×

ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดได้หรือไม่ บทสรุปที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

13.08.2021
  • LOADING...
ฟ้าทะลายโจร

HIGHLIGHTS

  • คำแนะนำของกรมการแพทย์ฉบับล่าสุดระบุว่า “พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์” และ “ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรและยาต้านไวรัสร่วมกัน อาจมีผลข้างเคียงจากยา” สังเกตว่าคำแนะนำฉบับนี้เป็นการใช้ยาในผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น โดยคำนวณให้ได้สาร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานติดต่อกัน 5 วัน ในขณะที่สีเหลืองและแดงจะต้องใช้ยาต้านไวรัสเป็นหลัก 
  • ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิดถือว่ายังมีข้อมูลที่สนับสนุนด้านประสิทธิผลจำนวนไม่มาก ด้วยข้อจำกัดว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกทำให้ไม่มีความพร้อมในการวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยในมนุษย์ ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันก็มีแนวทางการรักษามาตรฐานที่มีการจ่ายยาต้านไวรัสและยาอื่นๆ ถ้าเปรียบเทียบกับการพัฒนาวัคซีนโควิด การวิจัยยาฟ้าทะลายโจรในระยะที่ 3 หรือ 4 ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ 
  • ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อยควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรอย่างรอบด้าน หากประเมินแล้วว่ายานี้มี ‘ประโยชน์’ ต่อตนเองมากกว่า ‘ความเสี่ยง’ ก็อาจรับประทานในขนาดที่กรมการแพทย์แนะนำ แต่ในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาอื่นเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

ในการระบาดของโควิดระลอกหลังนี้มีข่าวเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรมาเป็นระยะ ทั้งข่าวยา ‘ขาดตลาด’ เพราะประชาชนซื้อมารับประทานเพื่อป้องกันและรักษากันมากขึ้น ข่าวยาฟ้าทะลายโจร ‘ปลอม’ ต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ยาขาดตลาด ข่าวกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการใช้ยาเพื่อ ‘รักษา’ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงแพทย์บางท่านที่ผลักดันเต็มที่

 

ในขณะที่แพทย์อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาฟ้าทะลายโจร เพราะยังมีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษา การออกฤทธิ์เสริมกับยาอื่นที่ผู้ป่วยใช้ประจำ ผู้ป่วยบางรายมีภาวะตับอักเสบหรือไตวายเฉียบพลันได้ และล่าสุดมีข่าวคณะผู้วิจัยยาฟ้าทะลายโจรขอ ‘ถอนงานวิจัย’ ชิ้นหนึ่งออกจากฐานข้อมูลงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ ทำให้เกิดความสับสนว่า ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดได้หรือไม่ 

 

ผมจะขอตั้งต้นจากคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขก่อน แล้วจะขยายความไปถึงงานวิจัยหลักที่หน่วยงานอ้างอิง โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยาฟ้าทะลายโจร ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติรับผิดชอบเรื่องยา กรมการแพทย์รับผิดชอบแนวทางการรักษาผู้ป่วย และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรับผิดชอบยาสมุนไพร

 

คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

การสั่งจ่ายยาของแพทย์โดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องอ้างอิง ‘บัญชียาหลักแห่งชาติ’ เพื่อควบคุมการใช้ยาอย่าสมเหตุผล ซึ่งจะมีคณะกรรมการคัดเลือกยาที่เหมาะสมเข้าบัญชีนี้ โดยพิจารณาจากความปลอดภัย ประสิทธิผล และความคุ้มค่า สำหรับยาสมุนไพรจะมี ‘บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร’ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการมีมติคัดเลือกยาสมุนไพร 2 ราย ได้แก่

 

  • ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร มีข้อบ่งใช้ 2 ข้อ คือ 1. บรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ รับประทานในขนาดที่มี Andrographolide 60-120 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานเป็นเวลา 5-7 วัน และ 2. ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิดที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรครุนแรง รับประทานในขนาดที่มี Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ยาจากผงฟ้าทะลายโจร มีข้อบ่งใช้ข้อเดียวคือเหมือนกับข้อ 2. ในรายการแรก

 

ต่อมามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 โดยทั้ง 2 รายการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบด้วย ดังนั้นถ้าอ้างอิงตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งน่าจะมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็สามารถใช้ตามข้อบ่งใช้ได้ และถ้าหากมีหลักฐานใหม่หักล้างในภายหลังคณะกรรมการก็น่าจะพิจารณายานี้อีกครั้ง

 

คำแนะนำของกรมการแพทย์

การรักษาผู้ป่วยของแพทย์มักอ้างอิงแนวทางเวชปฏิบัติขององค์กรแพทย์เฉพาะทางทั้งในและต่างประเทศ สำหรับโควิดในประเทศไทย กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีการรปรับปรุงหลายครั้งตามหลักฐานงานวิจัยในขณะนั้น ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564

 

ยาฟ้าทะลายโจรได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในแนวทางฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ว่า “ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลการรักษาอื่นๆ เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร หรือ Ivemectin หรือ Combination Regimen อื่นๆ รวมทั้ง Convalescent Plasma การใช้การรักษาเหล่านี้ยังไม่เป็นแนวทางมาตรฐาน การใช้ให้เป็นตามวิจารณญาณของแพทย์” จนกระทั่งได้รับการบรรจุในแนวทางอย่างเป็นทางการในฉบับล่าสุด

 

โดยฉบับล่าสุดระบุว่า “ยาฟ้าทะลายโจรอาจมีฤทธิ์ Anti-SARS-CoV-2, Anti-inflammatory และลดอาการไข้หวัด เจ็บคอ พิจารณาใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโควิดที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร ข้อมูลจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอาจช่วยลดโอกาสการดำเนินโรคไปเป็นปอดอักเสบได้ ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติม”

 

จึงแนะนำ “พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์” และ “ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรและยาต้านไวรัสร่วมกัน อาจมีผลข้างเคียงจากยา” สังเกตว่าคำแนะนำฉบับนี้เป็นการใช้ยาในผู้ป่วยสีเขียวเท่านั้น โดยคำนวณให้ได้สาร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานติดต่อกัน 5 วัน ในขณะที่สีเหลืองและแดงจะต้องใช้ยาต้านไวรัสเป็นหลัก 

 

 

ส่วนการรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แนวทางฉบับนี้ยัง ‘ไม่แนะนำ’ ให้ใช้ ดังนั้นถ้าจะอ้างอิงตามกรมการแพทย์ ยาฟ้าทะลายโจรสามารถใช้รักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (หรือยังไม่มีอาการ เพื่อลดโอกาสการมีอาการรุนแรง) แต่ห้ามใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และมีข้อควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาลดความดัน และยาที่มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน

 

คำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยฯ

กรมการแพทย์แพทย์แผนไทยฯ มีคำแนะนำออกมาก่อนหน้า 2 หน่วยงานข้างต้น คือราวเดือนมีนาคม 2564 ได้ออกคำแนะนำการใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรสำหรับโรคโควิด ทั้งขนาดที่ใช้ในการรักษาและขนาดสำหรับเสริมภูมิคุ้มกัน โดยขนาดที่ใช้ในการรักษาจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แนะนำให้ใช้สารสกัดที่มีปริมาณสาร Andrographolide 60 มิลลิกรัมต่อวัน

 

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ แนะนำให้ใช้ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันนาน 5 วัน ในขณะที่การรับประทานเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันแนะนำให้ใช้ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน เว้น 2 วัน ต่อเนื่องกันไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ได้หมายเหตุไว้ว่า “สูตรยาที่แนะนำในคำแนะนำนี้กำหนดขึ้นจากหลักฐานเท่าที่มีว่าอาจจะมีประโยชน์ ซึ่งยังไม่มีงานวิจัยแบบ Randomized Control Trial มากเพียงพอที่จะรับรองยาชนิดใดๆ ดังนั้นแพทย์ควรติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการรักษา ข้อแนะนำการรักษาจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป” ซึ่งหลายคนที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในช่วงแรกอาจไม่ทราบข้อจำกัดของคำแนะนำนี้

 

สำหรับงานวิจัยแบบ Randomized Control Trial (RCT) ที่กล่าวถึงนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับการพัฒนาวัคซีนที่หลายคนคุ้นเคยกัน RCT จะเป็นงานวิจัยในระยะที่ 3 เพื่อศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน โดยจะต้องมีกลุ่มควบคุม (Control) ซึ่งมักจะได้รับยาหลอก (Placebo) เช่น ยาที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันแต่ไม่มีตัวยา เพื่อเปรียบเทียบว่ายาที่ศึกษามีประสิทธิผลจริงหรือไม่

 

และจะต้องมีการสุ่ม (Randomization) แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 กลุ่มมีลักษณะทางประชากรใกล้เคียงกันด้วย เช่น เพศ อายุ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ อาสาสมัครไม่สามารถเลือกได้ว่าตนเองจะได้รับยาจริงหรือยาหลอก ส่วนผู้วิจัยที่ทำหน้าที่ประเมินผลการรักษาก็จะไม่ทราบว่าอาสาสมัครคนใดได้รับยาชนิดใดเช่นกัน รูปแบบงานวิจัยนี้จึงมีความน่าเชื่อถือสูง

 

งานวิจัยที่คณะผู้วิจัยขอถอนออกจากฐานข้อมูล

งานวิจัยที่เป็นข่าวว่ามีการถอนงานวิจัยออกจากฐานข้อมูลคือ Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial แปลเป็นภาษาไทยคือ ‘ประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม’ และสังเกตว่าเป็นการศึกษารูปแบบ RCT ที่พูดถึงข้างต้น

 

ผู้วิจัยหลักคือ นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยการแพทย์แผนไทย นั่นคือกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ศึกษาประสิทธิผลของยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิดด้วยรูปแบบการวิจัยที่น่าจะได้รับการยอมรับแล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ทำการศึกษาเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาที่ว่าฟ้าทะลายโจรไม่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคนี้

 

จากบทคัดย่อของงานวิจัยเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย (อายุระหว่าง 18-60 ปี) โดยกลุ่มทดลอง 29 รายได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 28 รายได้รับยาหลอก ผลลัพธ์ที่วัดคือภาวะปอดอักเสบ การตรวจพบเชื้อ ความเปลี่ยนแปลงของสารที่เกี่ยวกับการอักเสบ (CRP) และผลข้างเคียงจากยา พบว่า

 

  • กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรไม่พบภาวะปอดอักเสบเลย (0/29 = 0%) ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบ 3 ราย (3/28 = 10.7%) ด้วยค่านัยสำคัญทางสถิติ p=0.039 
  • ทั้งหมดไม่พบผลข้างเคียงต่อตับหรือไต
  • คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรน่าจะมีประสิทธิผลและมีความปลอดภัยในผู้ป่วยโควิดวัยผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อย

 

ทว่าต่อมาเมื่อคณะผู้วิจัยส่งผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมีผู้ทักท้วงว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณค่านัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าที่คำนวณใหม่คือ p=0.112 ซึ่งจะถือว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ‘ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ’ เพราะถ้าทำวิจัยแบบเดิมซ้ำ 100 ครั้งจะมีโอกาสพบความแตกต่างโดยบังเอิญมากกว่า 5 ครั้ง (p>0.05) จึงต้องถอนงานวิจัยออกมา

 

ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการขอความช่วยเหลือจากผู้วิจัยในการวิเคราะห์ข้อมูล ชี้แจงในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่าไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลผิด แต่เกิดความผิดพลาดที่ผู้วิจัยได้รายงานผลค่า p ของการวิเคราะห์อื่นที่ไม่ใช่การเปรียบเทียบการเกิดภาวะปอดอักเสบ และไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

“อย่างไรก็ตามขนาดผลการรักษาที่ต่างกันถึง 10.7% น่าจะมีนัยสำคัญทางคลินิก (Clinical Significance) ถึงแม้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติซึ่งขึ้นกับขนาดตัวอย่างอย่างมาก ดังนั้นเราควรพิจารณาผลการศึกษานี้ประกอบกับผลข้างเคียงของยาฟ้าทะลายโจร เช่น พิษต่อตับหรือไต ความสามารถในการเข้าถึงยาที่ผลิตได้เองในประเทศไทย” 

 

ศ.ดร.อัมรินทร์ ทักขิญเสถียร หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ ระบุในเอกสารชี้แจงที่โพสต์ผ่านเพจ Ramathibodi Clinical Epidemiology & Biostatistics ของภาควิชา

 

งานวิจัยอื่นที่กรมการแพทย์อ้างอิงถึง

เอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรที่กรมการแพทย์อ้างอิงถึงในแนวทางฉบับล่าสุดมี 4 ชิ้น โดย 1 ในนั้นเป็นงานวิจัยที่คณะผู้วิจัยขอถอนออกจากฐานข้อมูลที่กล่าวถึงมาแล้ว จึงมีแพทย์บางส่วนเห็นว่าควรมีการปรับแก้แนวทางให้สอดคล้องกับผลการวิจัยที่มีการแก้ไข แต่กรมการแพทย์ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ ส่วนงานวิจัยอีก 3 ชิ้นที่กรมการแพทย์อ้างอิง ได้แก่

 

  • Anti-SARS-CoV-2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives 
  • Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. ex Nees: An Updated Review of Phytochemistry, Antimicrobial Pharmacology, and Clinical Safety and Efficacy
  • Effects of Andrographis paniculata on prevention of pneumonia in mildly symptomatic COVID-19 patients: A retrospective cohort study

 

ชิ้นแรกเป็นงานวิจัยของ ผศ.ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Natural Products เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสาร Andrographolide สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ของเซลล์เยื่อบุผิวปอดของมนุษย์ในห้องทดลองได้ ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะนำยาฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการรักษาโควิด

 

ชิ้นถัดมาเป็นบทความทบทวนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร ว่ามีงานวิจัยทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุมหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิผลต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด และไซนัสอักเสบ ส่วนโควิด มีรายงานว่าสารหลายชนิดในฟ้าทะลายโจร รวมถึง Andrographolide สามารถจับกับไวรัสหรือยับยั้งเอนไซม์ของไวรัสได้

 

ส่วนชิ้นสุดท้ายเป็นงานวิจัยของ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เกี่ยวกับผลของฟ้าทะลายโจรในการป้องกันภาวะปอดอักเสบในผู้ป่วยอาการเล็กน้อย โดยเป็นการศึกษาเชิงสังเกตแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง งานวิจัยนี้ยังไม่ตีพิมพ์ แต่น่าจะเป็นงานวิจัยเดียวกับที่ผู้วิจัยเผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า

 

  • จากการศึกษาวิจัยในโรงพยาบาลของรัฐ 9 แห่ง โดยการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน 309 ราย พบภาวะปอดอักเสบ 3 ราย (0.9%) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 526 ราย พบภาวะปอดอักเสบ 77 ราย (14.6%) สรุปว่ายาฟ้าทะลายโจรลดโอกาสเกิดปอดอักเสบได้ 94.3% (p<0.001)

 

บทสรุปที่น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป

ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาโควิดถือว่ายังมีข้อมูลที่สนับสนุนด้านประสิทธิผลจำนวนไม่มาก ด้วยข้อจำกัดว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกทำให้ไม่มีความพร้อมในการวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยในมนุษย์ ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันก็มีแนวทางการรักษามาตรฐานที่มีการจ่ายยาต้านไวรัสและยาอื่นๆ ถ้าเปรียบเทียบกับการพัฒนาวัคซีนโควิด การวิจัยยาฟ้าทะลายโจรในระยะที่ 3 หรือ 4 ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ 

 

ข่าวการถอนงานวิจัยเนื่องจากเมื่อวิเคราะห์ผลใหม่กลับพบว่าประสิทธิผลของยาไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ผลการวิจัยในระดับเซลล์ก็พบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งไวรัสโควิดได้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงควรเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้นหรือออกแบบการศึกษาใหม่อย่างเป็นระบบ ถึงจะสรุปว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิดได้

 

ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อยควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรอย่างรอบด้าน หากประเมินแล้วว่ายานี้มี ‘ประโยชน์’ ต่อตนเองมากกว่า ‘ความเสี่ยง’ ก็อาจรับประทานในขนาดที่กรมการแพทย์แนะนำ คือให้ได้สาร Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 วัน แต่ในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาอื่นเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising