฮาล์ฟวิ่งคือในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งรอบนี้จำนวนบิตคอยน์ออกใหม่ลดลงจาก 12.5 บิตคอยน์เหลือ 6.25 บิตคอยน์ในทุกๆ 10 นาที ขณะที่ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นจากระดับ 3,000 ดอลลาร์มาอยู่ที่ระดับ 42,000 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดการปรับฐาน

 

จิรายุสกล่าวว่าการปรับฐานของบิตคอยน์รอบนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นจังหวะที่ควรเข้าลงทุนหรือยัง แต่ถ้าดูจากสถิติในอดีต การปรับฐานแต่ละครั้งจะไม่ลงไปลึกกว่าจุดต่ำสุดของรอบก่อนๆ 

 

อย่างไรก็ตาม หากคนที่สนใจอยากเข้าลงทุนในบิตคอยน์ แนะนำว่าเงินที่นำมาใช้ลงทุนควรเป็นเงินเย็นที่ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งนำมาใช้ในระยะเวลาสั้นๆ และสิ่งที่ไม่ควรทำคือการนำเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะข้างหน้ามาลงทุน 

 

“ข้อสำคัญคืออย่าใช้เงินร้อน อย่าขายบ้านขายรถมาซื้อบิตคอยน์ คนที่จะลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ก่อน ต้องไม่เอาเงินเก็บที่เสี่ยงไม่ได้มาลงทุน เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน หากเราเป็นนักลงทุนประเภทที่ขาดทุน 10% แล้วนอนไม่หลับ แบบนี้ก็ไม่แนะนำให้ลงทุนในบิตคอยน์” 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X