×

พลังคน Gen Z ต้องมา! Gucci ทำรีเสิร์ชกว่า 80 หน้า ประเด็น Gender Fluidity

24.12.2018
  • LOADING...

หลายคนอาจสงสัยเมื่ออ่านหัวข้อข่าวนี้ว่า แบรนด์แฟชั่นอย่าง Gucci เกี่ยวข้องอะไรกับการรีเสิร์ชเรื่องประเด็นเพศในสังคม เพราะควรอยู่แต่กับเรื่องราวของสวยๆ ชิคๆ “เอาบัตรเครดิตฉันไปรูดเลย” แต่ที่จริงแล้ว Gucci เป็นหนึ่งในแบรนด์ระดับมหาอำนาจที่ได้โฟกัสงานการกุศลอย่างต่อเนื่อง และศึกษาประเด็นสังคมในหลากหลายบริบทตั้งแต่ปี 2013 กับการตั้งกองทุน Chime for Change ร่วมกับนักแสดงสาว ซัลมา ฮาเย็ค ปีโน (Salma Hayek Pinault) ภรรยาเจ้าของ Gucci และนักร้องสาว บียอนเซ่ โนวส์-คาร์เตอร์ (Beyoncé Knowles-Carter) ซึ่งในระยะเวลา 5 ปี ได้ระดมเงินกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยเรื่องการศึกษา สุขภาพ และความเท่าเทียมใน 89 ประเทศ

 

ล่าสุดทางกองทุน Chime for Change ได้ทำงานร่วมกับหน่วย Irregular Labs ที่ช่วยเหลือผู้หญิงและกลุ่มคน Gender Non-Comforming เพื่อทำรีเสิร์ชและผลงานวิจัยประเด็น Gender Fluidity หรือเพศลื่นไหลในกลุ่มคน Gen Z ที่กำลังเป็นตัวแปรสำคัญและขับเคลื่อนสังคมโลก โดยแตกประเด็นเป็นหลายแขนง ทั้งเพศศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา วัฒนธรรมป๊อป ดนตรี แฟชั่น เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยผลงานวิจัยในครั้งนี้มีนักเขียน นิโคเลีย ริปส์ (Nicolaia Rips) เป็นคนดูแล มีการพูดคุยกับผู้คนในกว่า 30 ประเทศ และมีความหนามากกว่า 80 หน้า ซึ่งเราได้นำประเด็นบางส่วนและสถิติมาให้อ่าน

 

 

  • 1 ใน 3 ของชาว Gen Z ไม่ได้มองตัวเองว่าชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual)
  • 82% ของชาว Gen Z ที่สัมภาษณ์ รู้สึกว่า หากองค์กรหรือแบรนด์ไหนเลือกที่จะสู้เรื่องสิทธิของผู้หญิง พวกเขาก็ควรสู้เพื่อกลุ่มเพศทางเลือกอื่นๆ ที่โดนกีดกันทางสังคมด้วย (Marginalized)
  • 53% ของชาว Gen Z ที่สัมภาษณ์ รู้สึกว่า เพศหญิง (Female) และความเป็นผู้หญิง (Feminine) เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน
  • 71% ของผู้หญิงชาว Gen Z ที่สัมภาษณ์ รู้สึกกดดันในการต้องสะท้อนลักษณะความเป็นผู้หญิง (Feminine) ออกมา
  • 25% ของชาว Gen Z ที่สัมภาษณ์ เชื่อว่า ในช่วงชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ (Gender Identification) โดยราว 45% เชื่อว่า จะเปลี่ยน 2 ถึง 3 ครั้ง
  • มีเพียง 27% ของชาว Gen Z ที่สัมภาษณ์ คิดว่า หากคุณใช้สรรพนามที่ไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่ง (Gender Neutral Pronoun) คุณควรต้องแต่งตัวเพื่อสะท้อนสิ่งนั้น

 

 

  • การไปงาน Prom ของโรงเรียน โดยเฉพาะในสังคมสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงเรื่องเพศและการแต่งตัว อย่างเช่น ผู้หญิงได้วิวัฒนาจากการใส่ชุดเดรส Ball Gown ฟูฟ่อง พร้อมรองเท้ามีส้น เปลี่ยนมาเป็นแมตช์เดรสกับรองเท้าผ้าใบ จนถึงตอนนี้กับ Gen Z ที่มีความเป็นตัวเอง อาจเลือกใส่กางเกงขายาวกับเสื้อเชิ้ต หรือชุดที่ตัวเองอยากนำเสนอโดยที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบ
  • มีเพียงแค่ 1 ใน 3 ของ Gen Z ที่สัมภาษณ์ รู้สึกว่า ตอนพบคนอื่นครั้งแรก คนคนนั้นควรระบุเรื่องสรรพนามและเพศสภาพของตัวเอง
  • การที่แบรนด์อยากสนับสนุนเรื่องราวความหลากหลายทางเพศมากขึ้น (Diversity) แบรนด์ไม่ควรแค่เพิ่มบุคคลหน้ากล้อง เช่น คนที่ขึ้นแคมเปญหรือเดินรันเวย์ที่แสดงประเด็นนี้ แต่เบื้องหลังก็ควรว่าจ้างให้คนทุกเพศในการทำงาน และอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ
  • แบรนด์ที่อยากเล่นประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ (Diversity) ก็ควรมีสินค้าที่ราคาเข้าถึงได้ เพื่อไม่ให้ราคาแพงจนแตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นแค่การทำมาร์เก็ตติ้ง

 

 

  • ในซีซัน Fall/Winter 2018 ของวงการแฟชั่น เราได้เห็นคนข้ามเพศบนรันเวย์สูงสุดในประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยผู้หญิงข้ามเพศ 56 คน และ 8 คน ที่ไม่ระบุเพศ (Non-Binary)
  • เรื่องราวความเป็นชาย (Masculinity) ในยุคสมัย Gen Z ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมป๊อปและเพลงฮิปฮอปที่เราได้เห็นศิลปินอย่าง Tyler The Creator, แฟรงก์ โอเชียน (Frank Ocean), เจเดน สมิธ (Jaden Smith) และ โดนัลด์ โกลเวอร์ (Donald Glover) เปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสิ่งที่ตัวเองร้อง ชุดที่ใส่ หรือท่าทางที่แสดงออกมา
  • Gen Z มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมแก่ทุกคนคือ การมีโอกาสในหน้าที่การงานที่เท่ากันหมดทุกคน

 

สำหรับรายงานทั้งหมดสามารถเข้าไปอ่านได้ที่: The Irregular Report

 

หมายเหตุ: บางคำไม่มีศัพท์เฉพาะในภาษาไทย และมีการตีความที่ต่างกัน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านข้อมูล

 

ภาพ: Courtesy of Gucci

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising