×

‘กันกุล’ รุกลูกค้าเอกชน-ต่างประเทศเพิ่ม เดินหน้าลงทุนนวัตกรรมพลังงาน 5,000-7,000 ล้านบาทต่อปี

15.02.2021
  • LOADING...
‘กันกุล’ รุกลูกค้าเอกชน-ต่างประเทศเพิ่ม เดินหน้าลงทุนนวัตกรรมพลังงาน 5,000-7,000 ล้านบาทต่อปี

กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ และผู้ให้บริการพลังงานทดแทน เปิดแผนปี 2564 เตรียมเน้นลูกค้าภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งกลุ่มโรงพยาบาล ค้าปลีก และโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น หลังจากประเมินทิศทางการรับซื้อพลังงานจากภาครัฐเริ่มชะลอตัว โดยดึงนวัตกรมพลังงานมาเป็นจุดเด่น​ โดยเฉพาะการช่วยประหยัดต้นทุนพลังงาน 

 

โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทจะเน้นลูกค้าเอกชนมากยิ่งขึ้นในปีนี้ เนื่องจากประเมินว่าการรับซื้อพลังงานจากทางภาครัฐในปีนี้น่าจะชะลอตัว ประกอบกับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรม มีความต้องการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนในส่วนของ PPA ภาคเอกชนเข้ามาในพอร์ต 30-50 เมกะวัตต์ต่อปี

 

ล่าสุด GUNKUL ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงาน หรือ PPA (Power Purchase Agreement) จากระบบผลิตพลังงานแสดงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับสาขาของ ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด หรือ CJ ทั้งสาขาที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันและสาขาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเครือ CJ

 

โดยสัญญา PPA นี้ GUNKUL จะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด ตั้งแต่งออกแบบ อุปกรณ์ ดำเนินการก่อสร้าง และดูแลระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 18 เมกะวัตต์ (MW) หรือเฉลี่ย 32 กิโลวัตต์ (KW) ต่อสาขา เพื่อขายไฟให้กับทาง CJ ในอัตราส่วนลดค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลาสัญญา 15 ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จไปแล้ว 5 สาขา และคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งให้ครบ 500 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ โดยภายในไตรมาส 3 ปี 2564 น่าจะครอบคลุม 300 สาขาได้ จากมีพื้นที่พร้อมติดตั้งแล้ว

 

ด้าน CJ ประเมินว่าการติดตั้ง Solar Rooftop จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 24 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 300 ล้านบาทตลอดระยะเวลาสัญญา 15 ปี 

 

GUNKUL วางเป้าหมายระหว่างปี 2564-2566 จะมีกำลังการผลิตแตะ 1,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 300-400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากการลงทุนซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานลมและโซลาร์กำลังผลิตติดตั้ง 30-50 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม และอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอยู่หลายราย 

 

สำหรับธุรกิจ Engineering Procurement and Construction หรือ EPC ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญารับงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 10,000 ล้านบาท คาดโอกาสได้รับงานดังกล่าวราว 25-30% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้งานในมือปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 9,000 ล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมูลค่างานในมือดังกล่าวจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ 3,000 ล้านบาท และที่เหลือทยอยรับรู้ใน 3 ปี

 

ส่วนความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าดำเนินการ GUNKUL อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน เนื่องจากปัจจุบัน TOR ยังไม่ชัดเจน และน่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษานาน ซึ่ง GUNKUL ยังคงมองการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตของเมกะวัตต์

 

ทั้งนี้กองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ บนพื้นที่ที่มีศักยภาพของกองทัพบกในภูมิภาคต่างๆ ราว 3 แสนไร่ ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ลงทุนเฟสแรก 300 เมกะวัตต์

 

GUNKUL วางงบลงทุนรวมปีนี้ไว้ที่ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยจะใช้ในธุรกิจพลังงาน 50% และที่เหลือเป็นธุรกิจ EPC, PPA และการเข้าซื้อกิจการ M&A

 

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2563 GUNKUL คาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ 15-20% และน่าจะมีจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีจากการบันทึกกำไรจากขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น ในไตรมาส 4 ปี 2563 มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนปี 2564 GUNKUL วางเป้าหมายการเติบโตของรายได้ 15-20% 

 

ผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2563 GUNKUL มีรายได้รวม 7,009.40 ล้านบาท

 

และกำไรสุทธิ 1,719.58 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีรายได้รวม 7,463.91 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,147.33 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising