วันนี้ (21 มิถุนายน) ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารและจัดการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคมพิจารณาเสร็จแล้ว
พล.อ. ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธาน กมธ.คมนาคม วุฒิสภา เป็นผู้นำเสนอรายงานการพิจารณาศึกษาว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นประเด็นที่หาข้อยุติไม่ได้ว่าการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะดำเนินการในลักษณะใด จะเป็นการต่อสัญญาให้กับ บริษัท บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ไปอีก 30 ปี ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย หรือจะรอให้หมดสัญญาในปี 2572 เพื่อรอใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนในการเปิดสัมปทานใหม่ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นเรื่องที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายครั้ง และในส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เองก็เคยตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องนี้
ดังนั้นในส่วนของ ส.ว. จึงเห็นว่าประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน จึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในคณะทำงานของ ส.ว. ได้มีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม, ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร, ผู้แทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง เข้าร่วม
สำหรับวัตถุประสงค์ในการพิจารณาศึกษาของวุฒิสภา เพื่อศึกษาและรวบรวมบริบทของปัญหาการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเพื่อวิเคราะห์กระบวนการจัดการและเปรียบเทียบการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายอื่นๆ
สำหรับการจัดการทรัพย์สินและภาระหนี้สิน คณะกรรมาธิการมองว่า กทม. ควรวางแผนรายได้และภาระทางการเงิน และการจัดเก็บค่าโดยสารเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยเร็ว เนื่องจากส่วนต่อขยายที่สองเริ่มทยอยเปิดให้บริการเดินรถแล้วตั้งแต่ปี 2560 และปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร
สำหรับข้อเสนอแนะของคณะทำงาน ส.ว. ได้พิจารณาให้ความเห็นออกเป็น 2 แนวทาง ทั้งกรณีการขยายสัมปทาน และกรณีการไม่ขยายสัมปทาน
สำหรับกรณีการขยายสัมปทาน
- ประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกในการเดินทางอย่างต่อเนื่องโดยไม่เปลี่ยนขบวนรถ
- การจัดเก็บค่าโดยสารจะต้องใช้โครงสร้างเดียวกันตลอดสาย โดยไม่เกินที่ 65 บาท
- ลดภาระงบประมาณแผ่นดินเพื่อมาอุดหนุนค่าโดยสารของโครงการฯ
- ในช่วงสัญญาสัมปทาน กทม. จะต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารเพื่อมาชำระหนี้เกินกว่าร้อยละ 9.6
สำหรับกรณีการไม่ขยายสัมปทาน
- ขอขยายสัญญาไปอีก 30 ปี ต้องพิจารณาว่าภาระหนี้ของบริษัทบีทีเอส เปรียบเทียบกับอัตรารายได้ มีความสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่
- สัญญาสัมปทานหลักที่จะหมดในปี 2572 ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบในทุกมิติ
- ควรโอนภาระทางการเงินที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องสัมปทาน