×

‘ราคาทอง’ ทรุดหนักหลัง ‘หมดข่าวดี’ กูรูแนะทยอยสะสมหากร่วงต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตลาดจับตาสัญญาณถอน QE จาก Fed

09.08.2021
  • LOADING...
ราคาทอง

ความเคลื่อนไหวราคาทองคำวันนี้ (9 สิงหาคม) ยังปรับลดลงต่อเนื่องจากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากเทียบกับต้นปีแล้วพบว่าราคาทองคำลดลง -7.95% และเมื่อเทียบกับราคาสูงสุดของปี 2564 ที่ระดับ 1,959 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พบว่าราคาทองคำร่วงมาแล้ว -10.87% ซึ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับปี 2563 ที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นราว 20% 

 

ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำปรับลงอย่างรวดเร็วเมื่อปลายปสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนต่อท่าทีของ Fed ซึ่งจะมีการประชุมครั้งสำคัญภายในเดือนปลายนี้ โดยตลาดคาดการณ์ออกเป็น 2 ทาง คือ 

  1. เชื่อว่า Fed จะประกาศลด QE ในเดือนสิงหาคม และปรับลดจริงเดือนกันยายน 
  2. เชื่อว่า Fed จะประกาศลด QE ในเดือนกันยายน และปรับลดจริงในเดือนตุลาคม

 

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างจริงจัง และทำให้มุมมองเรื่องการถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจของ Fed มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 

 

“ทั้งเรื่องคาดการณ์การถอน QE และตัวเลขการจ้างงานที่มากกว่าคาดการณ์ ล้วนเป็นลบต่อราคาทองคำ เพราะปัจจัยดังที่กล่าวสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังดีขึ้น” ณัฐวุฒิกล่าว

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าแนวโน้มราคาทองคำจากนี้มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีก เนื่องจากตลาดยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่จะผลักดันราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่น่าจะลงลึกกว่าระดับ 1,700 บาทต่อออนซ์ เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับลดลงเป็นระยะๆ ล้วนซึมซับปัจจัยลบมาแล้ว

 

ณัฐวุฒิแนะนำให้นักลงทุนที่ลงทุนระยะสั้นขายชอร์ตที่ราคาปัจจุบัน สำหรับนักลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสทะยอยสะสมเมื่อราคาใกล้ระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยระยะใกล้ที่ต้องติดตามคือการเปิดเผยตําแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของโธมัส บาร์กิน ประธาน Fed ริชมอนด์ และ ราฟาเอล บอสติก ประธาน Fed แอตแลนตา 

 

“หากทั้ง 2 ท่านนี้มีท่าทีเห็นด้วยกับประธาน Fed สาขาอื่นที่เปิดเผยถ้อยแถลงไปแล้ว และมีท่าทีเห็นด้วยกับการถอน QE ก็มีโอกาสสูงมากที่ราคาทองคำจะปรับลดลงต่อ” วรุตกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งตลาดต่างพากันคาดหวังว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก และ Fed อาจจะไม่ถอน QE ในระดับที่สูง

 

อย่างไรก็ตาม วายแอลจียังเชื่อว่าทองคำยังไม่หมดเสน่ห์และยังไม่เข้าสู่รอบขาลง 100% เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และศักยภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการควบคุมสถานการณ์ก็จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวราคาทองคำเช่นกัน 

 

โดยประเมินแนวรับที่กรอบ 1,676-1,680 ดอลลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านอยู่ที่ 1,778-1,833 ดอลลลาร์ต่อออนซ์ 

 

ทั้งนี้ ​ราคาทองคําเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่วันพุธที่ 4 สิงหาคม และวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคมก็ดิ่งลง 41.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ -2.3% เป็นการปิดร่วงลงรายวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พร้อมกับปิดปรับตัวลดลงในรายสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 2 เดือน ก่อนที่เช้านี้ราคาทองคําจะดิ่งลงต่อทําระดับตํ่าสุดบริเวณ 1,680.23 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

โดยปลายสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น 943,000 ตําแหน่งในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ตําแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงเกินคาดสู่ระดับ 5.4% ในเดือนกรกฎาคม 

 

ตัวเลขในตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเกินคาด กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า Fed จะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตลาดคาดว่า Fed อาจประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการลดวงเงิน QE อย่างเร็วสุดในการประชุมนโยบายการเงินที่กําลังจะมาถึงนี้ ก่อนที่จะเริ่มต้นดําเนินการลด QE ภายในสิ้นปี 2021 หรือต้นปี 2022 

 

ปัจจัยที่กล่าวมากดดันให้ทองคําดิ่งลงหลุดแนวรับสําคัญจนกระตุ้นแรงขายตามทางเทคนิคเพิ่มเติม นั่นส่งผลให้ราคาทองคําร่วงลงอย่างหนักจนทดสอบระดับตํ่าสุดบริเวณ 1,758.66 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันศุกร์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -2.33 ตัน 

 

“แม้ตอนนี้ยังไม่มีข่าวดีสำหรับทองคำ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอยู่มาก นักลงทุนทองคำควรติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และควรปรับพอร์ตการลงทุนถี่ขึ้นตามการส่งสัญญาณในการทำนโยบายสำคัญๆ ของ Fed” วรุตกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X