×

กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน

22.08.2022
  • LOADING...
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ข่าวคราวการเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเวียดนามของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยกำลังน่าดึงดูดใจลดลงหรือไม่ โลกกำลังทิ้งไทย หรือไทยก้าวไม่ทันโลก? 

 

ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ THE STANDARD WEALTH ได้สอบถามมุมมองความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมารวบรวมไว้ในบทความนี้

 

สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมีความแตกต่างจากโลกเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาที่ทั้งโลกถือเป็นห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ใครที่ผลิตได้ดีและมีต้นทุนต่ำก็จะถูกจับเข้าไปเป็นหนึ่งในข้อต่อของห่วงโซ่การผลิต แต่ในปัจจุบันปัญหาในด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ กำลังทำให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกแยกออกจากกันเป็นสองวง ทำให้การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะดึงดูดนักลงทุนเข้าไปลงทุนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องนี้ด้วย

 

“ต่อให้เราดี เราเก่ง แต่ถ้าเขาไม่ได้มองว่าเราเป็นพวกเป็นเพื่อนเขาก็ไม่มา การลงทุนในช่วงต่อจากนี้จะถูกยึดโยงกับเรื่อง Geopolitics การทำให้ตัวเองดูดีอย่างเดียวคงไม่พอ การวางยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ไทยต้องคิดต่อ การที่จะบอกว่าเราจะไม่เลือกข้างหรือเหยียบเรือสองแคม สุดท้ายจะกลายเป็นเราไม่ได้ขึ้นเรือเลยสักลำหรือเปล่า” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีของฝั่งตะวันตกหลายแห่งเลือกเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะห่วงโซ่การผลิตของเวียดนามมีความเชื่อมโยงกับเกาหลีใต้ซึ่งมีภาพว่าอยู่ทางฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามเองก็มีข้อพิพาทกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้

 

สมประวิณกล่าวว่า ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญของญี่ปุ่น แต่ในระยะข้างหน้าไทยอาจต้องคิดว่าต้องการจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ใดบ้าง เพื่อวางยุทธศาสตร์ในด้านความสัมพันธ์ เพราะลำพังการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนได้

 

“โดยส่วนตัวผมมองว่าเราอาจต้องวางยุทธศาสตร์ให้ตัวเองเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปภูมิภาคอาเซียน สร้าง Regional Value Chain มีเป้าหมายที่ชัดเจนไปเลยว่ามุ่งตลาดอาเซียน สหรัฐฯ และยุโรปอาจไม่ซื้อสินค้าเรา แต่ตลาดอาเซียนก็มีขนาดที่ใหญ่ ประชากร 600 ล้านคน มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น เวียดนามเขาไประดับโลกเพราะมี CPTPP แต่ทางรอดของไทยอาจต้องมุ่งที่อาเซียนด้วยบริบทที่แตกต่างกัน” สมประวิณกล่าว

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โดยหลักการพื้นฐานสิ่งที่นักลงทุนจะพิจารณาว่าจะเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศใด คือ ต้นทุน เช่น ค่าแรงและโอกาสในการทำรายได้ เช่น ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออก โดยหากเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามในปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะมีอันดับในด้านความง่ายในการทำธุรกิจที่ดีกว่า แต่ก็เสียเปรียบในด้านต้นทุนค่าแรง และข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA นอกจากนี้ หากมองไปข้างหน้า การเข้าสู่สังคมสูงวัยและอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลง

 

“มาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก ไทยพยายามผลักดัน EEC เวียดนามก็มีเขตอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ เหมือนกัน อินโดนีเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่คล้ายกับเวียดนาม หากมองไปในระยะปานกลางถึงยาว สองประเทศนี้จะไม่ได้ด้อยกว่าไทยในแง่ความน่าดึงดูด” เกวลินกล่าว

 

สำหรับประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เกวลินมองว่า เรื่องนี้อาจจะยังไม่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตต่างๆ ในระยะสั้น แต่สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในระยะยาวจะมีผลต่อการตัดสินใจอย่างแน่นอน ทำให้ไทยจะต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ในการวางยุทธศาสตร์ด้วย

 

“ไทยพยายามจะวางตัวเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง เราคงต้องพยายามรักษาสมดุลให้เข้าไปอยู่ได้ในวงผลิตของทั้งสองฝั่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าการที่เราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีเอง อำนาจในการเลือกจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา” เกวลินกล่าว

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) มองว่า การเข้าไปตั้งฐานผลิตในเวียดนามของบริษัทต่างชาติหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคลื่นการลงทุนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น พวกสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งเวียดนามเป็นห่วงโซ่การผลิตของเกาหลีมานานหลายปี ทำให้มีชิ้นส่วนต่างๆ ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมนี้ได้

 

“ไทยเราก็มีความแข็งแกร่งในด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พวกเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ในระยะต่อไปเราคงต้องมองหา Product Champion ตัวใหม่และสร้างห่วงโซ่ไว้รองรับ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ EV” นริศกล่าว

 

ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ นริศมองว่า โอกาสที่ห่วงโซ่การผลิตของโลกจะถูกแยกออกจากกันเป็นสองวงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคงเป็นไปได้ยาก เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างยังต้องพึ่งพากันและกันอยู่ โดยภาพที่ออกมาน่าจะเป็นในลักษณะการทยอยลดการพึ่งพากัน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้อาจเป็นโอกาสของไทยและอีกหลายๆ ประเทศที่จะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฉวยโอกาสได้เร็วกว่า

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X