×

Gucci Cosmos นิทรรศการสไตล์ Immersive ที่ตอกย้ำความสำคัญของแบรนด์ Gucci ตลอด 102 ปีอย่างลงตัว

30.04.2023
  • LOADING...
Gucci Cosmos

ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับผมแล้วแบรนด์ Gucci ถือได้ว่าขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และสร้างบรรทัดฐานและกรอบความคิดสร้างสรรค์อย่างมหาศาลที่ไม่ใช่แค่ในวงการแฟชั่น แต่กับวัฒนธรรมสังคมรอบๆ ตัวเราทั่วทุกมุมโลก ผมเดินเล่นที่สยามพารากอน, ถนน Champs-Élysées ที่ปารีส หรือรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน JFK ที่มหานครนิวยอร์ก เชื่อได้ว่าจำนวนรองเท้า กระเป๋า แว่นตา หรือแก็ดเจ็ตที่คนใช้จาก Gucci ก็เกินที่จะนับบนนิ้วทั้งสองมืออย่างแน่นอน และหากเสิร์ชใน Google ว่า ‘Gen Z Favorite Luxury Brand’ คำตอบที่ขึ้นมาน่าจะบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าแบรนด์ลักชัวรีเจ้าไหนสำคัญมากๆ

 

แต่ในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการแฟชั่นของ THE STANDARD POP ผมคิดเสมอว่านอกเหนือจากที่เราจะรายงานความสำเร็จของ Gucci เม็ดเงินตัวเลขมูลค่าทางสื่อ อัปเดตไอเท็มสินค้ากระเป๋าใหม่ หรือใครได้รับเลือกให้เป็น Global Brand Ambassador คนล่าสุด สิ่งหนึ่งที่เราควรย้ำเตือนอยู่เสมอคือรากฐานความเป็นมาของแบรนด์ และให้คนได้เห็นว่าแบรนด์ลักชัวรีอย่าง Gucci ไม่ใช่แค่มีดีจากเปลือกนอกที่จะใช้สินค้าแล้วจะรู้สึกว้าว ชิค สวยปัง หรือทำให้คนรอบตัวพูดว่า “OMG I Need This!” โดยสิ่งนี้ผมได้เรียนรู้และเห็นผ่านนิทรรศการระดับโลก Gucci Cosmos ที่เปิดตัวครั้งแรก ณ อาคาร West Bund Art Center ของนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งจะจัดให้ชมกันจนถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

 

Gucci Cosmos เป็นนิทรรศการรูปแบบ Immersive ที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของ Gucci ตลอด 102 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การก่อตั้งแบรนด์โดย Guccio Gucci ที่ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีในปี 1921 โดยตัวนิทรรศการแบ่งออกเป็น 8 ห้อง พร้อมได้ Maria Luisa Frisa ภัณฑารักษ์แฟชั่นชาวอิตาลีมาเป็นคนเลือกคัดสรรไอเท็มที่จะจัดแสดง และมี Es Devlin มาออกแบบนิทรรศการให้ ซึ่งเธอคนนี้ก็เคยอยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ต The Formation World Tour ของ Beyoncé, After Hours Til Dawn Stadium Tour ของ The Weeknd และพิธีปิดโอลิมปิกของลอนดอนเมื่อปี 2012

 

Gucci Cosmos

 

ห้องแรกของ Gucci Cosmos ใช้ชื่อว่า Portals เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ตอนที่ Guccio Gucci เป็นพนักงานยกกระเป๋าที่โรงแรมสุดไอคอนิกของลอนดอนอย่าง The Savoy ซึ่งการเข้ามาในห้องนี้ก็ต้องผ่านประตูหมุน (Revolving Door) ที่มีอยู่ 8 บาน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประตูหมุนของ The Savoy นั่นเอง ก่อนเราจะได้เห็นบรรดาหีบใส่ของ กระเป๋าเดินทาง และเคสใส่กีตาร์ที่หมุนบนสายพานลำเลียงแบบวงกลม 360 องศา โดยห้องนี้ผมถือว่าเป็นการตีความจุดเริ่มต้นของแบรนด์ได้อย่างตรงตัว แต่มีชั้นเชิง พร้อมกับเชื่อมต่อกับการที่ในช่วงหลังทาง Gucci ได้หันมาโฟกัสด้านไลน์กระเป๋าเดินทาง Gucci Valigeria อย่างมาก การันตีด้วยแคมเปญที่ได้ Ryan Gosling มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ รวมถึงเปิดร้านกระเป๋าเดินทางโดยเฉพาะ ณ ถนน Rue Saint-Honoré ที่กรุงปารีส

 

Gucci Cosmos

 

ต่อมาที่ห้อง Zoetrope พูดถึงอิทธิพลของกิจกรรมขี่ม้า (Equestrian) ที่มีต่อ Gucci มาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะเมื่อ Guccio Gucci ก่อตั้งแบรนด์ตอนแรกเขาได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มคนชนชั้นสูง หรือที่เรียกว่า Aristrocrats ที่ชอบไลฟ์สไตล์การขี่ม้าเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งไอเท็มไอคอนิกอย่าง Horsebit Loafer ที่กำลังครบรอบ 70 ปีในปีนี้ และกระเป๋า Bamboo 1947 ต่างได้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมนี้ โดยความน่าสนใจของห้องทรง U-Shape นี้อยู่ที่ว่าทาง Es Devlin ได้ทำโครงสร้างขึ้นมาโดยจัดวางแต่ละไอเท็มบนแสตนด์แยกกันเป็นช่องๆ และเมื่อเข้าไปในห้องสักพักจะมีการฉายโปรเจกเตอร์วิดีโอม้าวิ่งที่เพิ่มจังหวะไปเรื่อยๆ กับเพลงบีตเทคโนหนักๆ เหมือนอยู่คลับ Rave ที่อังกฤษ ซึ่งถือว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อย

 

Gucci Cosmos

 

ห้องที่สามชื่อ Eden เน้นไปที่ลวดลายดอกไม้ Flora ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง House Code ของ Gucci ที่เริ่มต้นจากการที่ Rodolfo Gucci ได้จ้างให้ศิลปินชาวอิตาลี Vittorio Accornero de Testa วาดเป็นลายบนผ้าพันคอผ้าไหมเพื่อมอบเป็นของขวัญให้ Grace Kelly เมื่อปี 1966 ซึ่งต่อมากลายเป็นลวดลายที่ถูกเล่นเป็นประจำในหลากหลายหมวดสินค้าของ Gucci โดยสำหรับผมแล้ว ลวดลาย Flora เป็นอะไรที่ผมมักจำได้ในยุคที่ Frida Giannini เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ต่อจาก Tom Ford และก่อน Alessandro Michele ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมต้องชื่นชมเกี่ยวกับนิทรรศการ Gucci Cosmos คือมีการไฮไลต์ผลงาน Frida Giannini อยู่ไม่น้อย และทำให้เห็นว่าทางแบรนด์ก็อยากยกย่องผลงานของเธอเทียบเท่ากับคนอื่น โดยสาวก Gucci อาจจำได้ว่า Frida Giannini เคยเลือกให้ Charlotte Casiraghi ขึ้นแคมเปญคอลเล็กชันพิเศษ Forever Now ที่นำลวดลาย Flora มาเล่น ซึ่ง Charlotte Casiraghi ก็คือหลานสาวแท้ๆ ของ Grace Kelly จุดเริ่มต้นของลายนี้นั่นเอง

 

Gucci Cosmos

 

ห้องที่ 4 ใช้ชื่อว่า Two ซึ่งถือว่าเป็นจุด Instagrammable ที่สุดของนิทรรศการ Gucci Cosmos ในมุมมองของผม เพราะเป็นการนำรูปปั้นสีขาวของคู่แฝดสูง 10 เมตรมายื่นติดกัน พร้อมมีการใช้โปรเจกเตอร์ฉายลวดลายสูทอันน่าจดจำที่ Tom Ford, Frida Giannini และ Alessandro Michele เคยดีไซน์ลงไป อย่างเช่นสูทสีแดงแห่งยุค 90 ที่ Gwyneth Paltrow ใส่ไปงาน MTV Video Music Awards เมื่อปี 1996 เป็นต้น โดยอีกหนึ่งเสน่ห์ของห้องนี้คือตัวรูปปั้นของคู่แฝดมีความเป็น Gender Fluid ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนคอลเล็กชันสุดท้ายของ Alessandro Michele ในชื่อ Gucci Twinsburg 

 

Gucci Cosmos

 

ห้องที่ 5 มาในนาม Archivo เล่าถึงความเป็นมาของกระเป๋ารุ่นซิกเนเจอร์ของ Gucci เช่น Jackie 1961, Gucci Diana และ Gucci Bamboo 1947 เป็นต้น ซึ่งเราจะได้เห็นและเปรียบเทียบกับเวอร์ชันรุ่นแรกด้วย และเห็นพวกภาพเอกสารจากอาร์ไคฟ์ เช่น ภาพสเกตช์ต่างๆ โดยห้อง Archivo มาในเฉดสีฟ้าที่ชวนนึกถึงฉากแฟชั่นโชว์สุดไอคอนิก Fall/Winter 2018 กับคอลเล็กชันที่ Alessandro Michele ให้นางแบบและนายแบบถือพร็อพศีรษะตัวเองที่ทำร่วมกับ Makinarium บริษัทสเปเชียลเอฟเฟกต์ชื่อดัง

 

Gucci Cosmos

 

Cabinet of Wonders คือชื่อของห้องที่ 6 ใน Gucci Cosmos ที่มีตู้คอนเทนเนอร์สีแดงอยู่ตรงกลาง พร้อมกับมีลิ้นชักอิเล็กทรอนิกส์เข้า-ออกที่เผยให้เห็นถึงหลากหลายไอเท็มจากอาณาจักร Gucci ตลอด 102 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าคลัตช์กำมะหยี่จากยุค 50, กีตาร์ไฟฟ้าสีดำที่ Tom Ford ได้ดีไซน์ช่วงยุค 2000 ต้นๆ หรือที่สร้างความซาบซึ้งใจให้ผมมากที่สุดก็คือเสื้อเบลาส์สีแดงสดประดับ Pussy Bow และเข็มขัดที่หัว GG ซึ่งเป็นลุคแรกที่ Alessandro Michele ส่งให้นายแบบเดินบนรันเวย์เมื่อต้นปี 2015 ในฐานะครีเอทีฟไดเรกเตอร์ โดยถือว่าช็อกวงการแฟชั่น เพราะเป็นการเริ่มเล่นกับคอนเซปต์ Gender Fluidity ที่ไม่มีแบรนด์ลักชัวรียักษ์ใหญ่เจ้าไหนเคยทำมาก่อน ซึ่งหากไม่มีวันนั้นเชื่อว่าประเด็น Gender Fluidity ในวงการนี้ก็คงยังติดกับกรอบเดิมๆ ไม่มากก็น้อย

 

Gucci Cosmos

 

ห้องที่ 7 กับ Carousel ที่เป็นการสร้างกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยักษ์ในห้องโถงใหญ่ และในนั้นมีหุ่นโชว์เสื้อผ้า 32 หุ่นหมุนเวียนบนสายพาน ซึ่งแต่ละลุคที่ทาง Maria Luisa Frisa เลือกมาถือว่าเป็นไฮไลต์ของครีเอทีฟไดเรกเตอร์ทั้ง 3 คนที่เคยอยู่ Gucci และเป็นที่จดจำในป๊อปคัลเจอร์ เช่น ชุดเดรสพลีตสีม่วงจากคอลเล็กชัน Love Parade ที่ Lady Gaga ใส่ไปงานพรีเมียร์ House of Gucci ที่ลอนดอน และยังมีชุดเดรสสายเดียวสีขาวสุดเซ็กซี่จากคอลเล็กชัน Fall/Winter 1996 ที่ Tom Ford ดีไซน์ให้ Kate Moss ใส่บนรันเวย์และพลิกประวัติศาสตร์ ซึ่งวันที่ผมได้ไปดู Gucci Cosmos และเห็นชุดนี้ก็แอบต้องทำใจว่าจะถึงวัฏจักรของวงการแฟชั่นที่สักวันหนึ่งดีไซเนอร์ที่เราโปรดปรานก็ต้องวางมือ เพราะในวันนั้นทาง Tom Ford เพิ่งประกาศอำลาวงการด้วยการปล่อยคอลเล็กชันสุดท้ายให้กับแบรนด์ของเขา

 

Gucci Cosmos

 

ปิดท้ายที่ห้อง Duomo ที่น่าจะสร้างความว้าวได้ไม่น้อย เพราะเป็นการจำลอง​โบสถ์ Santa Maria del Fiore ของเมืองฟลอเรนซ์ บ้านเกิดแบรนด์ Gucci ซึ่งหากไปด้านหลังจะมีบันไดให้ขึ้นไปตรงกลางของตัวโบสถ์ และเมื่อเดินเข้าไปและมองไปยังเพดานจะเห็นโปรเจกชันลวดลายสุดคลาสสิกของ Gucci โดยสำหรับผมแล้ว ด้วยสเกลความยิ่งใหญ่และการตีความที่แปลกใหม่มากๆ ของโซนอย่างห้อง Duomo นี้แหละ ทำให้เชื่อมั่นว่า Gucci Cosmos จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนหากนำไปจัดทั่วทุกมุมโลก และ Gucci ก็ถือว่าฉลาดมากๆ ที่ชวนให้ Es Devlin มาดีไซน์ เพราะเธอเข้าใจดีว่าต้องรังสรรค์นิทรรศการอย่างไรในยุคนี้ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ยอมเดินทางมาดูและสัมพันธ์ ซึ่งไม่ได้ต้องการแค่มาดูสินค้าในตู้กระจกหรือหุ่นแบบน่าเบื่อ แต่ต้องการมุมที่สามารถถ่ายรูปเอาไปลงในโซเชียล และมุมที่เล่นกับเทคโนโลยีที่ทำให้เห็นแบรนด์ล้ำหน้าไปอีกก้าว

 

หากให้มองภาพรวมของนิทรรศการ Gucci Cosmos ส่วนตัวผมเปรียบเสมือนบท Prequel ก่อนที่ Gucci กำลังก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่กับการได้ Sabato De Sarno มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เพราะด้วยการที่ Gucci Cosmos เป็นการย้อนไปมองประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแบรนด์ ในวันเดียวกันที่นิทรรศการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ทาง Sabato De Sarno ได้โพสต์อัลบั้ม Farewell ทีมของเขาที่ Valentino ณ กรุงโรมพอดี ซึ่งหลายคนในวงการต่างตั้งคำถามและคาดเดาต่างๆ นานาว่าเขาจะทำให้ Gucci ไปยังทิศทางไหนในอนาคต และยิ่งได้ดูนิทรรศการ Gucci Cosmos ก็แอบคิดทำให้คิดว่า Sabato De Sarno จะหยิบเรื่องราวอะไรในอาร์ไคฟ์ของแบรนด์มาเล่นและต่อยอดเพื่อเสนอคอลเล็กชันแรกช่วงเดือนกันยายนนี้ ที่จะเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์แห่งปีอย่างแน่นอน

 

 

ภาพ: Gucci

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories