×

งานวิจัยชี้โลกยังมีพื้นที่ให้ปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 30% ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ถึง 2 ใน 3

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2019
  • LOADING...
greener

งานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิส ที่เผยแพร่บนวารสารไซเอินซ์ (Science) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (4 ก.ค.) ระบุว่า การปลูกต้นไม้เพิ่มเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหาระดับโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราสามารถปลูกป่าเพิ่มได้ถึงร้อยละ 30 โดยไม่เบียดเบียนพื้นที่การเกษตรหรือเขตเมือง ซึ่งพื้นที่ป่าดังกล่าวจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากมนุษย์ได้ถึง 2 ใน 3

 

ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้จัดทำโดยกลุ่มนักวิจัยจาก ‘อีทีเอช ซูริก’ และเป็นงานวิจัยฉบับแรกที่ระบุจำนวนต้นไม้ทั้งหมดที่โลกจะสามารถรองรับได้ รวมถึงสถานที่ปลูก และปริมาณก๊าซคาร์บอนที่จะสามารถดูดซับไว้ได้ อีกทั้งข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า เราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากถึง 1.06-1.12 หมื่นล้านไร่ ในบริเวณที่ไม่มีการทำการเกษตร หรือเป็นเขตเมือง และสามารถเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมมากถึง 5.6 พันล้านไร่

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization) ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าทั่วโลก 3.43 หมื่นล้านไร่ และมีพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุม 1.68 หมื่นล้านไร่ และเมื่อต้นไม้ในพื้นที่ป่าปลูกใหม่เติบโตเต็มที่ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้มากถึง 2.05 แสนล้านตัน โดยคิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกทั้งหมด 3 แสนล้านตัน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

 

นอกจากนี้ หากเราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่การเกษตรและเขตเมืองด้วยได้ เราจะปลูกป่าเพิ่มได้อีก 8.7 พันล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ปกคลุม 4.3 พันล้านไร่

 

“งานวิจัยของเราระบุชัดเจนว่าการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเป็นวิธีแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดีที่สุดในปัจจุบัน พร้อมมีหลักฐานสนับสนุนหนักแน่นว่าควรลงทุนกับวิธีดังกล่าว 

 

“ถ้าเราเริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้ เราจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลงได้มากถึงร้อยละ 25 และจะลดระดับไปเทียบเท่าเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว” ทอม โครว์เทอร์ ศาสตราจารย์จากอีทีเอช และผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยฉบับนี้ กล่าว 

 

ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่ากว่าครึ่งของพื้นที่บนโลก ที่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ ซึ่งอยู่ในประเทศที่แบ่งได้ดังนี้

 

  • รัสเซีย (943.75 ล้านไร่) 
  • สหรัฐฯ (643.75 ล้านไร่) 
  • แคนาดา (487.5 ล้านไร่) 
  • ออสเตรเลีย (362.5 ล้านไร่) 
  • บราซิล (312.5 ล้านไร่) 
  • จีน (250 ล้านไร่)

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การนาซา (NASA) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการปลูกต้นไม้ และการทำเกษตรกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์บนวารสารเนเจอร์ ซัสเตนอบิลีตี (Nature Sustainability) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลเผยออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่าพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นช่วงทศวรรษ 2000 ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนอย่างน้อย 25 %

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising