จากกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปร่วมประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ และจะประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies: LT-LEDS) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อเป็นการแสดงวิสัยทัศน์และสื่อสารถึงความมุ่งมั่นของประเทศร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ล่าสุด (27 ตุลาคม) กรีนพีซ ประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่ความเห็นต่อกรอบท่าทีการเจรจาของรัฐบาลไทยใน COP26 โดยแยกเป็นประเด็นดังนี้
แผนดำเนินการของไทยยังคงละเลยมิติความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)
การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2558-2593, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2560-2579, แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี 2564-2573 (Nationally Determined Contribution), แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ปี 2561-2580 (National Adaptation Plan: NAP), แผนกลยุทธ์การเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศแบบทวิภาคีและพหุภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2565-2570, เป้าหมาย Net Zero Emission และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ทั้งหมดนี้ต่างละเลยมิติความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความยากจน และโรคระบาดในอนาคต
แผนปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยไม่ทันการกับการต่อกรวิกฤตสภาพภูมิอากาศและแผนการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทย
สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2608 นั้นย้อนแย้งกับนโยบาย No New Coal จากข้อมูลของกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า จะมีการกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป
ข้อเสนอจากรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย(Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’ โดยกองทุนแสงอาทิตย์, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธินโยบายสุขภาวะและกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า “รัฐบาลไทยสามารถปลดระวางถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 หากรัฐบาลยังเพิกเฉยไม่เห็นความสำคัญ ก็จะไม่สามารถปลดระวางการใช้ถ่านหินได้เลยในอนาคต
รัฐบาลไทยจะต้องมีจุดยืนที่จะปฏิเสธแนวทางการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset)
ท่าทีการเจรจาของไทยใน COP26 นั้น นอกจากการสร้างความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลกในด้านเงินทุน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การแบ่งปันองค์ความรู้ และการสร้างศักยภาพ รัฐบาลไทยต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนโดยปฏิเสธแนวทางการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่เป็นเรื่องหลอกลวง และเปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยและบรรษัทอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากวัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติ แย่งยึดที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้เป็นสินค้าแสวงผลกำไร แต่หลีกเลี่ยงภาระรับผิดต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้น
ในวาระ COP26 กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐสภาไทยประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ’ ดังนี้
- ใช้กลไกคณะกรรมาธิการรัฐสภาผลักดันประเด็น ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ เป็นวาระหลัก และผนวกข้อเสนอของภาคประชาชนในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงยอมรับและให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- รับรองว่ามาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากโรคระบาดและวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้น มุ่งส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- ตระหนักว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systemic Change) และกลยุทธ์ที่โปร่งใส เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างแท้จริง (Real Zero) เริ่มจากการปลดระวางถ่านหินและปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล การปฏิวัติระบบอาหาร และลดนโยบายสนับสนุนการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษ และเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่
- ป้องกันการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะทำลายศักยภาพการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์
- คุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (Supportive Economy) และแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศ