โควิดสายพันธุ์โอไมครอนกดดันราคาสินทรัพย์ทุกประเภทตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (26 พฤศจิกายน) ต่อเนื่องจนถึงต้นสัปดาห์นี้ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีปัจจัยไม่แน่นอนเกิดขึ้นเพิ่ม จากการที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ประกาศถ้อยแถลงล่าสุดว่า Fed กำลังจะพิจารณาเร่งการลดวงเงิน QE ให้มากขึ้นจากแผนเดิมที่เคยประกาศไว้ ซึ่งอาจนำไปสู่เป้าหมายการยุติ QE อย่างสิ้นเชิงที่เร็วขึ้น ทั้งยังทำให้โอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การส่งสัญญาณของ เจอโรม พาวเวลล์ ครั้งล่าสุดที่ค่อนข้าง Hawkish หรือออกไปในทางสายเหยี่ยวที่เริ่มห่วงเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากเงื่อนไขของตลาดและเศรษฐกิจไม่ได้เอื้ออำนวย
โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้นยังต้องติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ประกาศออกมา เพื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์ุโอไมครอน ซึ่งกลายเป็นอีกตัวแปรที่ทำให้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
ขณะที่เงื่อนไขทางด้านตลาดหุ้นก็คือความผัวผวนและการปรับฐานลงแรงที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง 2-3 วัน ซึ่งเป็นผลจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินที่รัดกุมของ Fed ด้วย
เมื่อประเมินจากเงื่อนไขของตลาดและเศรษฐกิจดังกล่าว บวกกับการดำเนินนโยบายลดวงเงิน QE และนำไปสู่การยุตินโยบาย QE ตามแผน ก็น่าจะทำให้เงินเฟ้อที่ Fed เป็นกังวลอยู่ตอนนี้ปรับตัวลดลงได้ในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินก็จะคงอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อไป ไม่ไหลออกสู่ตลาดยุโรป (EU) และตลาดเกิดใหม่ (EM) ตามที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันฝั่ง EM เองก็ยังต้องติดตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนด้วยว่าจะเพิ่มความน่าสนใจได้เพียงใด
“มองโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจจะยังอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้น Large Cap ซึ่งน่าจะมีการฟื้นตัวของกำไรที่ดีได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในปี 2565 GDP สหรัฐฯ ถูกประเมินว่าน่าจะเติบโตได้ราว 4-5% ท่ามกลางงบอัดฉีดเศรษฐกิจประมาณ 2-3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ”
ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า กล่าวว่า ทั้งปัจจัยเรื่องโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและการประกาศลดวงเงิน QE มากขึ้น และอาจจะจบเร็วกว่าแผนเดิม ทำให้การจัด Asset Allocation ทำได้ยากขึ้น เพราะยังมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนต้องติดตามอีกมาก ทำให้ความไม่แน่นอนในตลาดมีมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าการตอบรับปัจจัยความไม่แน่นอนของแต่ละ Asset Class ล้วนเป็นไปทางลบ แต่เชื่อว่าหากปัจจัยเรื่องสายพันธุ์โอไมครอนคลี่คลาย เช่น เริ่มมีข้อมูลด้านการแพร่ระบาด ความรุนแรงของอาการ และประสิทธิภาพวัคซีนที่ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็พร้อมจะปรับตัวขึ้นรับข่าวดีในทันที
ขณะที่ปัจจัยด้านการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed นั้น แม้จะเป็นที่รับรู้อยู่แล้วเพราะ Fed มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้อยแถลงล่าสุดของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed สะท้อนว่านโยบายการเงินสหรัฐฯ จะรัดกุมมากขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ซึ่ง Fed ค่อนข้างให้ความสำคัญและต้องการควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในะดับสูง
ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่รัดกุมมากขึ้นอาจนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมคือในครึ่งปีหลัง ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
ในการจัดกลยุทธ์ลงทุน แนะนำให้กระจายการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยในระยะสั้นที่ปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนั้น แนะนำให้พักเงินไว้ใน Money Market ราว 1 เดือน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลายตัว โดยเฉพาะเรื่องโอไมครอน แนะนำลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพราจะปรับตัวรับกับโอไมครอนคลี่คลายได้รวดเร็ว
และท่ามกลางตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความโดดเด่น บนสมมติฐานที่ Fed สามารถควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้อยู่ในระดับสูงได้ด้วยการใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมขึ้น ซึ่งจะส่งผลสภาพคล่องไม่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ควรเน้นลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตที่ดีด้วย
นาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ) บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมี Upside จำกัดอยู่ที่ราว 5-6% ขณะที่ Downside Risk มีค่อนข้างกว้างถึง 15% จากการที่ Fed อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโตของกำไรบริษัท
“ที่ผ่านมาหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบต่อเนื่อง แต่ภาพจากนี้ไปเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ เท่ากับโอกาสที่หุ้นสหรัฐฯ จะปรับลดลงจึงมีมากขึ้นไปด้วย” นาวินกล่าว
ทั้งนี้ แนะนำการจัด Asset Allocation ในตลาดหุ้น 50% ตราสารหนี้ 35% และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และ Reit 10-15%