จากกรณีที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เตรียมปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาทต่อ 1 ราย มาเหลือ 1 ล้านบาทต่อ 1 ราย อย่างไรก็ดี วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ยังคงครอบคลุมผู้ฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แผนในการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมีมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็เลื่อนกำหนดเวลามาเป็นระยะๆ ซึ่งก็ช่วยให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจึงมีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม อาจมีลูกค้าบางส่วนขยับไปลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นบ้าง ด้วยผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก และถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันจะค่อนข้างต่ำ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงฝากเงินไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งการปรับเปลี่ยนในส่วนนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
“ที่ผ่านมาเราพยายามให้ความรู้และทางเลือกในการหาแหล่งวางเงินมากขึ้น และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว ซึ่งก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างทั้งจากผู้ฝากรายใหญ่และรายเล็ก”
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองว่า การลดวงเงินคุ้มครองในครั้งนี้ผู้ฝากส่วนใหญ่ยังได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน เนื่องจากสัดส่วนคนรวยในไทยยังน้อยอยู่มาก เพราะฉะนั้นคงจะไม่ทำให้เกิดความกังวลใดๆ และไม่น่าจะมีการโยกย้ายเงินฝากมากนัก ขณะที่กลุ่มคนซึ่งมีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาทในสัดส่วนอีกราว 2% กลุ่มเหล่านี้น่าจะมีการวางแผนการเงินในระดับหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นประเด็นที่มีการวางแผนไว้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะทำให้เกิดความตกใจใดๆ และในส่วนของคนที่มีเงินมากก็อาจจะไม่ได้ฝากเงินไว้มากนักด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน น่าจะมีการกระจายอยู่ในหลายสินทรัพย์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งในส่วนของตราสารทุน ตราสารหนี้ ทั้งในและต่างประเทศ
“ในส่วนของผู้ที่มีเงินฝากเกินกว่าวงเงินคุ้มครอง เงินส่วนนี้น่าจะเป็นเรื่องของการสำรองสภาพคล่องมากกว่า อาจเห็นเงินบางส่วนโยกจากแบงก์ไปตลาดการเงินบ้าง แต่ในแง่ของความปลอดภัย แบงก์น่าจะยังเป็นคำตอบอยู่”