×

เจาะกลยุทธ์ ‘Greyhound’ ในทศวรรษที่ 5 ทุ่มงบกว่า ‘พันล้านบาท’ ซื้อกิจการ ออกคอลเล็กชันใหม่ทุกสัปดาห์ สยายปีกสู่ต่างประเทศ

26.11.2020
  • LOADING...
เจาะกลยุทธ์ ‘Greyhound’ ในทศวรรษที่ 5 ทุ่มงบกว่า ‘พันล้านบาท’ ซื้อกิจการ ออกคอลเล็กชันใหม่ทุกสัปดาห์ สยายปีกสู่ต่างประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นในปี 2523 ด้วยเสื้อผ้าแนวสตรีทแวร์ในยุคที่ผู้คนยังแยกความเป็นบูติกและสตรีทออกจากกัน แต่ ‘Greyhound’ เป็นแบรนด์แฟชั่นไทยเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ผสมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันและเติบโตจนเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ครบวงจร 

 

มาวันนี้ Greyhound มีอายุครบ 40 ปีแล้ว พร้อมกับแตกแขนงธุรกิจออกมาเป็นแฟชั่นและอาหาร อีกทั้งยังขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยประกอบไปด้วย 

  • ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น มีทั้งสิ้น 3 แบรนด์ ได้แก่ Greyhound Original 4 สาขา, Smileyhound 10 สาขา รวมถึงแบรนด์ Animal House จำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น
  • ร้านอาหารรวม 7 แบรนด์ ได้แก่ Greyhound Café 17 สาขา, Another Hound Café 3 สาขา, Kin+Hey 1 สาขา, Gai Hound 3 สาขา, Greyhound Coffee 15 สาขา และ Ban Hound ซึ่งจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น
  • ในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 15 สาขา ครอบคลุม 6 ประเทศคือ จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และอังกฤษ เกือบทั้งหมดเป็นแฟรนไชส์ ยกเว้นที่อังกฤษซึ่ง Greyhound ลงทุนเอง โดยเป็นแบรนด์ Greyhound Café ทั้งหมด

 

ลิมลี่ ทิพพงษ์ประภาส กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท Greyhound ภายใต้บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า 4 เหตุผลที่ทำให้ Greyhound ประสบความสำเร็จมาถึง 40 ปีคือ
1. การมีแบรนด์ดีเอ็นเอที่แข็งแกร่งเป็นเอกลักษณ์ ‘Basic with a Twist’ ซึ่งเน้นเรื่องความเรียบง่ายที่แฝงด้วยลูกเล่นและความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
2. การปรับตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ สถานการณ์
3. การพัฒนาสินค้าตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทันเวลา
4. ทรัพยากรบุคคล

 

“ในช่วงโควิด-19 เราได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะร้านแทบทั้งหมดของเราอยู่ในศูนย์การค้า เราจึงใช้จังหวะนี้ในการจัดการโอเปอเรชันและซัพพลายเชนทั้งหมด พร้อมกับขยายช่องทางไปยังเดลิเวอรีสำหรับธุรกิจร้านอาหาร และอีคอมเมิร์ซสำหรับแฟชั่น”

 

แฟชั่นออกสินค้าบ่อยแต่ ‘Greyhound’ ก็ไม่ใช่ ‘ฟาสต์แฟชั่น’
สำหรับธุรกิจแฟชั่นนั้น กฤตินาท อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด ระบุว่าการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกคนยอมรับกับการซื้อของในช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ Greyhound ต้องหันมาโฟกัสช่องทางนี้ด้วย อีกเรื่องคือความเร็ว ก่อนหน้านี้การออกคอลเล็กชันจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน แต่ในช่วงโควิด-19 มีการออกสินค้าใหม่ทุกสัปดาห์ เพราะเทรนด์ที่พบคือลูกค้าไม่สามารถรอได้ Greyhound จึงต้องปรับมายด์เซ็ตในการทำงานใหม่

 

“เราพบว่าผู้บริโภคแต่งตัวในแบบแคชวลมากขึ้น จึงต้องออกสินค้าให้เหมาะกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น และแม้จะมีการออกสินค้าที่บ่อย แต่เราก็ไม่ได้นับว่าตัวเองเป็นฟาสต์แฟชั่น”

 

ในปีนี้มี Greyhound Original ได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ Original Greyhound ในสไตล์สตรีทแวร์ที่อิงกับวัฒนธรรมดนตรีในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับแบรนด์ Smileyhound ที่เพิ่งเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ในหมวดน้ำหอม รองเท้า และสินค้ากีฬา นอกจากนี้ยังต้อนรับการกลับมาของ Animal House ที่ร่วมกับ CP All จำหน่ายผ่านทาง 24shopping.co.th โดยวางขายอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อไปจะพัฒนาช่องทางจำหน่ายที่เป็นของตัวเองด้วย

 

‘Animal House’ เกิดขึ้นมาเพื่อจำหน่ายในช่องทางออนไลน์อย่างเดียว กลยุทธ์จะคล้ายกับเสื้อผ้าที่วางขายในอินสตาแกรม โดยตัวแบรนด์จะถือเป็นแบรนด์น้องเล็กที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบแมสในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ซึ่งจะขยายฐานลูกค้าจากแบรนด์ Greyhound Original ที่มีราคาเฉลี่ย 2,500-3,000 บาท ส่วน Smileyhound ราคา 1,200-1,500 บาท

 

สำหรับทิศทางในปีต่อไป การออกคอลเล็กชันจะมีคอลเล็กชันใหญ่ปีละ 2 ครั้งเช่นเคย แต่จะมีการออกสินค้าย่อยๆ ใหม่ทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะการออกสินค้าที่เป็นลิมิเต็ดอิดิชันสำหรับช่องทางออนไลน์ ซึ่งการทำเสื้อผ้าสำหรับช่องทางออนไลน์นั้นจะแตกต่างจากเสื้อผ้าปกติ คือจะออกแบบให้เข้าใจง่าย ดูแล้วตัดสินใจซื้อได้ทันที และไซส์ที่มีขนาดเท่ากันหมด ไม่เหมือนเสื้อผ้าปกติที่อาจจะมีขนาดที่ไม่เท่ากันในแต่ละคอลเล็กชัน

 

นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปสู่ Licensing จับมือกับพาร์ตเนอร์ยักษ์ใหญ่ ต่อยอดเป็นสินค้าใหม่ออกจำหน่าย เบื้องต้นมีการทำแล้วกับสหพัฒน์โดยให้ Licensing ของ Smileyhound สำหรับการทำอันเดอร์แวร์ โดยสาเหตุที่ไม่ทำเองนั้นเป็นเพราะ “เราไม่ได้เก่งทุกด้าน เรามีองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ฉะนั้นเราจึงให้ผู้เชี่ยวชาญกว่าเป็นคนทำ โดยคอลเล็กชันนี้จะเริ่มจำหน่ายในปีหน้า”

 

 

ธุรกิจร้านอาหารพร้อมขยายเป็น ‘แฟรนไชส์’
สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น ฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด และบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวว่าในส่วนของปีนี้มีการเปิด Greyhound Café 2 สาขาใหม่ที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ซึ่งทั้งสองสาขานี้จะมี Greyhound Coffee ขยายไปด้วยกัน

 

ขณะเดียวกันได้เตรียมเปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ในชื่อ Greyhound Café Selected หนึ่งสาขาที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งเป็นโมเดลร้านอาหารที่ไม่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัว (Agility) ในการขยายสาขา ด้วยที่ผ่านมาการขยาย Greyhound Café จะต้องใช้พื้นที่ขยายใหญ่ 200-300 ตารางเมตร ด้วยครัวขนาดใหญ่ จึงใช้พื้นที่เยอะ ทำให้ทำเลที่จะเปิดสาขาใหม่ถูกจำกัด แต่สำหรับโมเดลใหม่นั้นใช้พื้นที่แค่ 100 ตารางเมตรก็เปิดได้แล้ว


ความแตกต่างระหว่างสองโมเดลคือ Greyhound Café Selected จะเลือกเฉพาะเมนูยอดนิยม 50 เมนูจาก 90 เมนูมาวางขาย พร้อมกับเพิ่มเมนูพิเศษที่จะหมุนเวียนไปในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัว Greyhound Café To Go จำหน่ายขนมขบเคี้ยว แยม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

 

“ธุรกิจอาหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือเดลิเวอรี ซึ่งเราเปิดแบรนด์ Ban Hound ขึ้นมาซัพพอร์ตโดยเฉพาะ ตอนนี้โจทย์ใหญ่ของเราคือสร้างประสบการณ์การกินที่บ้านให้เหมือนกับมากินที่ร้านให้ได้ โดยต้องพัฒนาแพ็กเกจเก็บอาหารให้สดใหม่ และต้องรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”

 

เตรียมเงิน 1,000 ล้าน ซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาเติมพอร์ต

ด้านธุรกิจต่างประเทศ ปิยพงศ์ รินทรานุรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด ระบุว่าในปี 2564 ทาง Greyhound วางแผนที่จะขยายเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเซ็น MOU กับพาร์ตเนอร์ในประเทศฟิลิปปินส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 1 ประเทศกำลังเจรจาอยู่ นอกจากนี้ยังมีคุยเพิ่มเติมอีก โดยเป็นทั้งประเทศในเอเชียและยุโรป

 

“การขยายสาขาในต่างประเทศ นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้แล้วยังช่วยบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพียงอย่างเดียวอีกด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในย่างก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของ Greyhound คือประกาศความพร้อมที่จะเข้า ‘ซื้อกิจการ’ เข้ามาเติมพอร์ต ด้วยวันนี้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้แบรนด์ที่สายป่านไม่ยาวจำต้องหาคนเข้ามารับช่วงต่อ ดังนั้นราคาขายในช่วงนี้จึงจะลดลงกว่าปกติ

 

ปิยพงศ์ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า Greyhound ได้เตรียมเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับการเข้าซื้อกิจการในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ โดยแบรนด์ที่จะซื้อนั้นส่วนใหญ่มองหาธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งที่ดูๆ อยู่มีทั้งเชนที่มีร้านในเครือ 20 สาขา และเชนที่เพิ่งมี 2-3 สาขา

 

“การเลือกซื้อนั้น เราจะต้องดูว่าจะเข้ามาต่อจิ๊กซอว์ให้เครือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะเลือกแบรนด์ที่ไม่มาทับซ้อนกับแบรนด์ที่มีอยู่ในเครือ โดยอาจจะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มแมส หรือไฟน์ไดนิ่ง เราก็สนใจเช่นเดียวกัน คาดว่าดีลแรกจะจบในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า”

 

นอกเหนือจากการซื้อกิจการแล้ว Greyhound ยังมีแผนที่จะปั้นแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นเดียวกัน โดยจะมีทั้งที่อยู่ใน ‘ตระกูล hound’ และไม่อยู่ ปิยพงศ์อธิบายว่าการอยู่ในตระกูล hound มีข้อดีคือเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักอยู่แล้ว แต่การจะทำในรูปแบบที่แปลกใหม่จะทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการเป็นแบรนด์ใหม่เลยจะทำได้ง่ายกว่า 

 

เปิดสาขาใหม่อย่างสุขุม ไม่ Aggressive

ในปี 2564 ลิมลี่ระบุว่า Greyhound เตรียมงบไว้ 50-100 ล้านบาทสำหรับขยาย 5-10 แบรนด์ทั้งในฝั่งของอาหารและแฟชั่น

 

“เราจะเปิดสาขาอยู่เรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าดีมานด์ยังมีอยู่ แต่จะไปอย่างสุขุม ระมัดระวัง และสมเหตุสมผล โดยไม่ Aggressive”

 

ปีที่ผ่านมา Greyhound มีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาผลัดกันขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งกับ ‘Dunkin’ สำหรับแบรนด์ที่ทำได้รายได้ให้กับมัดแมนมากที่สุด โดยรายได้หลัก 80% มาจากธุรกิจอาหาร ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นธุรกิจแฟชชั่น 

 

สำหรับปีนี้ แน่นอนว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ Greyhound มีรายได้ที่ลดลง แต่เชื่อว่าจะไม่ขาดทุน โดยแย่ที่สุดคือเท่าทุน และเผลอๆ อาจมีกำไรนิดหน่อยด้วยซ้ำ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising