ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เป็นหนึ่งในหุ้นที่ปรับขึ้นได้ค่อนข้างโดดเด่น โดยราคาขยับขึ้นมาเกือบ 40% จนสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่หลังพุ่งทะลุ 4.71 บาท (ราคาหุ้นหลังรวมผลของการ Dilute แล้ว)
ธุรกิจหลักของ GUNKUL คือโรงไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอง และรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันปัจจัยบวกอย่างหนึ่งที่หนุนให้ราคาหุ้น GUNKUL เป็นที่สนใจในระยะหลัง คงหนีไม่พ้นการประกาศรุกธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงอย่างจริงจัง
โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหารของ GUNKUL เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจไฟฟ้ายังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะ 3-5 ปีข้างหน้านี้
“ปีนี้บริษัทคาดหวังว่าจะเห็นรายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทจากการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งอย่างน้อยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี แต่การขยายโรงไฟฟ้าในปัจจุบันจะเห็นการเติบโตจากต่างประเทศในอัตราที่สูงกว่า”
ที่ผ่านมาจะเห็นว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เลื่อนมาตลอดหรือเปิดเพิ่มน้อยมาก ทำให้หลายบริษัทในธุรกิจนี้ขยายไปต่างประเทศ รวมถึงการขยายไปให้บริการกับภาคเอกชนแทน ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงของโซลาร์ ทำให้บริษัทสามารถขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในประเทศยังคงสูงกว่าต่างประเทศ ขณะที่กำลังการผลิตต่างประเทศอยู่ที่ราว 270 เมกะวัตต์ ส่วนในประเทศอยู่ที่กว่า 400 เมกะวัตต์ แต่ด้วยเงินอุดหนุนในประเทศที่สูงกว่า ทำให้รายได้จากในประเทศยังสูงกว่ามาก แต่การขยายตัวของธุรกิจต่างประเทศจะดีกว่า
“อย่างปีก่อนบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากต่างประเทศ 160 เมกะวัตต์ ขณะที่ในประเทศเพิ่มจากการทำกับภาคเอกชน 50 เมกะวัตต์ ส่วนการได้ใบอนุญาตจากภาครัฐไม่มีเลย”
ที่ผ่านมาเราได้เข้าไปให้บริการติดตั้งไฟฟ้ากับภาคเอกชนมากขึ้น เช่น ต้นปีที่ผ่านมาร่วมกับ CJ Express สำหรับติดโซลาร์บนหลังคาของสาขากว่า 500 แห่ง หรือติดโซลาร์กับโรงงานของซีพีกว่า 20 โครงการ รวมถึงร่วมกับโฮมโปรอีก 18 สาขา
“ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าจะมี EBITDA ไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท ภายใต้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีสภาพคล่องค่อนข้างมาก และยังมีวงเงินกับธนาคารอีกราว 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ IBD/EBITDA ยังอยู่ที่เพียง 1.4 เท่า จากเพดานที่ 3 เท่า”
นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจ ‘กัญชง’ คือสิ่งที่จะเริ่มต้นในปีนี้ ซึ่งบริษัทตั้งใจจะทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คือลงมือปลูกในเฟสแรก 50 ไร่ และจะขยายเป็น 150 ไร่ ภายในประมาณ 1 ปีครึ่ง หลังจากนั้นคือการสกัดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป
“ตอนนี้บริษัทได้เตรียมที่ดินและโรงเรือนเพาะปลูกไว้แล้ว รอเพียงใบอนุญาตในการปลูก ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในอีกไม่นาน และน่าจะเริ่มเห็นช่อดอกในปีนี้”
สำหรับรายได้จากกัญชงนี้ บริษัทยังไม่ได้รวมเข้ามาไว้ในเป้าหมายที่กล่าวไปข้างต้น เพราะยังคาดการณ์ได้ยากเกี่ยวกับราคาขาย แต่บริษัทคาดหวังว่าธุรกิจกัญชงจะเข้ามาช่วยเสริมอัตรากำไรของบริษัทให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งในส่วนนี้ผู้บริหารของ GUNKUL บอกว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นการร่วมธุรกิจกันระหว่าง GUNKUL และ COM7 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ไอทีที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
โดยล่าสุด ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ COM7 อย่าง สุระ คณิตทวีกุล ได้เข้ามาถือหุ้น GUNKUL ในระดับ 200-300 ล้านหุ้น
“ในอนาคตมีโอกาสที่จะเห็นการ Synergy ทางธุรกิจระหว่าง GUNKUL และ COM7 ด้วยจุดแข็งของ COM7 ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ในอนาคตของ GUNKUL จะขายผ่านสาขาของ COM7”
ในมุมของราคาหุ้น GUNKUL ที่ขยับขึ้นมาทำจุดสูงสุดที่ระดับ 5.10 บาท เป็นระดับที่อาจจะเรียกได้ว่าสูงกว่าราคาพื้นฐานจากการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ส่วนมากไปแล้ว
ด้าน สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร COM7 เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้น GUNKUL เป็นการลงทุนส่วนตัว ซึ่งตั้งใจจะถือลงทุนระยะยาวอย่างแน่นอน สำหรับโอกาส Synergy ทางธุรกิจในอนาคต จะเป็นในส่วนของธุรกิจกัญชงที่ทาง GUNKUL อยู่ระหว่างการพัฒนา
“ในอนาคตมีโอกาสที่เราจะเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะในส่วนของการกระจายสินค้าซึ่งเราถนัดอยู่แล้วในธุรกิจรีเทล ทำให้เราสามารถที่จะขยายธุรกิจไปนอกเหนือจากเฉพาะแค่ไอที”
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคงจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าการร่วมมือกันทางธุรกิจจะออกมาในรูปแบบใด ต้องรอให้มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่องก่อน
อย่าง บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อ GUNKUL แม้การเริ่มสกัดสาร CBD มีแนวโน้มล่าช้ากว่าเดิมที่เคยแจ้งไว้ว่าภายในช่วงปลายปีนี้ เป็นช่วงต้นปี 2565 แทน แต่กรอบเวลาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนธุรกิจไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างยังมีพัฒนาการที่ดีตามเดิม
เรายังคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ที่ 2.3 พันล้านบาท เติบโต 60% จากปีก่อน ทั้งนี้แนวโน้มครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จากการเข้าช่วงไฮซีซันของโรงไฟฟ้าพลังงานลมและการส่งมอบงานรับเหมาที่มากขึ้น ประเมินราคาเป้าหมาย 4.50 บาท โดยอัปไซด์คือการได้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันรอผลเจรจา 100-150 เมกะวัตต์ คาดเห็นความคืบหน้าในปีนี้ รวมถึงความคืบหน้าของธุรกิจกัญชง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์