×

จับตาแผนลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ของ EU จริงจังแค่ไหน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาคธุรกิจ?

30.07.2021
  • LOADING...
EU

วานนี้ (28 กรกฎาคม) สหภาพยุโรป หรือ EU ได้เปิดเผยแผนดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อตัดลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน โดยตั้งเป้าลดลงให้ได้มากกว่าครึ่งภายในปลายทศวรรษ ซึ่งมีรายละเอียดของแผนดำเนินการที่น่าสนใจ เช่น

 

  • รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะหายไปจากประเทศ EU ในปี 2035
  • โรงงานผลิตเหล็กและซีเมนต์จะจ่ายเงินสำหรับการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกๆ 1 ตัน
  • เรือสินค้าอาจไม่สามารถเข้าเทียบท่าในบางเมือง หากไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น
  • สายการบินพาณิชย์ต้องใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผลิตจากพลังงานสะอาด

 

แผนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบแทบทุกอุตสาหกรรมในกลุ่ม EU และอาจต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าจะกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน 

 

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำยุโรปมั่นใจว่าแผนดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ EU กลายเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง หรือเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน

 

แล้วอุตสาหกรรมใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ? และกระทบอย่างไร? 

 

ผู้ผลิตรถยนต์

 

  • คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปวางแผนให้รถยนต์ใหม่ทุกคันใน EU ต้องเป็นรถยนต์ที่ปลอดจากการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2035

 

  • ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายหันมาพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

  • แต่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคัดค้านการขีดเส้นตายสำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมัน เนื่องจากยังสร้างกำไรได้ในระดับสูง

 

  • ขณะที่ EU มีแผนสนับสนุนการทำกำไรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการใช้งบประมาณจากกองทุนสาธารณะเพื่อช่วยสร้างสถานีชาร์จไฟบนถนนหลวงในทุกๆ ระยะ 60 กิโลเมตร พร้อมสนับสนุนการสร้างสถานีพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นอีกพลังงานทางเลือก สำหรับยานพาหนะบางชนิด อาทิ รถบรรทุกระยะทางไกลที่แล่นด้วยเซลล์เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

 

  • แต่ค่ายรถยนต์ยังมองว่าสถานีชาร์จไฟยังมีไม่มากพอและกังวลว่าอาจเป็นความผิดพลาดในการแบนการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดย โอลิเวอร์ ซิปส์ ประธานบริหารของ BMW ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า EU ควรมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนนวัตกรรมแทนการบังคับหรือแบนเทคโนโลยียานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

สายการบิน

 

  • เครื่องบินเป็นหนึ่งในยานพาหนะที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการยากที่จะเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ไร้การแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก

 

  • จากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ EU สายการบินต่างๆ จะต้องเริ่มผสมเชื้อเพลิงสังเคราะห์กับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้อยู่ และจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือพูดง่ายๆ คือจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นสำหรับการก่อมลพิษ

 

  • กลุ่มบริษัทล็อบบี้ยิสต์ ตัวแทนสายการบินใหญ่และสายการบินราคาประหยัดแถวหน้าของยุโรป เช่น Air France-KLM, easyJet, IAG, Lufthansa Group และ Ryanair ระบุว่า สายการบินเหล่านี้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องการกฎระเบียบที่เรียบง่ายขึ้นและต้องการการสนับสนุนทางการเงิน

 

  • Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก กดดันให้รัฐบาล EU อุดหนุนทางการเงินสำหรับสายการบินต่างๆ เพื่อต่ออายุฝูงบินและสนับสนุนเทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน พร้อมทั้งประกาศแผนพัฒนาเครื่องบินไร้การแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในห้าปี ขณะที่เพิ่งเปิดตัวเครื่องบินต้นแบบไร้มลพิษที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจน

 

เรือขนส่งสินค้า

 

  • แผนลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกของ EU ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัทที่ขนส่งสินค้าทางเรือ จากการที่ต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับการปล่อยมลพิษ

 

  • เรือสินค้าส่วนใหญ่ที่เดินทางอยู่ในทะเลทุกวันนี้ใช้น้ำมันคุณภาพต่ำและเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่

 

  • บริษัทล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าร้องเรียนถึงความไม่ชัดเจนในแผนของ EU และยังไม่แน่ชัดว่าเส้นทางเดินเรือใดจะได้รับผลกระทบบ้าง

 

อุตสาหกรรมหนัก

 

  • คณะกรรมาธิการ EU วางแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อมลพิษในอุตสาหกรรมหนัก ด้วยการกระชับระบบการค้าของยุโรป ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องจ่ายเงินสำหรับการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

  • ผู้ผลิตเหล็กเตือนว่า แผนของ EU อาจกัดกร่อนความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือผู้ผลิตในจีน และไม่สนับสนุนการลงทุนที่จำเป็นในการเปลี่ยนไปใช้การแพร่กระจายมลพิษที่ต่ำลง

 

พลังงาน

 

  • ภายใต้แผนของ EU บรรดาบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจะถูกผลักดันให้เร่งใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม  พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังน้ำจากถ่านหิน

 

  • เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมพลังงาน มีแนวโน้มที่จะเกิดการล็อบบี้อย่างดุเดือดจากตัวแทนบริษัทด้านพลังงาน

 

  • แผนดำเนินการของคณะกรรมาธิการ EU จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภายุโรปและผู้นำของรัฐบาล EU ก่อนที่จะกลายเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปี

 

ภาพ: Photo by Thierry Monasse/Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X