×

กรีนพีซย้ำ รัฐต้องแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ติงนำขยะไปเผาเป็นพลังงาน เพิ่มก๊าซเรือนกระจก

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2021
  • LOADING...
กรีนพีซ ขยะพลาสติก

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) โดยมี 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 ให้ลดและเลิกใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ซึ่งมีข้อยกเว้นสำหรับการใช้ในกรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา และผู้ป่วย เป็นต้น

และเป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมายภายใน พ.ศ. 2565 

 

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า มติ ครม. นี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่อยู่ในโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563-2573 ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบในเดือนเมษายน 2563 ไปแล้ว จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า จากการดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อได้ประมาณ 1,524 ล้านใบ หรือประมาณ 4,385 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนปฏิบัติการระยะที่ 1 ซึ่งพิจารณาถึงผู้ผลิตมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติกโดยใช้แนวทาง Responsible Consumption and Production นั้นสามารถทำให้ชัดเจนขึ้นโดยประยุกต์หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ให้เป็นกรอบกฎหมายที่มีผลบังคับใช้

 

พิชามญชุ์กล่าวต่อไปว่า ตามแผนโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563-2573 ในทุกระยะ ก็ยังมีข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการในการจัดการมลพิษพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดและนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่อยู่บนฐานของการนำเอาขยะพลาสติกไปเผาเป็นพลังงาน 

 

โดยมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) คือส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ระบุเพียงว่า จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี และการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากนำขยะพลาสติก 0.78 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 22.83 ล้านตัน

 

พิชามญชุ์ย้ำว่า รัฐบาลต้องผลักดันให้มีกรอบกฎหมายว่าด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว (Fast Moving Consumer Goods) มีแนวทางและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการขยายความรับผิดชอบของตนไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ, กระจายสินค้า, การรับคืน, การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด 

 

“ทั้งนี้ ภาครัฐต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยมุ่งเน้นไปที่การลด (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม (Refill) และหยุดสนับสนุนวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง อันเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤตมลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืน” พิชามญชุ์กล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising