×

เตรียมเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ระหว่าง กทม. และกรุงเทพธนาคมเย็นนี้ แต่ส่วนเกี่ยวข้องกับเอกชนยังเปิดไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
01.08.2022
  • LOADING...
สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

วันนี้ (1 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เรื่องภาระหนี้สินของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนของ กทม. ถ้าเรามีหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใสในทุกเรื่อง เราพร้อมจ่ายอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่ต้องทำให้รอบคอบ ปัจจุบัน กทม. เป็นคู่สัญญากับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปจ้างบริษัทเอกชนเดินรถ ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน 

 

  1. ส่วนไข่แดง เริ่มจาก กทม. ให้สัมปทานบริษัทเอกชน ซึ่งนำไปขายต่อให้กองทุนถึงปี 2572 ส่วนปี 2572-2585 มีการว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้บริหารต่อ แล้วกรุงเทพธนาคมจ้างบีทีเอสเดินรถต่อ 

 

  1. ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง และ ตากสิน-บางหว้า ซึ่ง กทม. ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปว่าจ้างบีทีเอสต่อ 

 

  1. ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไป คือ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาคือ กทม. มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารจัดการ รวมทั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลด้วย ซึ่ง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการต่อ

 

ภาระหนี้ต่างๆ จึงเป็นหนี้ระหว่าง กทม. กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีภาระหนี้กับเอกชน โดย กทม. ได้ว่าจ้างและมอบหมายให้บริษัทดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 2 สัญญา คือ สัญญาที่ กทม. ได้ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี ลงนามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 หรือสัญญาโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วย 

 

  1. ส่วนต่อขยายสายสีลม 2.2 กิโลเมตร (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) 
  2. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท 5.25 กิโลเมตร (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 
  3. ส่วนต่อขยายสายสีลม 5.3 กิโลเมตร (สถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า)
  4. การเดินรถหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572 – 2 พฤษภาคม 2585 

 

โดยส่วนต่อขยายที่ 1 ในวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการบรรจุโครงการนี้ในข้อบัญญัติ กทม. คือผ่านสภา กทม. เรียบร้อย มีรายละเอียดโครงการชัดเจนว่าจะสร้างเมื่อไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร หลังจากนั้น 2 พฤษภาคม 2555 ได้ลงนามสัญญาจ้างกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็ได้ทำสัญญากับเอกชนเลย ซึ่งวันนี้จะลงเว็บไซต์ กทม. โดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มีหนังสืออนุญาตให้ กทม. เปิดสัญญาแล้ว แต่ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับเอกชนยังเปิดเผยสัญญาไม่ได้ เพราะยังติดในเรื่องพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

 

ในส่วนของส่วนต่อขยายที่ 2 ปรากฏว่ามีการลงนามซื้อขายระบบไฟฟ้าเครื่องกลก่อน ในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับบีทีเอส มูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าสำนักการจราจรและขนส่งได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไปดำเนินการ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้นได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการในเรื่องนี้ และกระบวนการนี้ยังไม่มีการผ่านสภา กทม. ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงที่ กทม. ได้มอบหมายหน้าที่ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชนให้แก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ตามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของ กทม. โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 หรือบันทึกข้อตกลงมอบหมายงานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อให้การดำเนินกิจการขนส่งมวลชนอันเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชน และด้วยหลักธรรมาภิบาลของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ สัญญาส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 เป็นสัญญาจ้างบริหารโครงการ แต่สัญญาส่วนที่ 2 เป็นบันทึกมอบหมายให้เดินรถ ซึ่งในบันทึกมอบหมายไม่มีรายละเอียดเรื่องค่าจ้าง เป็นเหมือนตัวเลขคร่าวๆ จากนั้นวันที่ 1 สิงหาคม 2559 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็ไปลงนามกับบริษัทเอกชนจ้างเดินรถ 

 

“ข้อแตกต่างระหว่าง 2 ส่วนนี้ คือ 1. ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีการบรรจุอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. ดังนั้น สภา กทม. จะไม่ทราบเรื่อง ซึ่งถ้าเราเอาเงินไปจ่ายค่าเดินรถ จะต้องอยู่ในงบประมาณของ กทม. ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา เราจึงต้องระมัดระวังว่าเราจะจ่ายหนี้ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้อย่างไร เพราะโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ผ่านสภา กทม. 2. ส่วนต่อขยายที่ 1 มีสัญญาชัดเจนว่าจ้างเท่าไร มีกรอบวงเงินเท่าไร แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นบันทึกข้อตกลงเท่านั้น ไม่ได้มีระบุวงเงินงบประมาณ มีเพียงประมาณการรายรับรายจ่ายคร่าวๆ อยู่ในสัญญาระหว่าง กทม. กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นอกจากนี้ ในสัญญาที่ 2 ยังระบุด้วยว่ากรุงเทพธนาคมไม่ใช่ตัวแทนของ กทม. ซึ่งตามกฎหมายคำพูดนี้ก็มีความหมายเหมือนกัน” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะเก็บหนี้กับ กทม. คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,800 ล้านบาท (ปี 2562-2565) ส่วนต่อขยายที่ 2 (ปี 2560-2565) ประมาณ 1,700 ล้านบาท และเมษายน 2560-2565 ช่วงแบริ่ง 7,565 ล้านบาท รวม 17,509 ล้านบาท และงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ 17,849 ล้านบาท รวมทั้งหมด 35,459 ล้านบาท แต่ในช่วงที่ 1 ที่ กทม. ยังไม่ได้จ่าย เพราะเป็นกระบวนการตามมาตรา 44 ให้เจรจาขยายสัมปทานไปถึงปี 2562 ในที่ประชุมกรรมการตกลงกันแล้วว่า เป็นกระบวนการที่อยู่ในการเจรจาเรื่องสัมปทานที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งส่วนต่อขยายก็อยู่ในระหว่างการเจรจาด้วย ทุกอย่างต้องรอบคอบ ต้องดูอำนาจจ่ายเงินมีหรือไม่ ที่สำคัญคือสภา กทม. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการใช้จ่าย เราไม่สามารถเอาเงินไปใช้จ่ายได้โดยไม่ผ่านงบประมาณ นี่คือสิ่งที่เราต้องละเอียด เราไม่ได้ดึงเวลา แต่เราเห็นว่ารายละเอียดมันเยอะ ตัวเลขมันเยอะ 

 

ดังนั้น กระบวนการตามกฎหมายก็ต้องให้รอบคอบ สิ่งที่ต้องคิดอีกอย่างคือค่าแรกเข้าระบบหรือค่าบริหารสถานี ซึ่งส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เราจะเริ่มเก็บเงิน ต้องมี รปภ. ระบบอ่านตั๋วก่อนเข้า แม้จะเข้าสถานีเดียวก็ต้องเสีย 15-16 บาท ตอนนี้กำลังให้กรุงเทพธนาคมไปเจรจา ซึ่งในสัญญาไม่มีสัญญาแรกเข้า แต่ระบุว่าสถานีเก็บครั้งแรกได้ไม่เกิน 15 บาท นี่เป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถจบภายใน 1 เดือนได้ 

 

“ทั้งนี้ ครม. ได้มีหนังสือสอบถามความคิดเห็นมายัง กทม. แล้วว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร ก็คงต้องประชุมร่วมกับสภา กทม. และอีกเรื่องที่เรายืนยันคือ เราต้องการขอการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องของการลงทุนด้านงานโยธา ในส่วนที่มหาดไทยแจ้งมา เราต้องเอาเรื่องเข้าสภา กทม. อาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมกันในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ระบุว่า เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ กทม. ในอัตราส่วนที่เหมาะสม” ชัชชาติกล่าว 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สำหรับในส่วนต่อขยายที่ 2 ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบันทึกข้อตกลงมอบหมายว่า ทำไมไม่ทำสัญญาเหมือนส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่มีงวดจ่ายเงินที่ชัดเจน อาจจะมีเรื่องค่าแรกเข้าที่ต้องคุยเพิ่มเติม ประชาชนไม่สามารถจ่ายค่าแรกเข้า 2 ครั้งได้ เพราะจะทำให้ค่าโดยสารแพงมาก สำนักการจราจรและขนส่งต้องไปเจรจากับกรุงเทพธนาคม เพื่อไปดูว่าจะคุยต่อหรือคำนวณอย่างไร มันมีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของกฎหมาย จำนวนเงิน ตัวเลขต่างๆ และเงินเป็นเงินภาษีของประชาชน ก็ต้องทำให้รอบคอบ 

 

โดยวันนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ ผศ.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ลงนามให้ความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลไว้ในสัญญาและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการบริหารจัดการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยระบุในหนังสือว่า “บริษัทเห็นว่าสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างบริหารระบบขนส่งมวลชน อันเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และด้วยหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทจึงเห็นว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ต่อสาธารณะได้ ด้วยหนังสือฉบับนี้ บริษัทในฐานะคู่สัญญาขอแสดงความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวมายัง กทม. เพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising