นับเฉพาะหนังในจักรวาล Marvel (MCU) ที่ถูกสร้างและออกฉายในโรงหนัง Guadians of the Galaxy Vol. 3 (2023) ถูกจัดอยู่ใน Phase 5 (Phase หนึ่งมีหนังประมาณ 6-11 เรื่อง) หรือถ้าไล่เรียงตามลำดับสายพานการผลิต ก็เป็นหนังเรื่องที่ 32 โดยมี Iron Man ในปี 2008 เป็นหัวแถว
สำหรับขาจร ลำพังแค่ลองทบทวนรายชื่อและไม่ต้องตามดูให้ครบถ้วน ก็เป็นเรื่องที่น่าเหน็ดเหนื่อยในตัวมันเอง ขณะที่สำหรับเหล่าสาวกผู้อุทิศตน นี่เป็นการเดินทางที่แสนยาวไกลจริงๆ และถ้าหากจะพูดกันอย่างแฟร์ๆ คุณภาพของหนังแต่ละเรื่องก็คละเคล้ากันไป
หลายเรื่องก็สร้างความเลื่อมใสศรัทธาได้อย่างแรงกล้า (Avengers: Endgame, Spider-Man: No Way Home, Captain America: Civil War, Black Panther) แต่อีกหลายเรื่อง และโดยเฉพาะหนังที่คาบเกี่ยวจาก Phase 4 ไป Phase 5 ก็พูดอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่า มันไม่ได้หยิบยื่นอะไรที่ท้าทาย ทั้งยังซ้ำซากจำเจ (Doctor Strange in the Multiverse of Madness, Thor: Love and Thunder, Ant-Man and the Wasp: Quantumania หรือแม้กระทั่ง Black Panther: Wakanda Forever) และก่อให้เกิดคำถามว่า กรุพระเครื่องยี่ห้อ MCU ยังคงความศักดิ์สิทธิ์และน่าเกรงขามอีกมากน้อยแค่ไหน เพียงใด
จริงๆ แล้วการเรียกร้องความพิเศษ ความแปลกใหม่ และเป็นตัวของตัวเอง จากแฟรนไชส์ที่มีขนาดใหญ่โตและเทอะทะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะก็อย่างที่รับรู้ หนัง Marvel แต่ละเรื่องไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ หากเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอันกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาลที่เหมือนกับถูกออกแบบเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว และการที่หนังสักเรื่องหรือหลายเรื่องจะทำตัวนอกลู่นอกทางหรือแตกแถว ก็อาจก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปถึงหนังเรื่องอื่นอย่างช่วยไม่ได้ และนั่นส่งผลให้ซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนแผลงฤทธิ์ได้แต่เฉพาะในวิกของตัวเอง
แต่ก็นั่นแหละ ในเงื่อนไขของการเป็นหนังกระแสหลักที่สร้างเพื่อกลุ่มคนดูวงกว้าง Guardians of the Galaxy ทั้ง 3 ภาค ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ James Gunn ตั้งแต่เริ่มแรก (ทั้งในฐานะคนเขียนบทและกำกับ ผู้ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังการถูก Disney ไล่ออกและจ้างกลับมาใหม่ยังคงประเด็นโจษขานกันไม่เลิกรา) น่าจะเป็นหนังที่ดูเหนือความคาดหมาย หรือแม้กระทั่ง ‘บ้าบอคอแตก’ มากกว่าเพื่อน ที่แน่ๆ มันพยายามไม่เชื่องหรือปล่อยให้คนดูทำนายทายทักได้ง่ายดาย
หนึ่งในความห่ามของหนังซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ก็อาจใช้เป็นเครื่องหมายบอกถึงความพยศและการทดสอบแนวต้านของคนทำหนังก็คือ การที่ Guadians of the Galaxy Vol. 3 ได้ชื่อว่าเป็นหนัง Marvel เรื่องแรกที่ตัวละครหลุดคำผรุสวาท (ขึ้นต้นด้วยอักษร F) ออกมาในฉากอันแสนฉุกละหุกที่ Quill พระเอกของเรา พยายามอธิบายวิธีเปิดประตูรถยนต์รุ่นเรโทรให้ Nebula ผู้ซึ่งไม่ประสีประสากับเทคโนโลยีล้าหลังแบบนี้ และว่ากันตามจริง มันเป็นฉากที่ตลกมากกว่าหยาบคาย และคำคำนั้นก็โผล่มาแบบเหมาะควรด้วยกาลเทศะจริงๆ
และไหนๆ ก็ไหนๆ สิ่งที่เรียกว่าเป็นเสมือนสปิริตของหนังชุด Guardians of the Galaxy และยังคงโดดเด่นและชัดแจ้งใน Vol. 3 ก็คือความเป็นหนังแฟนตาซีผสมนิยายวิทยาศาสตร์เกรดบี ซึ่งมันถูกแสดงผ่านองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม เมกอัพ ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก ทั้งในลักษณะของการรำลึก คารวะ และหยอกล้อความอนาถาและน่าสมเพชเวทนาคละเคล้ากันไป (ใครลองนึกถึงยูนิฟอร์มของหน่วยรักษาความปลอดภัยบนดาวดวงแรกที่กลุ่มตัวเอกบุกไปล้วงข้อมูลที่ดูเหมือนมาสคอตของยี่ห้อยางรถยนต์ ก็น่าจะเห็นภาพชัดแจ้ง)
อีกอย่างที่เป็นเครื่องหมายการค้าของหนังชุดนี้ก็คือ บรรดาเพลงป๊อปและร็อกจากทศวรรษ 1970 เป็นส่วนใหญ่ จากเทปคาสเซตต์รวมฮิตของพระเอก ที่หลายครั้งถูกใช้เป็น Background Music แทนดนตรีบรรเลง และมันแทบจะทำให้หนังซูเปอร์ฮีโร่ของจักรวาล Marvel เรื่องอื่นแอบอ้างความคิดสร้างสรรค์ในส่วนนี้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
กระนั้นก็ตาม โครงสร้างที่แข็งแกร่งจริงๆ ได้แก่ การออกแบบบุคลิกตัวละคร ซึ่งก็อย่างที่มองเห็นโทนโท่ว่า ตำนานผจญภัยนี้เป็นการรวบรวมเอากลุ่มคนที่ไม่เข้าพวก กระทั่งดูจนตรอกและสิ้นหวัง เข้าไว้ด้วยกัน
ข้อสำคัญภายใต้กรอบของการเป็นตัวละครที่มีพลังอำนาจหรือความสามารถพิเศษกว่าใครๆ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง หรือแม้กระทั่งปมด้อยในแบบปุถุชนคนธรรมดา ‘มากๆ’ ซึ่งไม่มากไม่น้อย กลายเป็นเงื่อนไขที่นำพาให้คนดูสัมผัสได้ถึงความมีเลือดเนื้อ และรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันกับตัวละคร
และต้องบอกว่า James Gunn ใช้ประโยชน์จากความอ่อนไหวเปราะบางในส่วนนี้กับ Vol. 3 ได้อย่างเฉลียวฉลาดและแยบยล ผ่านเส้นเรื่องสองเส้นที่มุ่งหน้ากันไปคนละทิศทาง
เรื่องหนึ่งเป็นของ Peter Quill (Chris Pratt) ผู้ซึ่งในตอนที่หนังพาคนดูไปพบตัวละครนี้ เขายังถอนตัวจากความโศกเศร้าเพราะสูญเสียคนรัก Gamora (Zoe Saldaña) ที่ถูก Thanos จับโยนจากหน้าผาใน Avengers: Infinity War (2018) ไม่ได้ แต่คงไม่ใช่เรื่องลึกลับดำมืดแต่อย่างใด
และหนังตัวอย่างก็ระบุอย่างไม่ปิดบังอำพรางว่า อีกปางหนึ่งของ Gamora ได้กลับมาร่วมผจญภัยกับปฏิบัติการครั้งใหม่นี้ เพียงแต่ว่าเธอไม่มีข้อมูลหรือความทรงจำแต่ครั้งเก่าก่อนกับพระเอกที่ยังคงหลงละเมอเพ้อพก และสถานการณ์ระหว่างตัวละครทั้งสองก็คล้ายหนังตลกพ่อแง่แม่งอน ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามรื้อฟื้นความหลัง ขณะที่อีกฝ่ายไม่ยอมเล่นด้วย
และหนึ่งในฉากที่ตลกที่สุดของหนังอยู่แถวนี้เอง (จริงๆ แล้ว Marvel ตัดฉากนี้ออกมาเป็นคลิปให้ดูได้ในช่อง YouTube ด้วย) นั่นคือตอนที่ Quill เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดในใจกับคนรักผ่านระบบอินเตอร์คอม โดยหารู้ไม่ว่าทุกคนในทีมต้องทนฟังประโยคเลี่ยนๆ ด้วยความกล้ำกลืน บ้างก็อึดอัดทรมาน
ว่าไปแล้วนี่เป็นฉากที่โชว์ฝีมือกำกับของ James Gunn อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการหลอกล่อให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปกับห้วงเวลาที่ซาบซึ้งตรึงใจ และเชื่อว่าหลายคนก็คงเอาใจช่วย
ทว่าชั่วพริบตาและรวดเร็วยิ่งกว่า Thanos ดีดนิ้วในหนังเรื่อง Endgame ฉากโรแมนซ์ก็แปรเปลี่ยนเป็นตลกซิตคอมที่น่าจะเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างครึกโครม
ส่วนที่น่าทึ่งก็คือ ในท้ายที่สุดแล้วผู้สร้างก็หาทางออกให้กับความสัมพันธ์ที่มาถึงทางตันของคนทั้งสองได้อย่างชนิดบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นทีเดียว
แต่ก็อีกนั่นแหละ เส้นเรื่องหลักของหนังเกี่ยวข้องกับ Rocket (เสียงพากย์โดย Bradley Cooper) ผู้ซึ่งย้อนกลับไปสองภาคก่อนหน้า มันไม่เคยยอมให้ใครมาเรียกว่าแร็กคูนหรือตัวอะไรก็ตาม และว่ากันตามจริง เราไม่เคยรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับคาแรกเตอร์ที่ดูฉลาดเป็นกรดนี้ นอกจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม
และคนดูได้แต่นึกสงสัยว่า เรื่องราวแต่หนหลังแบบไหนกันที่เจ้า Rocket แอบซ่อนไว้ภายใต้เกราะกำบังแน่นหนาของการเป็นตัวประหลาดที่มีทัศนะเย้ยหยันแดกดัน
และปมเรื่องของ Vol. 3 ที่ว่าด้วยมวลหมู่สมาชิกผู้พิทักษ์จักรวาลต้องดิ้นรนแข่งกับเวลาเพื่อช่วยชีวิต Rocket ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการบุกจู่โจมอย่างปัจจุบันทันด่วนของ Adam Warlock ช่วงต้นเรื่อง ก็ค่อยๆ ปอกเปลือกนอกของเจ้าแร็กคูนกลายพันธุ์ให้คนดูได้รับรู้เรื่องแต่หนหลัง ผ่านฉากย้อนอดีตที่หนังแทรกเข้ามาเป็นระยะ
และอย่างหนึ่งที่บอกได้แน่ๆ ก็คือ บาดแผลเมื่อครั้งที่เจ้าตัวเป็นสัตว์ทดลองในห้องแล็บยังคงอักเสบกลัดหนอง และทีละน้อย โน่นนี่นั่นที่หนังถ่ายทอด ก็น่าจะทำให้พวกเรามองเห็นตัวละครนี้ด้วยสายตาไม่เหมือนเดิม
อีกครั้งหนึ่งที่ต้องชมคนทำหนัง ในแง่ที่เขาสอดแทรกฉากดราม่าที่ดูหม่นมืดแบบนี้เข้ามาในหนังที่ขับเคลื่อนด้วยแอ็กชันอึกทึกครึกโครมเป็นหลักได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน หรืออย่างน้อยเราไม่รู้สึกว่ากำลังถูกคนทำหนังตั้งหน้าตั้งตาบีบเค้นให้ต้องสะเทือนไหวไปกับวิบากกรรมแต่ครั้งเก่าก่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย และทั้งหมดคลับคล้ายว่างอกเงยออกมาจากปมเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ
รวมๆ แล้วถ้าจะมีอะไรที่น่าเสียดายหรือน่าผิดหวัง ก็ตรงที่ตัวร้ายที่เรียกตัวเองว่า High Evolutionary ดูแข็งกระด้างและน่าเบื่อเกินไป ลึกๆ แล้วหมอนี่ก็เหมือนกับ Thanos ในแง่ที่เป้าประสงค์ของเขาสะท้อนความปรารถนาอันแรงกล้าต่อมวลมนุษยชาติ
ทว่าวิธีการของเขามันโหดเหี้ยมและเลือดเย็น อีกทั้งคาแรกเตอร์นี้ดูไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเหมือน Thanos (และเราได้เห็นแต่ด้านที่เกรี้ยวกราด) อันส่งผลให้จนแล้วจนรอดเยื่อใยระหว่างเขากับ Rocket รวมถึงคนดู พลอยแห้งแล้งเย็นชา และการอยู่หรือไปของบุคลิกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่พวกเราต้องแคร์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่พูดได้ไม่อ้อมค้อมว่าคนทำหนังดูพิถีพิถันมากๆ ก็คือ บทสรุปของเรื่องที่สันนิษฐานได้ว่า จนป่านนี้หลายคนคงรับรู้ว่า Guardians of the Galaxy Vol. 3 ไม่ได้เป็นแค่หนังปิดไตรภาค หากแต่มันคือวาระที่ ‘งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา’ และก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครจะ ‘อ่าน’ และตีความตอนจบของหนังเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงกับการที่ตัว James Gunn ย้ายค่ายไปทำหนังให้กับ DC คู่แข่งตลอดกาลของ Marvel
พูดง่ายๆ มันดูเหมือนว่า ภารกิจสุดท้ายของ Gunn คือจัดการส่งให้ทุกๆ บุคลิกตัวละครได้ลงเอยในแบบที่นอกจากไม่มีใครถูกทิ้งขว้างแล้ว แต่ละคนยังมีบทสรุปหรือหนทางไปต่อที่น่าเชื่อว่าแฟนๆ และกองเชียร์คงร่วมชื่นชมยินดี
ด้วยเหตุนี้เอง คำถามที่ว่า Guardians of the Galaxy จะมีตอนต่อหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงๆ หนังก็ให้เงื่อนงำไว้แล้ว
ทว่าอย่างหนึ่งที่เราสามารถฟันธงได้ค่อนข้างแน่ก็คือ สำหรับทีมจำอวดพิทักษ์กาแล็กซีรุ่นบุกเบิกของ James Gunn ซึ่งหอบหิ้วกันมาเนิ่นนานร่วมสิบปี หนังเรื่อง Guardians of the Galaxy Vol. 3 คือสถานีปลายทาง
Guardians of the Galaxy Vol.3 (2023)
ผู้กำกับ: James Gunn
นักแสดง: Chris Pratt, Zoe Saldaña, Dave Bautista, Karen Gillan, Bradley Cooper ฯลฯ
ภาพ: Marvel Studios