×

เทรนด์รักโลกปี 2021 ขับเคลื่อนสังคมสู่ ‘อนาคตคาร์บอนต่ำ’

30.12.2020
  • LOADING...
เทรนด์รักโลกปี 2021 ขับเคลื่อนสังคมสู่ ‘อนาคตคาร์บอนต่ำ’

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • ปี 2021 เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของมหาอำนาจโลกที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากขึ้น ก่อนหน้าหรือระหว่างการประชุม COP26 ในสหราชอาณาจักร
  • รถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บีบให้ผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลต้องปรับธุรกิจและการลงทุนให้สอดรับกับตลาดผู้ขับขี่ยานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป
  • บริษัทด้านเทคโนโลยีและเสริมความงามหันมาใส่ใจกับการลดก๊าซเรือนกระจกและลดขยะมากขึ้น เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์แบบ Upcycling และบรรจุภัณฑ์รักโลกมากขึ้น

ปี 2020 อาจเป็นปีแห่งความโหดร้ายจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 1.8 ล้านคน (ข้อมูลวันที่ 27 ธันวาคม) แต่ยังทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกหยุดชะงัก ผู้คนจำนวนมากต้องว่างงาน การพบปะสังสรรค์นอกบ้านต้องเปลี่ยนมาเป็นเจอหน้าผ่านจอคอมพิวเตอร์ 

 

ความรู้สึกสิ้นหวังนี้ยังดำเนินต่อเนื่องไปถึงปี 2021 แม้ว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะผลิตได้สำเร็จแล้วก็ตาม เพราะคงใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะแจกจ่ายได้ทั่วถึง 

 

หากคุณรู้สึกสิ้นหวังในปี 2020 แล้วล่ะก็ ปี 2021 อาจเป็นปีแห่งความหวังก็เป็นได้ เพราะปลายเดือนพฤศจิกายน สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุด นับแต่การประชุมในกรุงปารีสเมื่อปี 2015 ด้วยความหวังว่านานาประเทศจะกำหนดเป้าหมายลดโลกร้อนที่ชัดเจนมากขึ้น

 

THE STANDARD จึงขอพาผู้อ่านไปสำรวจเทรนด์รักโลกปี 2021 ที่จะสอดรับกับกระแสการประชุมโลกร้อนในเมืองกลาสโกว์ของสหราชอาณาจักร กับความหวังถึง ‘อนาคตคาร์บอนต่ำ’ ที่จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องทำร้ายโลกที่เราอาศัยอยู่ไปมากกว่านี้

 

การยกเครื่องด้านพลังงาน… ชัดขึ้น

 

ภาวะโรคระบาดกลืนโลก ที่ผู้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น หมายถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้รัฐบาลนานาประเทศหันมาทบทวนถึงแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนกว่าพลังงานฟอสซิล 

 

 

ปัจจุบัน พลังงานทดแทนคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของพลังงานที่สร้างขึ้น และส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากกว่า 80% ของทั้งโลก

 

แต่ด้วยพันธะของนานาชาติตามข้อตกลงปารีสที่มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทดแทนจึงรวดเร็วขึ้น โดยถูกกำหนดเป็นนโยบายหลักในหลายประเทศ เช่น

 

  • สหรัฐฯ จะทุ่มเงิน 70 ล้านล้านบาท เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การปรับปรุงอาคาร 4 ล้านแห่งให้ใช้พลังงานไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรถยนต์ไฟฟ้า
  • จีนเตรียมประกาศ ‘แผนพลังงาน 5 ปี’ เปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานทดแทน และลดการใช้ถ่านหิน
  • ญี่ปุ่นจะเน้นการผลิตโซลาร์เซลล์ และใช้ระบบรีไซเคิลคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมดิจิทัล โดยรัฐบาลท้องถิ่น 175 เมืองทั่วประเทศขานรับจะดำเนินนโยบายไปพร้อมกับรัฐบาลกลาง
  • เกาหลีใต้ประกาศ ‘ข้อตกลงสีเขียวใหม่’ สร้างงานหลายแสนตำแหน่งผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดภายในปี 2022 ทั้งโซลาร์เซลล์ กังหันลม และเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน 
  • โปแลนด์สร้างระบบพลังงานปลอดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จใน 20 ปี เป็นระบบที่ยึดกับพลังงานนิวเคลียร์ แหล่งพลังงานทดแทน และกังหันลมนอกชายฝั่ง

 

ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ หรือ IRENA เปิดเผยว่า ปี 2020 นี้ การลงทุนในพลังงานทดแทนได้แซงหน้าการลงทุนในพลังงานฟอสซิลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนเองเริ่มสนใจจะผ่อนถ่ายหลักทรัพย์มาลงทุนในด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นด้วย 

 

E-Mobility – รถยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนโลก

 

ทว่าการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานที่จะเห็นได้ชัดขึ้นในปีต่อๆ ไป คือภาคการขนส่ง ซึ่งสร้างก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก โดยเราจะเห็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากราคายานยนต์ที่ย่อมเยาจนประชาชนทั่วไปครอบครองได้ รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะทยอยยกเลิกการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น

 

  • เกาหลีใต้ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1.35 ล้านคันภายในปี 2025 โดยมี Hyundai เป็นผู้ผลิตหลัก พร้อมกับสร้างสถานีเติมไฟฟ้า 4.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
  • สหราชอาณาจักรให้คำมั่นว่ารถยนต์กว่าครึ่งบนท้องถนนจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 6%
  • นิวซีแลนด์จะอุดหนุนเงินให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริด
  • รัฐสภาเดนมาร์กลงมติข้อตกลงเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริดให้ได้อย่างน้อย 775,000 คัน ภายในปี 2030 ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าในเดนมาร์กเพียง 20,000 คัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์บนท้องถนนกว่า 2.5 ล้านคัน
  • Biden Climate Plan ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าจะลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สถานีเติมพลังงาน และเงินอุดหนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ที่รักโลกมากขึ้น

 

เชื่อหรือไม่ว่า บริษัท Tesla ปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แซงหน้าผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อน Tesla หลายสิบปีด้วยซ้ำ 

 

 

เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่ทับซ้อนกับเทรนด์ธุรกิจนี้เอง ทำให้แบรนด์รถยนต์อื่นๆ เริ่มปรับตัวตาม อาทิ กลุ่ม Volkswagen ของเยอรมนี ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก (พิจารณาในเชิงปริมาณ) ได้ประกาศจะทุ่มเงินกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.2 ล้านล้านบาทต่อ ‘การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า’ (E-Mobility) และยานยนต์ยุคดิจิทัล

 

การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณูปโภคที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อสอดรับ เช่น การสร้างพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนด้วยพลังงานทดแทน การปรับปรุงแหล่งกักเก็บไฟฟ้าที่สมบูรณ์ขึ้น สถานีน้ำมันที่จะค่อยๆ กลายเป็นสถานีเติมไฟฟ้าแทน 

 

แม้กระทั่งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง บริติชปิโตรเลียม (BP) ยังเตรียมแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบผู้ผลิตน้ำมันอย่างหนักนี้ด้วยการประกาศแผนขายหลักทรัพย์ด้านปิโตรเลียมเกือบทั้งหมด และการลดการสำรวจแหล่งน้ำมัน พร้อมทุ่มการลงทุนไปยังการให้บริการด้านพลังงานคาร์บอนต่ำให้มากขึ้น 

 

ไม่เพียงเท่านั้น BP มีแผนจะนำเงินทุนกว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 4.5 แสนล้านบาท ไปลงทุนกับธุรกิจคาร์บอนต่ำแทน ส่งผลให้จากผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลที่เป็นตัวก่อปัญหาโลกร้อน บริษัทอย่าง BP และผู้ผลิตน้ำมันอีกหลายแห่ง จะกลายเป็นผู้ลงทุนด้านพลังงานสะอาดรายใหญ่ที่สุดของโลกแทน ทั้งหมดนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดียวของประชาชน นั่นคือ การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

 

การเติมน้ำมันจะเป็นเรื่องเชยมากในอนาคต

 

ยักษ์ใหญ่ (ทางธุรกิจ) ผู้รักโลก

 

พลวัตทางธุรกิจอื่นๆ กำลังโน้มเอียงไปฝั่งของการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยื่งทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่วิสัยทัศน์ธุรกิจสีเขียวของหลายบริษัทชัดเจนขึ้น 

 

Apple บริษัทที่มีมูลค่าทางตลาดสูงที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ถึงแผนที่จะเป็น ‘บริษัทที่เป็นกลางทางคาร์บอน’ ทั้งในห่วงโซ่อุปทานและผลิตภัณฑ์ภายในปี 2030 ขณะที่ Microsoft เองก็ประกาศเป้าหมายที่ล้ำหน้ายิ่งกว่า Apple ด้วยการเป็นบริษัท ‘ติดลบ’ ทางคาร์บอนภายในปี 2030 ด้วยการทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะไม่เพียงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ แต่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดต่ำลงอีกด้วย

 

เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับขา ยักษ์เล็กอีกหลายบริษัทจึงมีแผนจะประกาศนโยบายที่คล้ายกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งคำมั่นสัญญาเหล่านี้ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเหมือนในอดีต เพราะนี่เป็นการประกาศไปถึงนักลงทุนซึ่งอ่อนไหวกับการเปลี่ยนนโยบายลักษณะนี้มาก 

 

สินค้าเทคโนโลยีก็ต้องรักโลกด้วย

 

และหากพิจารณาเข้ากับความเคลื่อนไหวของ Apple และอีกหลายบริษัทที่เริ่มผ่องถ่ายการลงทุนไปด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ใช้คาร์บอนต่ำแล้ว ความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ในปีหน้าจึงน่าจับตามากทีเดียว เพราะถือเป็นการลงทุน ‘แบบหมดหน้าตัก’ ให้กับ ‘อนาคตคาร์บอนต่ำ’ ที่หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบบูรณาการพร้อมกับสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้สำเร็จล่ะก็ บริษัทเหล่านี้จะขาดทุนมหาศาลทีเดียว

 

การทะยานขึ้นของ ‘การเงินอย่างยั่งยืน’

 

การเงินและตลาดหุ้นจะมาเกี่ยวอะไรกับการแก้ปัญหาโลกร้อน? ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าขบคิดเพราะ ‘ทุนนิยม’ กับ ‘การอนุรักษ์’ แทบขนานกันมาตลอด ไม่เคยพบจุดบรรจบ แต่นั่นเป็นเพียงตรรกะที่ยังไม่นับรวม ‘ความตระหนักรู้’ ของภาคประชาชนถึงปัญหาโลกร้อน

 

การลงทุนในปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนผ่านสมการที่คำนวณถึงปัจจัยความเสี่ยง ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย ทว่าปัจจุบันได้เกิดปัจจัยใหม่ที่นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นนั่นคือ ‘ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม’ 

 

ยกตัวอย่างเช่น Temperature Score ของบริษัทผู้ให้ข้อมูล Arabesque S-Ray ที่ประเมินการณ์ความรับผิดชอบของแต่ละบริษัทต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก กลายมาเป็นอีกดัชนีที่นักลงทุนที่ ‘ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจได้

 

แล้วยังมี Climate Action 100+ ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มที่เกิดจากกลุ่มนักลงทุนด้วยกันเอง ด้วยการให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนบริษัท 167 แห่งทั่วโลกที่ประเมินแล้วว่ามีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน 

 

กระแสรักโลกแทรกซึมถึงในตลาดหุ้นแล้ว

 

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอีกแรงกดดันให้บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเริ่มทบทวนและปรับปรุงนโยบายของตนเองไปสู่แนวทางคาร์บอนต่ำ มิเช่นนั้นจะถูกกระแสกดดันจากภาคนักลงทุนจนกระทบต่อมูลค่าในตลาดได้ 

 

เพราะจากผลสำรวจของสมาคมนักลงทุนอย่างยั่งยืน Principles for Responsible Investment (PRI) พบว่า นักลงทุนมีความตระหนักรู้มากขึ้นต่อพฤติกรรมสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ของบริษัทต่างๆ และทางบริษัทเองเปิดเผยอัตราความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดียวกันในปี 2019

 

ความเคลื่อนไหวใน ‘ตลาดหนี้’ เองก็น่าสนใจ Forbes รายงานว่า สถาบันทางการเงินทั่วโลกปล่อยสินเชื่อและเงินกู้แก่โครงการและธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมหาศาล เห็นได้จาก ‘พันธบัตรสีเขียว เพื่อสังคมและความยั่งยืน’ ที่เติบโตจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็นกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2020  

 

Upcycling นิยามใหม่ของการ Reuse

 

เรียกอีกชื่อได้ว่า ‘การนำกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์’ อาจกลายเป็นทั้งเทรนด์แฟชั่นและเทรนด์ลดโลกร้อนในเชิงผู้บริโภคที่มาแรงที่สุดในปี 2021 จากการคาดการณ์ของเว็บไซต์ ImpactNottingham นอกจากนี้ กระแส Upcycling ยังเป็นพาดหัวนิตยสาร Vogue บ่อยครั้งด้วย 

 

ทราบหรือไม่ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแวดวงแฟชั่นสัดส่วนใหญ่ที่สุดนั้นมาจากการผลิตเสื้อผ้า ดังนั้นอุตสาหกรรมแฟชั่นจึงควรทบทวนกระบวนการผลิต และใช้วัตถุดิบมหาศาลที่ล้นตลาดอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 

 

ซาร่า อาร์โนลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว Fashion Act Now ระบุว่า “เรามีวัตถุดิบผ้ามากพอจะใช้ได้ตลอดชีวิต เราผลิตเสื้อผ้าเพียงพอต่อการใช้งานอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้เรายังผลิตเสื้อผ้ามหาศาลจากวัตถุดิบใหม่ๆ อยู่ตลอด” และเราเริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำและนักออกแบบระดับโลกทยอยเข็นชุดแฟชั่นจากผลิตภัณฑ์เหลือใช้ออกมาอย่างต่อเนื่อง 

 

Bethany Williams

Bethany Williams

 

แข่งประกวดแฟชั่น Upcycle ในเมืองไมอามีของสหรัฐฯ

แข่งประกวดแฟชั่น Upcycle ในเมืองไมอามีของสหรัฐฯ

 

อิทธิพลจากโควิด-19 และการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงพีคของการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวงการแฟชั่นเช่นกัน เมื่อดีไซน์เนอร์ออกนอกบ้านไม่ได้ การนำเข้าวัตถุดิบชะงักงัน พวกเขาจึงหันกลับมาพิจารณา ‘สิ่งที่มีอยู่แล้ว’ เพื่อสร้างสรรค์คอลเล็กชันใหม่ๆ 

 

ยกตัวอย่าง โจนาธาน แอนเดอร์สัน ดีไซน์เนอร์ชั้นนำ กับคอลเล็กชัน ‘Made in Britain’ ที่ผลิตจากผืนผ้าที่เหลือจากคอลเล็กชันซีซันก่อนๆ บางส่วนนั้นเป็นเสื้อผ้า ‘ค้างสต๊อก’ ที่จำหน่ายไม่ได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถออกไปช้อปปิ้งได้

 

ปกติแล้วสินค้าค้างสต๊อกของแบรนด์เนมดังๆ มักจะถูกทิ้งขว้างจากทางแบรนด์เอง เพื่อรักษาคุณค่าของสินค้า ส่งผลให้ผืนผ้าคุณภาพสูงและวัตถุดิบดีๆ มากมายถูกทำลายผ่านกระบวนการที่ขาดจริยธรรมและสร้างขยะเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ค่านิยมเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป จากกระแส Upcycle ที่กลายเป็นเทรนด์ที่หากแบรนด์หรือนักออกแบบคนไหนไม่ทำตามก็จะตกขบวน

 

ความงามที่ไม่สร้างขยะ

 

อุตสาหกรรมเสริมความงามขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สร้างขยะมหาศาล ตามข้อมูลของ Zero Waste Week พบว่า ธุรกิจเสริมความงามโลกและดูแลสุขภาพสร้างบรรจุภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะมากถึง 120,000 ล้านชิ้น ในปี 2018 หรือเฉลี่ย 329 ชิ้นต่อวัน

 

และบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าพลาสติกอาจต้องใช้เวลาถึง 500 ปีเพื่อย่อยสลายตามธรรมชาติ นั่นหมายความว่าพลาสติกแต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นมาจะมีอายุขัยหลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว และจนถึงปัจจุบัน โลกได้ผลิตพลาสติกแล้วมากกว่า 8 พันล้านลูกบาศก์ตัน หรือเทียบเท่าน้ำหนักของอาคาร Empire State จำนวน 23,000 อาคารเลยทีเดียว 

 

การปฏิรูปบรรจุภัณฑ์เครื่องเสริมความงามเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังเห็นแรงขับเคลื่อนและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงของแบรนด์ใหญ่ต่างๆ เช่น L’Oréal (ลอรีอัล) ที่เมื่อไม่นานมานี้ประกาศ ‘แผนสู่อนาคต’ ตั้งเป้าหมายและการมีส่วนร่วมต่อการลดโลกร้อนภายในปี 2030 และ Unilever (ยูนิลีเวอร์) ที่เปิดตัวแผน ‘การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน’ กับเป้าหมายคล้ายกันในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า

 

ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นบรรจุภัณฑ์ของเครื่องประทินโฉมที่เราคุ้นเคยมีขนาดบางลง น้ำหนักเบาลง ใช้วัตถุดิบทางชีวภาพทดแทนพลาสติก หรือแม้กระทั่งขวดแบบเติม 

 

บางแบรนด์ยังยึดเทรนด์ลดขยะนี้เป็นจุดขาย ยกตัวอย่าง Humankind (ฮิวแมนไคด์) ที่กำหนดว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งลงให้ได้ 90% ขณะที่ Procter & Gamble (พร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล) ได้จับมือกับองค์กร Greenpeace เพื่อสร้างขวดจากขยะตามชายหาด และให้ความรู้แก่ชาวสวนปาล์มถึงเทคนิคการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising