×

Gucci เริ่มใช้วัสดุหนังเทียมแบบยั่งยืนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นเองในสินค้าประเภทรองเท้าแล้ว

23.06.2021
  • LOADING...
gucci

อีกหนึ่งมิติเรื่องความยั่งยืนที่หลายแบรนด์แฟชั่นยังคงติดกับดักของการเสาะหาวัสดุทนแทน คือการใช้วัสดุประเภทหนังสัตว์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมโลก และเพื่อสานต่อความยั่งยืนของ Gucci ที่ไม่ได้มีแค่การลดใช้พลาสติกหรือปลูกป่าทดแทน ล่าสุดแบรนด์ได้เริ่มใช้วัสดุหนังเทียมแบบยั่งยืนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้นเองในสินค้าของแบรนด์แล้ว 

 

วัสดุใหม่นี้มีชื่อว่า Demetra ซึ่งได้ชื่อมาจากเทพกรีก Demeter หรือ Ceres ของชาวโรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งพืชผล การเพาะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ เป็นวัสดุทางเลือกรูปแบบใหม่ที่ Gucci ใช้เวลาวิจัยและพัฒนากว่า 2 ปี ผลิตในโรงงานของ Gucci ที่แคว้นทัสคานี ทางตอนกลางของประเทศอิตาลี เพื่อให้ได้วัสดุที่ทนทานและยืดหยุ่นไม่แพ้หนังแท้ 

 

กระบวนการผลิต Demetra เกิดขึ้นจากส่วนผสมระหว่างวัสดุจากพืช (Plant-based Material) จำนวน 77% เข้ากับเส้นใยวิสโคสและเนื้อไม้ที่ได้จากต้นไม้ในผืนป่าที่ได้รับการควบคุมดูแล บวกกับโพลียูรีเทนชีวภาพที่มากจากแหล่งหมุนเวียน ส่วนเศษวัสดุ Demetra เหลือจากการผลิตสินค้า จะถูกนำไปสู่กระบวนการอัปไซเคิลและใช้ซ้ำผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Gucci-Up ของแบรนด์ต่อไป

 

โดยสินค้าประเภทแรกที่เริ่มใช้วัสดุ Demetra คือรองเท้ารุ่น Gucci Basket, Gucci New Ace และ Gucci Rhyton ที่ใช้วัสดุหนังเทียมในการตกแต่งภายนอก ผสมกับวัสดุแบบยั่งยืนชิ้นอื่นอย่างฝ้ายออร์แกนิกในการบุชั้นใน ฮาร์ดแวร์เหล็กและโพลีเอสเตอร์แบบรีไซเคิล ซึ่งวางจำหน่ายแล้วที่ร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ในราคาคู่ละ 590-790 ยูโร ซึ่งไม่ต่างจากราคาสินค้าปกติ ส่วนสินค้าประเภทอื่นๆ จะตามมาในเวลาต่อไป

 

หลายแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อหาวัสดุทดแทนหนังแท้มากขึ้น ถึงแม้ว่าหนังสัตว์ยังเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่พึ่งพาสินค้าประเภทหนังแท้ในการหารายได้เข้าบริษัทหันมาใช้วัสดุที่ปราศจากความรุนแรง อย่างเช่น Hermès แบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องหนังลักชัวรี เริ่มใช้หนังเทียมที่ผลิตจากเห็ดในห้องแล็บ โดยใช้เส้นใยของรา (Mycelium) ในการผลิตกระเป๋ารุ่น Victoria 

 

นอกจากเรื่องสิทธิ์ของสัตว์แล้ว การใช้ทรัพยากรในการฟอกหนังก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน ตามข้อมูลของ Collective Fashion Justice การผลิตสินค้าประเภทเครื่องหนังหนึ่งชิ้นอย่างกระเป๋าถือหรือรองเท้าบู๊ต อาจต้องใช้น้ำเฉลี่ยถึง 12,000-17,000 ลิตร ส่วนการผลิตวัสดุหนังที่เป็นผลพลอยได้จากการปศุสัตว์เพื่อการผลิตนมและอาหาร ยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ของ UN การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นมีเทนและไนตรัสออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 14% และ 65% นี้มาจากสัตว์ประเภทวัว

 

ภาพ: Gucci

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X