เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (19 เมษายน) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ประกาศเข้าซื้อหุ้นที่เหลือของ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) ในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 65 บาท ถ้าการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH ประสบความสำเร็จ จะมีผลทำให้บริษัทมีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดในบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ไทยคม (THCOM) โดย GULF จะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นของ ADVANC ในภายหลัง
แต่อย่างไรก็ดี GULF ไม่ได้มีความประสงค์จะเข้าซื้อหุ้น ADVANC แต่บริษัทมีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดใน ADVANC ตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต. รวมถึงไม่มีความประสงค์จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจดาวเทียม ดังนั้น GULF จะหารือกับ ก.ล.ต. ในการขอผ่อนผันหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดใน THCOM โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของทั้งสองบริษัทนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่ GULF สามารถเข้าซื้อหุ้น INTUCH ได้มากกว่า 50%
ผู้บริหาร GULF มองว่าทั้ง INTUCH และ ADVANC เป็นกิจการที่ดีและมีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท เนื่องจากเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานประเภทโทรคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตและพัฒนาของประเทศไทย และธุรกิจดังกล่าวยังคงมีศักยภาพการเติบโตที่สูง โดย GULF มั่นใจว่าการลงทุนดังกล่าวจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในระยะยาว
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้น INTUCH ปรับตัวขึ้น 7.69%DoD สู่ระดับ 63.00 บาท ราคาหุ้น ADVANC ปรับตัวขึ้น 0.89%DoD สู่ระดับ 169.50 บาท ขณะที่ราคาหุ้น GULF ปรับตัวลง 1.53%DoD สู่ระดับ 32.25 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าประเด็นนี้ได้สร้างเซอร์ไพรส์ต่อตลาด เมื่อพิจารณาจากการใช้เงินลงทุนซึ่งมีจำนวนมากถึง 1.69 แสนล้านบาทในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ INTUCH และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 5.35 แสนล้านบาทถ้ารวมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ADVANC ด้วย โดยการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นตอกย้ำการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของ GULF ในธุรกิจโทรคมนาคม
มุมมองระยะยาว:
การลงทุนของ GULF ครั้งนี้จะใช้เงินลงทุนจากเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของ GULF ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1.47 เท่า เทียบกับ Debt Covenant อยู่ที่ 3.5 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการก่อหนี้เพิ่มเติม โดย GULF คาดว่าต้นทุนของเงินทุนจะอยู่ที่ 2-3% ต่อปี
นอกจากนี้ผู้บริหารยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุนสำหรับทำรายการนี้ เนื่องจากการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงินของบริษัทและเพิ่มความสามารถในการก่อหนี้ได้อีก 1.2-1.7 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการทำรายการนี้
ทั้งนี้ SCBS มองว่า GULF จะกู้ยืมเงินเพิ่มในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในสินทรัพย์ดำเนินงานที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันทีเพื่อนำเงินไปใช้ต่อยอดการลงทุนในโครงการอื่นๆ ในอนาคต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า