ดนตรีมีจุดร่วมเดียวกันกับแฟชั่น คือการเวียนว่ายตายเกิดตามวัฏสงสาร เทรนด์ของดนตรีและแฟชั่นต่างก็ผลัดกันดำผุดดำว่าย สลับสับเปลี่ยนเอาสไตล์ต่างๆ ขึ้นมาชูชันทีละ 5 ปี 10 ปีก็ว่าไป การกลับมาแต่ละครั้งของแต่ละแนวเพลงก็มักจะมีการเพิ่มเติมสีสันแห่งปัจจุบันผสมผสานเข้าไป เป็นวิวัฒนาการให้นักฟังเพลงได้ตื่นเต้นหรือไม่ก็หัวเราะเยาะกันไปตามเรื่องตามราว มีเพียงบางกรณีสำหรับบางแนวเพลงเท่านั้นที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ตั้งอยู่ในเวลาสั้นๆ แล้วก็ดับไปเลย เข้านิพพานอย่างไม่มีทางหวนกลับ
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ดนตรีป๊อป จะเห็นได้ว่าเครื่องดนตรีหลักชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ตลอดเวลาและมีบทบาทในดนตรีแทบทุกแนวก็คือ ‘กีตาร์’ นั่นเอง
ที่ผ่านมากีตาร์กลายเป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นที่อยากหัดเล่นดนตรีด้วยหลายๆ ปัจจัย เช่น ราคาที่สามารถสัมผัสได้ ขนาดที่ไม่ใหญ่เทอะทะ หาซื้อได้ง่าย อย่างบ้านเราในสมัยก่อนสามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องกีฬา โดยแทบจะซื้อกีตาร์พร้อมกับไม้แบดมินตันมาเล่นกันในซอยตันของหมู่บ้าน เหมือนเป็นเครื่องมือในการเข้าสังคมอย่างไรอย่างนั้น
จนอยู่มาวันหนึ่ง ท่ามกลางโลกใหม่อันไร้ฤดูกาลในยุค 2010s ก่อนที่มวลมนุษย์จะรู้ตัว บทบาทของกีตาร์ในโลกดนตรีได้ลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงปีสองปีนี้เองที่เริ่มมีการสังเกตการณ์ และหาข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เพื่อมายืนยันว่าสภาวะขาลงของกีตาร์ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ
ข้อมูลในเชิงตัวเลข
ข้อมูลจาก The Washington Post กล่าวว่า ยอดขายโดยรวมของกีตาร์ไฟฟ้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ลดลงจากเดิมที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ 1.5 ล้านตัวต่อปี เหลือ 1 ล้านตัวต่อปี และสองบริษัทผู้ผลิตกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Gibson และ Fender กำลังตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้สิน ส่วนลำดับที่สามอย่าง PRS Guitars ต้องปรับตัวโดยการลดจำนวนพนักงาน และหันมาขยายสายการผลิตกีตาร์รุ่นเล็ก สเปกไม่แรง ราคาย่อมเยา แทนที่จะเน้นกีตาร์ระดับไฮเอนด์เหมือนเมื่อก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย
นอกจากนี้ข้อมูลตัวเลขในส่วนของผู้ค้าก็สอดคล้องกัน โดย Guitar Center ซึ่งเป็นร้านขายกีตาร์ที่ใหญ่ที่สุดและมีสาขามากที่สุดในอเมริกาก็ตกอยู่ในสภาวะติดหนี้เช่นกัน เป็นจำนวนถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขเหล่านี้ช่างฟังดูน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้บุกเบิกกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางดนตรีของโลกมาตั้งแต่ยุค 1930s
ข้อสันนิษฐานถึงที่มาที่ไป
จอร์จ กรูห์น เจ้าของกิจการร้านขายกีตาร์วัย 71 ปี ที่อยู่ในวงการค้าขายกีตาร์มายาวนานถึง 46 ปี ลูกค้าของเขามีตั้งแต่ อีริก แคลปตัน, นีล ยัง, พอล แม็กคาร์ตนีย์ ไปจนถึง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในสมัยก่อนทุกคนมีความฝันอยากเป็นร็อกสตาร์ หรือเป็นเทพเจ้าแห่งกีตาร์เหมือนกับ จิมมี่ เฮนดริกซ์ , จิมมี่ เพจ, เจฟฟ์ เบก ฯลฯ มีกีตาร์ฮีโร่มากมายที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนในยุคนั้นเริ่มหัดเล่นกีตาร์ และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนเหล่านั้นเริ่มเข้าสู่วัยชรา โดยที่เด็กๆ ในเจเนอเรชันถัดไปที่เติบโตขึ้นมาไม่ได้มีความสนใจในแบบเดียวกัน เพราะยุคนี้ไม่มีตัวแทนที่เป็น role model ของการเล่นกีตาร์ที่ชัดเจน
“สิ่งที่เราต้องการ ณ ตอนนี้คือกีตาร์ฮีโร่” กรูห์น ได้กล่าวสรุปถึงทางออกที่จะทำให้กีตาร์รอดพ้นจากสภาวะใกล้สูญพันธุ์
แล้วใครล่ะคือกีตาร์ฮีโร่แห่งยุคนี้?
จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่ายุคนี้จะไม่มีมือกีตาร์ที่มีฝีมือโดดเด่นเอาซะเลย ยังมี จอห์น เมเยอร์ ที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับของมือกีตาร์ทุกรุ่น แต่ทว่าก็ไม่ได้มีคนรุ่นใหม่เริ่มเล่นกีตาร์เพราะจอห์นมากนัก หากเทียบกับยุคก่อนที่วัยรุ่นอยากเป็นเหมือน จิมมี่ เฮนดริกซ์ หรือ เอ็ดดี้ แวน เฮเลน
มีสมมติฐานข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมส่วนตัวและฝีปากสุดแสบของจอห์นเองก็ขึ้นชื่อไม่แพ้ฝีมือการเล่นกีตาร์ ทำให้เขาเป็นประเด็นขึ้นปกหนังสือพิมพ์ดาราบ่อยกว่านิตยสารดนตรีเสียอีก วัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบขี้หน้าเขานัก เพราะการแสดงออกถึงความไม่ให้เกียรติผู้หญิงหลายครั้งหลายคราที่กระทบมายังฝั่งวัยรุ่นชาย แน่นอนว่าเหตุผลใหญ่ส่วนหนึ่งที่พวกเขาคิดหัดเล่นกีตาร์เพราะอยากเท่และเป็นที่ดึงดูดเพศตรงข้ามนั่นเอง แต่เมื่อสาวๆ ไม่ชอบจอห์น เมเยอร์ การนำเพลงของเขามาหัดเล่นเพื่อโชว์หญิงคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้สาวๆ ประทับใจแน่ๆ
โจ โบนามาสซา ก็เป็นอัจฉริยะทางกีตาร์อีกคนในยุคนี้ที่เก่งขนาดได้เล่นโชว์เปิดให้ B.B. King ตั้งแต่เขาอายุเพียง 12 ปี จนถึงทุกวันนี้ โจ ในวัย 40 ปี (รุ่นเดียวกับ จอห์น เมเยอร์) มีผลงานมากมาย แต่แนวทางของเขาล้วนไปในทางซีเรียสมิวสิกที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนฟังเพลงแบบจริงจังเท่านั้น บวกกับความเป็นกีตาร์เนิร์ดที่เป็นนักสะสมกีตาร์นับร้อยตัว ผู้ที่ติดตามโจจึงเป็นสายจริงจังเพียงกลุ่มย่อยๆ เมื่อเทียบกับโลกเมนสตรีมอันกว้างใหญ่
กอปรกับการเข้ามายึดหัวหาดของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่าง EDM ใครเลยจะคาดเดาได้ว่า ครั้งหนึ่งในปี 1969 ณ เทศกาลดนตรีวู้ดสต็อก ได้มีหนุ่มสาวชาวบุปผาชนนับแสนมารวมตัวกันเพื่อเป็นประจักษ์พยานในการร่ายมนต์ของจิมมี่ เฮนดริกซ์ ราวกับเป็นการโชว์สมสู่กับกีตาร์อย่างร้อนแรง
เมื่อกาลเวลาผ่านไป 48 ปี รูปแบบของเทศกาลดนตรีได้เปลี่ยนมาเป็นการแสดงจากแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ของดีเจนิ้วชี้ฟ้าคอหนีบหูฟังที่มากับแสงสีเสียงอย่างเต็มเหนี่ยว ปริมาณของผู้เข้าชมหลักเป็นคำตอบว่า EDM ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นยุคนี้ไปแล้ว
สนใจในศาสตร์ของดีเจมากกว่าอยากริเริ่มเล่นกีตาร์
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราน่าจะย้อนกลับไปถามถึงประเด็นที่ว่า ‘เราต้องการกีตาร์ฮีโร่จริงๆ เหรอ?’ ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องกว่านี้คือ เราต้องการ guitar influencer มากกว่า ในเมื่อยุคนี้การโชว์เทคนิคการเล่นอันแพรวพราวไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนสนใจ เอกลักษณ์เท่ๆ ต่างหากที่จะทำให้คนอยากเล่นกีตาร์ตาม อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจนในยุค 90s เมื่อ เคิร์ต โคเบน แห่งวง Nirvana ออกมากระหน่ำสาดคอร์ดกีตาร์ด้วยอารมณ์ล้วนๆ ทำให้วัยรุ่นในยุคนั้นหันมาเล่นกีตาร์กันเป็นทิวแถว เพราะแนวทางของเขาเรียบง่าย แต่เท่และทรงพลัง
อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือสภาพแวดล้อมทางดนตรีในยุคนั้นเต็มไปด้วย guitar influencer ที่มากับรูปแบบใหม่ของการเล่นกีตาร์ ไม่ว่าจะเป็น บิลลี่ คอร์แกน แห่ง The Smashing Pumpkins, เธอร์สตัน มัวร์ แห่ง Sonic Youth หรือ The Edge แห่ง U2 จนเป็นที่มาของคำว่า anti-hero ในวงการกีตาร์ ซึ่งหมายถึงการเล่นกีตาร์ในแนวทางอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นเทคนิคแพรวพราว หรือความช่ำชองในการระรัวเร้าละเลงนิ้วอันพลิ้วไหวโซโลลงบนคอกีตาร์
“Is Taylor Swift the next Eddie Van Halen?”
ฟิลลิปส์ แม็กไนต์ ยูทูเบอร์ชื่อดังจากการเปิดแชนแนลให้ความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ ได้ตั้งประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเขาอ้างอิงจากการสังเกตการณ์ในฐานะเจ้าของร้านกีตาร์และโรงเรียนสอนดนตรีในรัฐแอริโซนา ซึ่งนำไปสู่ประเด็นการถกเถียงกันมากมายในสื่อออนไลน์
แม็กไนต์ตั้งข้อสังเกตว่า เดิมทีนักเรียนกีตาร์ของเขาส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชาย จนกระทั่งในปี 2012 เริ่มมีนักเรียนผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนในที่สุดจำนวนนักเรียนหญิงในชั้นเรียนก็มีมากกว่านักเรียนชาย เขาจึงถามนักเรียนหญิงเหล่านั้นว่าสาเหตุของการเริ่มหัดเล่นกีตาร์คืออะไร
คำตอบของพวกเธอคือ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’
ถึงแม้ว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะเล่นเพลงป๊อปที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ภาพลักษณ์ของสาวสวยสะพายกีตาร์ร้องเพลงของเธอนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นหญิงหันมาเล่นกีตาร์มากขึ้น โดย แอนดี้ มูเนย์ ประธานผู้บริหารของ Fender ได้ออกความเห็นเสริมว่า “เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนเล่นกีตาร์ได้มากที่สุดในยุคนี้ ไม่ใช่ในเชิงเทคนิค แต่เธอทำให้เด็กผู้หญิงอยากจะลอกเลียนแบบสิ่งที่เธอเป็น”
จากการเก็บข้อมูลของ Fender เองเห็นได้ว่าในยุคนี้มีผู้หญิงซื้อกีตาร์มาหัดเล่นมากขึ้น โดยมีสัดส่วนถึง 50% ของการขาย ในขณะที่สมัยก่อน ตัวเลขบ่งชี้ว่าผู้ซื้อเป็นผู้ชายราว 70-80%
ประเด็นที่แม็กไนต์กล่าวในคลิปวิดีโอของเขาได้เปรียบเทียบจุดร่วมระหว่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในปัจจุบัน กับ เอ็ดดี้ แวน เฮเลน ในอดีต คือการเป็น guitar influencer ที่ทำให้คนอยากเล่นกีตาร์ ส่วนเรื่องเทคนิคและความเชี่ยวชาญในการเล่นไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการชักจูงคนมาสู่ลัทธิหกสายนี้เท่าไรนัก
การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
นับตั้งแต่ยุค 2000s รูปแบบของดนตรีเริ่มมีการปะปนข้ามสายพันธุ์กันอย่างชัดเจน วิธีการนำเสนอ ผลงานเพลงได้ขยายกิ่งก้านออกไปหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเพียงเสียงกีตาร์ที่เคยเป็นพระเอกในดนตรีหลายๆ แนวอย่างยาวนานในยุคก่อนหน้านั้น วงดนตรีอย่าง Linkin Park เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่นำดนตรีร็อกมาผสมผสานกับจังหวะฮิปฮอป แบรด เดลสัน มือกีตาร์ของวงได้ให้ความเห็นว่า “ดนตรีก็คือดนตรี ไม่ว่าจะถูกถ่ายทอดผ่านเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม เพียงแค่ตอนนี้เหล่าศิลปินมีแนวโน้มใช้คอมพิวเตอร์ในการทำบีตโปรแกรมมิงมากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งมันก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปินที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่าการเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่น เพียงแต่อัจฉริยภาพทางดนตรีได้ถูกถ่ายทอดออกมาในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง”
มาถึง ณ วันนี้ เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าบทบาทของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ได้รับการแบ่งสัดส่วนที่เปลี่ยนไป เทรนด์ของการเล่นเครื่องดนตรีสังเคราะห์มีบทบาทชัดเจนขึ้น สังเกตได้จากการเปิดตัวซินธิไซเซอร์รุ่นใหม่ๆ กันอย่างคึกคักและต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจากหลายๆ บริษัทผู้ผลิตทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ในงานแสดงนวัตกรรมทางดนตรีที่จัดขึ้นทุกปีอย่าง NAMM Show หรือ Musikmesse กีตาร์ไม่ได้เป็นพระเอกเหมือนยุคก่อน จึงเกิดเป็นประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหลากหลายในสื่อออนไลน์ว่ากีตาร์กำลังจะตาย แต่แท้จริงแล้วประชากรนักดนตรีได้ถูกถ่ายเทไปสู่การเล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่นมากขึ้นต่างหาก เพราะในมวลรวมของประชากรนักดนตรีไม่ได้ลดน้อยลงไปสักนิด ในทางตรงกันข้าม มันกลับมีมากขึ้นกว่าทุกยุคที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ด้วยผลพวงของเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้ผู้คนเสพดนตรีได้ง่ายขึ้น หาแรงบันดาลใจได้ง่ายขึ้น หัดเล่นดนตรีได้สะดวกขึ้น สร้างดนตรีได้รวดเร็วขึ้น ไปจนกระทั่งการมีช่องทางเผยแพร่ดนตรีของตัวเองได้กว้างขวางขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงหรือไม่?
ถ้าถามผู้ผลิตกีตาร์ เขาต้องตอบว่าน่าเป็นห่วงอย่างแน่นอน ในเมื่อยอดขายลดลงก็ต้องมีการกระตุ้นด้วยวิธีทางการตลาด เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์กีตาร์หลายๆ บริษัทเริ่มคิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย อย่างแอมป์กีตาร์ที่เชื่อมต่อด้วยระบบบลูทูธ หรือเอฟเฟกต์กีตาร์ที่สามารถดาวน์โหลดเสียงผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้ บริษัทใหญ่อย่าง Fender เองก็เริ่มผลิตสื่อออนไลน์เป็นแบบฝึกหัดกีตาร์สำหรับมือใหม่เพื่อพยายามเพิ่มจำนวนประชากรกีตาร์ในหมู่วัยรุ่น
แต่ถ้าตัดเรื่องธุรกิจออกไป สำหรับพวกเราแล้วถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติตามวัฏจักร มันเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนองานศิลปะด้านดนตรี และหากมองกลับกัน ถ้ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยสิกลับน่าเป็นห่วงกว่า ดนตรีในแต่ละยุคสมัยต่างก็มีเอกลักษณ์และสีสันของตัวเอง ในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีประเด็นใหม่ว่าด้วยเรื่อง ‘วันสิ้นโลกของดีเจ’ ก็เป็นได้ เมื่อถึงวาระที่มีการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจอีกครั้ง
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราเคยใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อโทรเข้าเบอร์บ้านของสาวที่หมายปอง โดยต้องเสี่ยงดวงเอาว่าคนที่รับสายจะไม่ใช่พ่อของเธอ และเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราเคยใช้เพจเจอร์ส่งข้อความหวานๆ ให้เธอ ในเวลาต่อมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราต้องรวบรวมความกล้าอย่างมากในการตั้งสติเดินเข้าไปขอเบอร์มือถือสาวคนที่เราแอบชอบ และเมื่อกี้นี้เองเราเพิ่งส่งเธอเข้านอนผ่านทางเฟซไทม์บนไอโฟน
เครื่องดนตรีเองก็เปรียบเสมือนเครื่องมือสื่อสารของศิลปินที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่การสื่อสารก็ยังคงดำเนินต่อไป การเล่นกีตาร์ก็อาจเป็นเหมือนการสื่อสารแบบดั้งเดิมคือการพูดคุยกันต่อหน้า และแม้วันนี้เราอาจพูดคุยกันน้อยลง หันมาพิมพ์แชตหรือส่งสติกเกอร์กันมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่หยุดสื่อสารกัน บทเพลงก็ยังคงบรรเลงต่อไป เรื่อยๆ ท้ายที่สุดแล้ว ‘ดนตรี’ ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ และจะยังคงหายใจต่อไปไม่มีวันหยุด ไม่มีวันไหนที่มนุษย์จะเลิกเสพดนตรีหรอก แม้ในวันที่เลวร้ายที่สุดของชีวิต เราก็ยังมีดนตรีคอยปลอบประโลมไม่ใช่หรือ?
อ้างอิง
- www.washingtonpost.com/graphics/2017/lifestyle/the-slow-secret-death-of-the-electric-guitar/?utm_term=.98f29fcc3b00
- www.guitarplayer.com/gear/1012/washington-post-says-guitar-is-nearly-done/63083
- www.youtube.com/watch?v=6CCzKlsUyAo
- www.youtube.com/watch?v=E4Q9xMtlekU
- www.youtube.com/watch?v=x9aRyCwUDwY