×

กรีนพีซออกแถลงการณ์ชี้ มติ ครม. ติดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินทดแทนที่แม่เมาะ สวนทางเป้าหมาย Net Zero ที่รัฐบาลตั้งไว้

โดย THE STANDARD TEAM
25.05.2022
  • LOADING...
กรีนพีซ ประเทศไทย

จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 47,470 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นั้น

 

วันนี้ (25 พฤษภาคม) กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ‘มติ ครม. ให้ติดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 สวนทางกับเป้าหมาย Net Zero ที่รัฐบาลตั้งไว้’ โดยระบุว่า มติ ครม. ดังกล่าว นอกจากจะสวนทางกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายใต้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ในเวที Leader Summit ที่ COP26 เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

 

มติดังกล่าวยังย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategies: LT-LEDS) ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เพื่อส่งให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อีกด้วย

 

การศึกษาฉากทัศน์เพื่อปลดระวางถ่านหินจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยกรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กองทุนแสงอาทิตย์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยสามารถดำเนินการปลดระวางถ่านหินภายในปี 2580 โดยการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิม หรือสามารถเร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี 2570 โดยการยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าบางฉบับก่อนครบกำหนด ในขณะที่สามารถคงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองมากกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ตลอดช่วงปี 2564-2580 นอกจากนี้ยังมีการกระจายแหล่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างสมดุลไม่ต่างจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

กรีนพีซ ประเทศไทย มีความเห็นเพิ่มเติมว่า คำถามที่สำคัญคือในเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโฆษณาถึง Mae Moh Smart City สำหรับการเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยลดกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะเป็น 1,255 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ดังนั้นไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมทั้งในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X