×

ความฝันวัยเด็ก กับสัตว์ประหลาดในจักรวาลของ กีเยร์โม เดล โตโร

03.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นอกจากผลงานเรื่องแรกที่ไม่มีสัตว์ประหลาดเป็นตัวตนชัดเจน ผลงาน 9 เรื่องต่อมา ของเดล โตโร ล้วนมี ‘สัตว์ประหลาด’ เป็นตัวละครหลักทั้งหมด
  • เดล โตโร หลงใหลในเรื่องสยองขวัญ หุ่นยนต์ สัตว์ประหลาดมาตั้งแต่เด็ก เขามักจะสเกตช์ภาพตัวละครในจินตนาการลงในสมุดโน้ตอยู่เสมอ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็นำตัวละครเหล่านั้นให้ออกมามีชีวิตในโลกแห่งภาพยนตร์

ยังไม่แน่ใจว่าจาก 13 สาขา ที่ The Shape of Water ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ จะสามารถคว้า ‘ตุ๊กตาทอง’ มากอดไว้ได้สักกี่ตัว แต่ที่แน่ๆ คือชื่อของผู้กำกับชาวเม็กซิกันอย่าง กีเยร์โม เดล โตโร จะกลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการประกาศรางวัลปีนี้

 

จุดเด่นของเดล โตโร อยู่ที่ความลึกลับซับซ้อนของเนื้อเรื่อง ที่มักจะสะท้อนปัญหาทางสังคม และมุมมืดในจิตใจมนุษย์ผ่าน ‘สัตว์ประหลาด’ ต่างๆ ที่เขาจินตนาการขึ้นมา ถ้านับรวมจากผลงานเรื่องแรกอย่าง Mimic ที่เขาเลือกปีศาจแมลงสาบมาเป็นตัวหลักอย่างเต็มตัว จนถึง The Shape of Water เป็นจำนวน 9 เรื่องติดกัน ที่ล้วนมีสัตว์ประหลาดเหล่านี้เป็นตัวดำเนินเรื่อง

 

วันนี้ THE STANDARD ได้รวบรวมผลงานทั้งหมด รวมทั้งสัตว์ประหลาดที่มีส่วนสำคัญกับเรื่อง มาเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องทำความรู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้ ผ่าน ‘สัญญะ’ ประหลาดที่เขาแทรกเอาไว้ในทุกๆ ตัวละคร ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพลักษณ์ของหนังและสังคมเท่านั้น ยังสะท้อนไปถึงความคิดและความฝันในวัยเด็กของเขาเองด้วย

 

 

1. Mimic (1997)

ผลงานเรื่องที่สองของเดล โตโร และเป็นเรื่องแรกที่นับว่าเป็นการก้าวเท้าสู่วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดแบบเต็มตัว

 

หลังจากชิมลางบทตัวประหลาดของชายแก่เจ้าของร้านชำผู้ยอมแลกชีวิตอมตะกับการเป็นแวมไพร์กระหายเลือดในเรื่อง Cronos (1993) คราวนี้เขาจัดเต็มด้วยการเอาสิ่งมีชีวิตที่หลายคนเกลียดที่สุดอย่าง ‘แมลงสาบ’ มาเป็นตัวละครหลัก

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากนักวิทยาศาสตร์ที่เกิดไอเดียกำจัดแมลงสาบที่กำลังแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ด้วยการตัดต่อพันธุกรรมแมลงสาบสายพันธุ์ใหม่ให้ไปกำจัดแมลงสาบด้วยกันเอง และตั้งชื่อว่า ‘จูดาส’ ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม เพียงแต่มันไม่ยอมตายในระยะเวลา 3 เดือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจไว้ แถมมันยังค่อยๆ เจริญเติบโต แข็งแกร่ง ดุร้าย และเริ่มเบนเป้าหมายมาล่ามนุษย์เป็นเหยื่อแทน เนื้อเรื่องที่เหลือก็เป็นไปตามขนบหนังแนวนี้ทั่วๆ ไปที่คงพอเดากันได้อยู่

 

แต่จุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่การออกแบบเจ้าจูดาสได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งในแง่ความสมจริงของรายละเอียดในด้านรูปร่างหน้าตา และการเคลื่อนไหวของสัตว์ประหลาดตัวนี้ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นหนังเรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหนังสยองขวัญเกรดบีทุนต่ำเท่านั้น

 

ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากความชอบในวัยเด็กของตัวเดล โตโร เอง ที่มีความสนใจในเรื่อง ‘แมลง’ ต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาสนใจสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วแทบทุกประเภทถึงขนาดศึกษากายวิภาคของพวกมันอย่างละเอียด จนพบว่าโครงสร้างของแมลงเหล่านี้เป็นการออกแบบที่มหัศจรรย์ของธรรมชาติ และที่สำคัญเขายังเคยฝันอยากเป็นนักชีววิทยามาตั้งแต่เด็กอีกด้วย

 

สุดท้ายการบุกฮอลลีวูดของ เดล โตโร ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ และยังมีประเด็นที่ทำให้ Mimic กลายเป็นหนังที่เดล โตโร ทั้งรักและเกลียด เพราะตอนแรกเขาวางตอนจบไว้อีกแบบหนึ่งที่น่าจะหม่นและโหดร้ายกว่านี้ แต่โดน บ็อบ ไวน์สตีน แห่ง Miramax ที่เป็นโปรดิวเซอร์ในตอนนั้น บอกให้เปลี่ยนเป็นตอนจบที่แฮปปี้ เอ็นดิ้งมากขึ้นแทน

 

 

2. The Devil’s Backbone (2001)

หลังเจ็บตัวจากเรื่องแรก เดล โตโร ก็กลับไปทำหนังที่เม็กซิโกบ้านเกิดอีกครั้ง ด้วยการหยิบเรื่องราวในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เต็มไปด้วยความลึกลับท่ามกลางกลิ่นอายของสงครามกลางเมืองที่ประเทศสเปน

 

สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนัง ให้คิดง่ายๆ ว่านี่คือ เด็กหอ ของ ทรงยศ สุขมากอนันต์ เวอร์ชันสเปน ที่ตัวเอกต้องเข้าไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และได้เป็นเพื่อนกับวิญญาณเด็กชายที่ชื่อ ‘ซานติ’ ที่ถูกฆาตกรรมในสถานที่แห่งนี้ (นี่คือจุดเริ่มต้นของการใช้ ‘เด็ก’ เป็นตัวละครเอก ซึ่งจะกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญในหนังของเขาในเวลาต่อมา) แต่อัปเกรดความดาร์กและหม่นให้มากยิ่งขึ้น ด้วยความโหดร้ายจากภัยสงครามที่ทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด แม้จะต้องทำร้ายเด็กคนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยมก็ตาม

 

สิ่งที่น่าจดจำของ ‘ซานติ’ คือเขาไม่ใช่แค่ตัวแทนของมิตรภาพระหว่างเพื่อน แต่เขาคือภาพสะท้อนของความโหดร้ายของสงคราม ที่คอยย้ำเตือนคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาว่าอย่าปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก และคำวิจารณ์ในแง่บวกที่ส่งไปถึงเดล โตโร แบบถล่มทลาย ก็เป็นเครื่องหมายบอกอีกครั้งว่าเขาพร้อมแล้วที่จะกลับมาสู่วงการฮอลลีวูดอีกครั้ง

 

 

3. Blade II (2002)

1 ปีให้หลัง เขาได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการกำกับหนังแวมไพร์ซูเปอร์ฮีโร่ในภาคที่ 2 (เขาเป็นแฟนตัวยงของ Blade มาตั้งแต่เวอร์ชันหนังสือการ์ตูน) และเป็นการเดินหน้าสู่งานแบบเมนสตรีมเต็มตัวครั้งแรก พร้อมกับทุนสร้างที่มากถึง 50 ล้านเหรียญ

 

นอกจากความเท่ของพระเอกอย่างเบลดแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หนังภาคนี้เป็นที่จดจำคือแวมไพร์ตัวร้ายอย่าง The Reapers ที่เดล โตโร เป็นคนออกแบบเองให้มีลักษณะน่าเกลียดและน่ากลัวที่สุด โดยเฉพาะช่องปากที่ฉีกกว้างสำหรับสูบออกจากเหยื่อ ที่ทำให้ The Reapers กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่น่าขยะแขยงยิ่งกว่าจูดาสที่เป็นแมลงสาบด้วยซ้ำ

 

พูดได้ว่า Blade II คือหนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเดล โตโร ในตอนนั้นเพราะทำรายได้ทั่วโลกไปได้ประมาณ 160 ล้านเหรียญ และเป็นโอกาสสำคัญที่ส่งต่อให้เขาได้กำกับหนังที่รอมาทั้งชีวิตอย่าง Hellboy  

 

 

4. Hellboy (2004)

คือโปรเจกต์ในฝัน เดล โตโร มาตั้งแต่สมัยตามสะสมหนังสือการ์ตูนในวัยเด็ก ถึงขนาดทำให้ยอมพลาดโอกาสที่จะกำกับ Blade: Trinity ภาค 3 หลังจากทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในภาคที่ 2 รวมทั้ง Harry Potter and the Prisoner of Azkaban เพราะคิดว่าหากไม่ใช่เขาก็ยังมีคนอื่นที่เหมาะสมกับหนังสองเรื่องนี้รออยู่แล้ว จะมีก็แต่ฮีโร่จากนรกคนนี้เท่านั้นที่เขาจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้

 

เขาตั้งใจอย่างมากในโปรเจกต์นี้ ส่วนหนึ่งเพราะเขารู้สึกว่าซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์อสูร ตัวแดง เขาหัก เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและด้านมืดตนนี้สะท้อนถึงตัวตนของเขาได้ดีที่สุด

 

 

นอกจากนี้ เดล โตโร ยังทำได้ดีมากๆ ในการออกแบบตัวละครอย่าง ‘โครเน็น’ ตัวร้ายจากการ์ตูนที่เดิมเป็นตัวร้ายที่สุภาพนอบน้อม เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏตัวพร้อมหน้ากากกันก๊าซพิษ ให้กลายเป็นจักรกลสังหารที่เต็มไปด้วยกลไกคล้ายนาฬิกา ซึ่งมาจากความสนใจเรื่องเครื่องจักรกลที่เขามีมาตั้งแต่เด็กๆ

 

แต่ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจใส่ทุกอย่างลงไปในหนังเรื่องนี้เกินไปหรือเปล่า ทำให้ Hellboy ออกมาเป็นหนังครึ่งๆ กลางๆ ที่ไม่โดดเด่นสักอย่าง และไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เท่าที่ควร (แต่ในแง่คำวิจารณ์ยังถือว่าทำได้ดี) แต่ เดล โตโร ไม่ได้สนใจในเรื่องนั้น เพราะเขารู้สึกพอใจกับผลงานที่เป็นคนเลือกทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมดเรื่องนี้ที่สุดแล้ว

 

 

5. Pan’s Labyrinth (2006)

ผลงานมาสเตอร์พีซของเดล โตโร ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการภาพยนตร์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง จากการที่เอานิยายแฟนตาซีที่เล่าเรื่องเด็กน้อยที่หลงอยู่ในโลกแฟรี่เทล แต่สุดท้าย เดล โตโร กลับหลอกคนดูด้วย Genre หนังสยองขวัญที่ผู้ปกครองหลายคนถึงกับออกมาโจมตีอย่างเสียหายหลังจากหลงพาเด็กๆ เข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ (แต่จริงๆ หนังบอกเรตของภาพยนตร์ไว้ที่เรต R อยู่แล้ว)

 

Photo: www.openculture.com

 

แน่นอนว่าจุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่การออกแบบสัตว์ประหลาดให้อยู่ในความทรงจำของคนดูได้ไม่รู้ลืม ซึ่งตัวละครอย่าง Fauno หรือปีศาจแพะที่รวมเอกลักษณ์ของสัตว์ต่างๆ ทั้งแมว สิงโต กวาง ให้มาอยู่บนร่างกายที่คล้ายมนุษย์ ซึ่งรูปแบบของปีศาจแพะตัวนี้มาจากจินตนาการในวัยเด็กของเดล โตโร ที่มักจะเห็นมนุษย์แพะออกมาจากตู้เสื้อผ้าของเขาอยู่เสมอ จนเขาสเกตช์ภาพมันเอาไว้ในสมุดบันทึกและกลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่น่าจดจำที่สุดในจักรวาลของเดล โตโร

 

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Pale Man ปีศาจสุดหลอนที่มีตาอยู่บนมือ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของฝันร้ายสำหรับเด็กๆ หลายคนที่ได้ดูไปชั่วเวลาหนึ่ง และไม่เพียงแค่เด็กๆ เท่านั้น แม้กระทั่งสตีเฟน คิง เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญยังถึงขนาดเบียดตัวเข้ามาใกล้ เดล โตโร เมื่อนั่งอยู่ข้างกันในรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่องนี้ จากฉากที่ปีศาจตามือไล่ล่าสาวน้อยผู้น่าสงสารในรังของมัน

 

 

6. Hellboy II: The Golden Army (2008)

หลังจากสร้างชื่อได้แบบถล่มทลาย เดล โตโร ก็กลับมาสู่โปรเจกต์ในฝันของเขาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้รับทุนสร้างมากถึง 85 ล้านเหรียญ คราวนี้เดล โตโร พยายามใส่ฉากแอ็กชันให้กับฮีโร่ตัวแดงมากขึ้น แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่ต่างจากภาคแรกเท่าไรนัก รายได้จากทั่วโลกก็ถือว่าทำได้ดี จนมีข่าวมาตั้งแต่ช่วงนั้นว่าจะมีภาคที่ 3 ตามมา แต่สุดท้ายโปรเจกต์ในฝันของเดล โตโร ก็เงียบหายไปในที่สุด

 

ในภาพรวมภาคนี้ไม่ค่อยมีอะไรให้จดจำเท่าไร นอกจากวิสัยทัศน์มหัศจรรย์ของกิลเลอร์โม คือการสร้างฉากตลาดโทรล ที่เต็มไปด้วยบรรดาสัตว์ประหลาดหลายสายพันธุ์เดินกันขวักไขว่ แต่ตัวที่เราพูดถึงในหัวข้อนี้คือ ‘มนุษย์หัววิหาร’ เขาเป็นเจ้าของร้านหนึ่งในตลาดโทรล มีลูกตา 2 ข้าง ตั้งแต่หน้าผากขึ้นไปแทนที่จะเป็นผมก็เป็นวิหารที่มีรายละเอียดสวยงาม แม้หัววิหารจะไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมายในหนัง แต่ก็แสดงให้เห็นจินตนาการอันหลุดโลกของกิลเลอร์โมในการสร้างสรรค์ตัวประหลาดเช่นนี้ออกมา เดิมทีกิลเลอร์โมต้องการให้มีมนุษย์ตัวเล็กๆ วิ่งไปมารอบๆ วิหารบนหัวด้วย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด จึงทำได้เท่าที่เห็น

 

 

7. Pacific Rim (2013)

อีกหนึ่งโปรเจกต์ในฝันของเดล โตโร จากความหลงใหลในเรื่องหุ่นยนต์กลไกและสัตว์ประหลาดมาตั้งแต่เด็ก ที่เขามักจะวาดรูปสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในสมุดโน้ตจนเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ต่างจากเด็กทั่วไปคือ เขาไม่เพียงแต่วาดหุ่นยนต์ตามจินตนาการที่คิด แต่เขายังคิดละเอียดไปถึงโครงสร้างต่างๆ ในร่างกายหุ่นยนต์ คนขับจะอยู่ตรงไหน ควบคุมอย่างไร ไปจนถึงระบบลำเลียงและกลไกการทำงานของทั้งหุ่นยนต์และสัตว์ประหลาดให้สมจริงที่สุด และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เขาก็ได้นำภาพฝันในวัยเด็กสร้างออกมาเป็นความจริงได้ในที่สุด

 

เดล โตโร ได้ทุนสร้างเรื่องนี้มากถึง 190 ล้านเหรียญ และเขาก็ใช้เงินที่ได้มาอย่างคุ้มค่าในการออกแบบ ‘เยเกอร์’ และ ‘ไคจู’ ออกมาให้สมจริงที่สุด รวมทั้งฉากแอ็กชันที่ทำได้เท่จนหลายคนลืมการต่อสู้ของเหล่า ‘ออโต้บอต’ ใน Transformers ไปได้เลย และเขาก็ไม่ทำให้ทีมสร้างผิดหวัง เพราะสุดท้าย Pacific Rim สามารถทำรายได้ทั่วโลกได้ไปมากถึง 411 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังที่ทำเงินได้มากที่สุดในชีวิตของเขาจนถึงทุกวันนี้

 

 

8. Crimson Peak (2015)

อีกหนึ่งหนังเจ็บๆ ของเดล โตโร ที่เลือกกลับไปทำหนังฟอร์มเล็กลงมา (ทุนสร้าง 55 ล้านเหรียญ) และไม่เอาใจตลาดอีกครั้ง โดยคอนเซปต์รวมๆ ของเรื่องที่ทุกคนได้ยินตั้งแต่แรกว่าจะเป็นเรื่องราวในคฤหาสน์ผีสิงยุคโกธิก ที่เต็มไปด้วยปีศาจหลายเผ่าพันธุ์มาอยู่รวมกัน แต่นอกจากภาพที่สวยงามตามท้องเรื่องแล้ว ตัวเนื้อเรื่องกลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ที่หลายคนสงสัย และแทบไม่มีอะไรน่าจดจำ

 

รวมทั้งการออกแบบตัวละครสัตว์ประหลาดเท่ๆ แปลกๆ ที่เราอยากเห็น ก็มีเพียง ‘Ghosts’ หรือผีกระโครงกระดูกชุ่มเลือดที่ทำให้เราพอตกใจทุกครั้งที่มันโผล่ขึ้นมาจากพื้นตัวเดียวเท่านั้น ที่พอจะสร้างความตื่นเต้นและน่าจดจำให้กับเราได้

 

 

9. The Shape of Water (2017)

มาถึงผลงานล่าสุด ที่นักวิจารณ์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือผลงานมาสเตอร์พีซของเดล โตโร รองจาก Pan’s Labyrinth และส่งผลให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดในปีนี้ด้วยจำนวน 13 รางวัลด้วยกัน (อ่านบทความเกี่ยวกับ The Shape of Water เพิ่มเติมได้ที่ thestandard.co/the-shape-of-water)

 

หลังจากทำหนังที่รวมกับสัตว์ประหลาดต่างสายพันธุ์มารวมไว้ในเรื่องเดียวติดกันหลายๆ เรื่อง คราวนี้เดล โตโร เลือกที่จะใช้แค่สัตว์ประหลาดน้ำจากแอมะซอนเพียงตัวเดียว เพื่อเล่าถึง ‘มนต์รักต่างสายพันธุ์’ ในครั้งนี้

 

นอกจากการทำหนังเพื่อสะท้อนสังคมในเรื่อง ‘ความแตกต่าง’ ที่ซ่อนอยู่ตลอดทั้งเรื่อง สัตว์ประหลาดน้ำ ในเรื่องนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อเป็นการคารวะหนังสัตว์ประหลาดเรื่องโปรดในวัยเด็กของเขาอย่าง Creature from the Black Lagoon (1954) อีกด้วย  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising