×

กรีนพีซและเครือข่าย รวมตัวฟ้องผู้มีส่วนกับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ชี้ดำเนินงานช้า ทำประชาชนประสบปัญหาสุขภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2022
  • LOADING...
กรีนพีซ

วันนี้ (22 มีนาคม) ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (Greenpeace Thailand), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ และ นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนที่ติดตามและผลักดันรณรงค์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ได้เดินทางมายังอาคารศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.), วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองกลาง 

 

โดยตัวแทนระบุว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้พื้นที่ กทม. และพื้นที่ภาคเหนือมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงกว่ามาตรฐาน และทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรงมายาวนาน 

 

นอกจากนี้กรีนพีซและเครือข่ายทั้ง 7 ราย ได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ กก.วล. ออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และให้ กก.วล. กับวราวุธ ออกประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่นละออง PM2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

 

รวมทั้งให้สุริยะออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายอยู่ในสิ่งแวดล้อมให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมกับออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้

 

ด้าน อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผลนั้น ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพราะการป้องกันไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า

 

ขณะที่การจัดการที่ปลายเหตุ นับเป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันผลกระทบต่อประชาชนทุกคนได้มีประสิทธิภาพ แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติที่คณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 กลับดำเนินการล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน

 

ด้าน สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า เมื่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังดำรงอยู่ สิ่งนี้จึงไปกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ซึ่งการลุกขึ้นมาตรวจสอบอำนาจรัฐให้ปฏิบัติตามหน้าที่ครั้งนี้จึงเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน และการฟ้องร้องคดีนี้มุ่งหวังให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising