×

สดร. คาด ลูกไฟสีเขียวเหนือท้องฟ้าเมื่อคืนวันที่ 4 มี.ค. เป็น ‘ดาวตกชนิดลูกไฟ’

โดย THE STANDARD TEAM
05.03.2024
  • LOADING...
ลูกไฟสีเขียว ขนาดใหญ่ พบเห็นในประเทศไทย คาดว่า เป็น ดาวตก

วันนี้ (5 มีนาคม) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ปรากฏเป็นลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาวเมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 3 ทุ่มเศษ 

 

โดยลูกไฟดังกล่าวมีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ในจังหวัดแถบภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, กาญจนบรี, ชลบุรี, สมุทรสาคร, นครนายก, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, ราชบุรี และฉะเชิงเทรา 

 

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (สดร.) กล่าวว่า ดาวตก (Meteorite) เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเสียดสีกับชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย ซึ่งจากคลิปวิดีโอและภาพถ่ายดังกล่าว ดาวตกที่ปรากฏมีขนาดใหญ่และสว่างมาก ความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ (Fireball) ทั้งนี้ แสงสีเขียวของดาวตกสามารถบ่งบอกได้ว่ามีส่วนประกอบของธาตุนิกเกิลซึ่งเป็นธาตุโลหะ

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตกเกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ

 

ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 

 

ภาพ: Pana Pom

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising