ตอนนี้เมื่อรอบกายอะไรๆ ก็เพื่อความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่จำเป็นต้องให้คนอื่นรู้ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และเรื่องบรรษัทภิบาล (ESG) โดยไม่รู้ว่าแท้จริงภายในองค์กรนั้นเกิดการส่งต่อและเคร่งครัดในการปฏิบัติต่อเรื่องนี้จริงจังขนาดไหน จนลืมไปว่าบางทีเราอาจถูกหลอกให้เชื่อภาพลักษณ์ตามที่องค์กรนั้นๆ ต้องการสื่อสารออกมา โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือ ‘ปฏิบัติการฟอกเขียว’ (Greenwashing)
อะไรคือการฟอกเขียว
การที่องค์กรหรือบริษัทนั้นสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าได้ใส่ใจความยั่งยืนบนโลกนี้ และทำทุกวิถีทางเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีส่วนสร้างก๊าซภาวะเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจให้น้อยที่สุด แต่ความเป็นจริงกระบวนการดำเนินการภายในของบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบอย่างที่กล่าวอ้าง ไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม หรือไม่ได้ลงมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
จนบางครั้งการฟอกเขียวอาจกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กรที่ใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้บริษัท เพื่อทำให้ผู้บริโภค ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจ เข้าใจผิดว่าใส่ใจเรื่อง ESG แต่แท้จริงแล้วอาจหวังผลเพียงต้องการสร้างรายได้และทำให้ทุกฝ่ายได้เชื่อมั่นและมั่นใจว่า สินค้าและการบริการจากบริษัทนี้ได้ทำทุกอย่างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงสภาพภูมิอากาศ ปล่อยของเสียออกมาอย่างคำนึงถึงภาวะก๊าซเรือนกระจก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- SCB CIO แนะจับตาความท้าทาย ‘Greenwashing’ พร้อมแนะนักลงทุนพิจารณา ESG Rating ก่อนตัดสินใจลงทุน
- หน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของยุโรปคุมเข้มกองทุน ESG สั่งลบคำว่า ‘ESG’ หรือ ‘ยั่งยืน’ ออกจากชื่อกองทุน หากลงทุนจริงไม่เข้าเงื่อนไข
- เจาะกองทุน SSF/RMF ดาวเด่นสายฮิต กับ SCBRM4 และ SCBLT1-SSF
รู้ทันการตลาดแบบฟอกเขียว
เพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใช้กระแสที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ฉันคือหนึ่งในผู้ที่มีส่วนรักษ์โลก ทั้งจากการเลือกกิน เลือกใช้สิ่งที่จะทำร้ายโลกให้น้อยที่สุด โดยจะใช้การตลาดที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดด้วยการบอกข้อมูลไม่หมด หรือทำให้รู้สึกคลุมเครือไว้ก่อน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่
- ใช้สัญลักษณ์หรือรูปภาพสีเขียวกับสินค้า หรือการโปรโมตที่อาจนำไปสู่การเข้าใจได้ว่าสินค้านี้ออกมาเพื่อรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ไม่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
- ข้อความบนฉลากที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงเมื่อหยิบสินค้าที่ทำการตลาดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากคำต่างๆ เช่น วัสดุทางเลือก, สินค้า Eco-Friendly, สินค้า Green และสินค้าเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น แต่แท้จริงอาจมีการเปลี่ยนวัสดุการผลิตที่อาจไม่ได้มีส่วนช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซต์เลยแม้แต่นิดก็ได้
- เหมือนแก้ปัญหาแต่แบบฉาบฉวย เช่น พยายามสื่อสารว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้มองปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกันในการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษที่สามารถรีไซเคิลได้แทนหลอดพลาสติก แต่ยังคงใช้เนื้อสัตว์ในสายพานการผลิตที่ส่งผลให้เกิดการเผาป่า
- ระบุข้อความใส่ใจวัสดุว่าสามารถนำไปรีไซเคิลหรือผลิตจากวัสดุรีไซเคิลไม่ชัดเจน มีการออกแบบเพื่อซ่อมแซมหรือใช้หมุนเวียนได้มากกว่าที่จะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นชิ้นส่วนใด
- พยายามใช้แนวทางการชดเชยการปล่อยคาร์บอนมากกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นทางในการปล่อยมลพิษเอง โดยยอมทุ่มเงินจ่ายให้กับบริษัทอื่นๆ เพื่อใช้คาร์บอนเครดิตมาทดแทนในส่วนที่ตัวเองผลิตคาร์บอนมากเกินไป แต่ท้ายที่สุดก็เป็นการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอยู่ดี
- สื่อสารว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลีกเลี่ยงและลดการปล่อยคาร์บอน แต่ไม่ได้บอกสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์การปล่อยต่อปีที่ชัดเจน
ระวังฟอกเขียวในการลงทุน
ปลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของยุโรป European Securities and Markets Authority (ESMA) ต้องการสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับการลงทุนด้าน ESG และความยั่งยืน โดยเพิ่มความเข้มงวดในการจัดตั้งกองทุน ESG หรือความยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘การฟอกเขียว’ ที่สื่อสารให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่า สินค้าหรือองค์กรนั้นๆ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
โดยเสนอให้กองทุนด้าน ESG ต้องลงทุนอย่างน้อย 80% ในบริษัทที่ดำเนินการตรงกับกลยุทธ์ที่บอกไว้ ขณะที่กองทุนด้านความยั่งยืนต้องลงทุนอย่างน้อย 40% ในสินทรัพย์ที่ตรงกับเงื่อนไขที่ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) ที่กำหนดไว้ว่า สินทรัพย์แบบใดที่เรียกว่าเป็นสินทรัพย์ยั่งยืน ถ้ากองทุนที่ไม่ได้ลงทุนตามเงื่อนไขจะต้องนำคำว่า ESG หรือยั่งยืน ออกไปจากชื่อของกองทุน หรือไม่ก็ต้องปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้เข้ากับเกณฑ์ที่กำหนด
‘ESG Rating’ เครื่องมือป้องกันฟอกเขียว
กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า เมื่อกองทุน ESG มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนประเภทนี้ตั้งแต่ปี 2559-2564 ที่เติบโตสูงเฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาเป็น 6% ในปี 2564 และทรงตัวในปี 2565 โดยเป็นที่นิยมในการลงทุนมากที่ภูมิภาคยุโรป และพบว่าส่วนแบ่งตลาดกองทุน ESG สูงถึงเกือบ 30% ของ AUM รวมในยุโรป
SCB CIO มองว่า ธีมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG น่าสนใจ แต่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวมากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่มาพร้อมการเติบโตของ ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาคือ การฟอกเขียว หรือกระบวนการที่บริษัทต่างๆ สร้างภาพว่าปฏิบัติตามแนวทาง ESG แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น และที่ผ่านมาก็มีกรณีตัวอย่างของกองทุนที่กล่าวอ้างว่าคัดเลือกหุ้นโดยใช้ปัจจัย ESG แต่ถูกตรวจสอบภายหลังพบว่าไม่เป็นความจริง จึงต้องถูกลงโทษและเกิดปัญหาลูกค้าถอนเงินลงทุน
ทั้งยังส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศพยายามกำกับ ดูแล และป้องกัน ไม่ให้เกิดการฟอกเขียว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
จากกรณีนี้แนะนำว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัยเรื่องการวัดผลด้าน ESG หรือ ESG Rating ประกอบการลงทุนมากขึ้น
วัด Performance กองทุนยั่งยืนไทยปี 2565
จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ของมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.5% จากสิ้นปี 2564 แต่เพิ่มขึ้น 5.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 มีเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 900 ล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีเพียง 300 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่ม Global Equity ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 3,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักของการลงทุนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง
จากมูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืน 5.2 หมื่นล้านบาท เกือบทั้งหมด หรือ 99% ของมูลค่าดังกล่าว มีการจัดอันดับโดย Morningstar Sustainability Rating™ และพบว่า กองทุนส่วนใหญ่ หรือ 74% ของมูลค่าทั้งหมด ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Average (3 Globes) หรือสูงกว่า ซึ่งหมายความว่ากองทุนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยหรือดีกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนลักษณะเดียวกันทั่วโลก
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นของ บลจ.กสิกรไทย ที่มีการลงทุนอย่างยั่งยืนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วย บลจ.อีสท์สปริง, บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ยูโอบี
จากการเปิดเผยของ ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสของมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ใน SET Investnow เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ระบุว่า กองทุนรวมหุ้น ESG ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากดัชนี Morningstar Global Markets Sustainability Index ปี 2562-2564 พบว่า ให้ผลตอบแทนระดับ 27.94%, 16.30% และ 20.77% ตามลำดับ
แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกและหลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยและจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผลตอบแทนและเม็ดเงินลงทุนกองทุนหุ้นยั่งยืนลดลงไป โดยสิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับตอนสิ้นปี 2564 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งดัชนี Morningstar Global Markets Sustainability Index ให้ผลตอบแทนติดลบ 15.5% ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565
ตรวจสอบ ‘สม่ำเสมอ’ อีกหนึ่งวิธีเท่าทันการฟอกเขียว
แม้ ตลท. จะผลักดันให้ บจ. เปิดเผยข้อมูล ESG ออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนที่เน้น 3 ด้าน คือ
- ข้อมูลต้องสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ (Availability)
- ข้อมูลต้องสามารถเปรียบเทียบกันได้ (Comparability)
- ข้อมูลสามารถวางใจและเชื่อถือได้ (Reliability)
เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนจะอยู่นอกเหนือจากข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data) ที่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการทำงานบ้านของนักลงทุนแล้ว
นอกจากนี้ยังมีรายงาน SET NOTE หัวข้อ ‘นักลงทุนบุคคลไทยใครสนใจหุ้นยั่งยืน’ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ตลท. ซึ่งระบุว่า ในครึ่งแรกของปี 2565 นักลงทุนบุคคลที่ซื้อ-ขายหุ้นมีจำนวน 9 แสนคน โดยพบว่า ประมาณ 80% มีการซื้อ-ขายหุ้นยั่งยืนอย่างน้อยเพียง 1 บริษัท แต่หุ้นยั่งยืนยังเป็นที่นิยมของบุคคลในทุกเจเนอเรชัน โดยยิ่งสูงอายุขึ้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจและกระจายมูลค่าซื้อ-ขายให้หุ้นยั่งยืนมากขึ้น ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาตลาดสนใจหุ้นยั่งยืนอยู่บ้าง
นั่นเท่ากับว่าแนวโน้มหุ้นยั่งยืนจะเริ่มมีแนวโน้มความน่าสนใจมากขึ้น แต่ประเด็นฟอกเขียวอาจทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจได้ว่า กองทุนเหล่านั้นจะช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้จริงหรือไม่
นอกจากอาศัยการตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลการลงทุนที่คอยเช็กและกระตุ้นเตือนให้กองทุนต่างๆ ได้เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้ชัดเจนต่อสาธารณะแล้ว นักลงทุนเองก็ต้องหมั่นตรวจตราข้อมูลการลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ลงทุนและนโยบายการลงทุนของกองทุน
รวมถึงต้องหมั่นเช็กเม็ดเงินของกองที่ลงทุนว่า ได้มีการเข้าไปลงทุน ทั้งในเรื่องนวัตกรรมและมีการเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เห็นผลจริงอย่างไร แม้การลงทุน ESG จะเป็นเรื่องที่เห็นผลในระยะยาว แต่ก็ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานที่ส่งผลต่อกำไรและขาดทุนของแต่ละบริษัท
เป็นปกติที่เรื่องใดฮิตเป็นกระแสมักจะมีช่องว่างที่พร้อมใช้กลยุทธ์ทำการตลาด เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานดูดี ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีส่วนช่วยให้โลกรวนลดลง
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของการฟอกเขียว ก็ควรหาวิธีรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ
อ้างอิง:
- www.setsustainability.com/libraries/1159/item/-greenwashing?type=&search=
- https://www.morningstarthailand.com/th/news/230926/การลงทุนอย่างยั่งยืนไตรมาส-4-22.aspx
- https://www.morningstarthailand.com/th/news/225270/กองทุนยั่งยืนในประเทศรอบไตรมาส-2-2022.aspx
- https://www.greenpeace.org/thailand/story/23953/what-is-greenwashing/
- https://media.set.or.th/common/research/1170.pdf
- https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/191-tsi-scan-both-local-and-international-sustainable-equity-funds