ปรากฏตัวตามหน้าสื่อให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ และหลังจากที่ได้เข้ามาตั้งฐานทัพประจำการการผลิตที่ประเทศไทยมาตั้งแต่กลางปี 2020 ในที่สุด หลังจากซุ่มทำงานเป็นเวลา 8 เดือน เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 Great Wall Motors (GWM) หรือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวแบรนด์ และประกาศแผนการรุกตลาดรถยนต์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเต็มรูปแบบแล้ว
เบื้องต้นอย่างที่ใครหลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดตัวรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในปีนี้แล้ว 2 โมเดลจาก 2 แบรนด์คือ
1. ORA Good Cat รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100% แบรนด์ ORA ในรูปลักษณ์สุดคลาสสิก ผสมผสานกับดีไซน์ความโฉบเฉี่ยวแบบฟิวเจอริสติก ซึ่งจะถือเป็น xEV รุ่นแรกที่ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ส จำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการ
2. All New HAVAL H6 รถยนต์โมเดลเอสยูวีจากแบรนด์ HAVAL ที่ทำยอดขายรวมได้มากกว่า 6 ล้านคันทั่วโลก และทำสถิติยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา มีจุดเด่นอยู่ที่การจัดเต็มด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ในตัวรถ และดีไซน์ที่ดูล้ำ
เท่านั้นยังไม่พอ ภายในปี 2021 นี้ พวกเขาตั้งเป้าจะเปิดตัวรถยนต์ใหม่เพิ่มอีก 2 โมเดล รวมทั้งหมดในปีนี้เป็น 4 โมเดล
ก่อนที่อีก 3 ปีต่อจากนี้ พวกเขาตั้งเป้าจะเปิดตัวรถยนต์วางขายในไทยรวมทั้งหมด 9 รุ่น ซึ่งน่าจะเป็นรถยนต์ xEV เกือบทั้งหมด โดยอีก 2 แบรนด์ที่ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ยังอุบไต๋ไม่เผยรายละเอียดออกมามากนักก็ได้แก่ GWM Pickup แบรนด์รถกระบะ และ WEY แบรนด์รถยนต์โมเดลเอสยูวีที่เน้นจับตลาดไฮเอนด์ กำลังซื้อสูง
แต่คำถามสำคัญก็คือ อะไรทำให้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ กลายเป็นแบรนด์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาทำตลาดที่ประเทศไทยในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้
แพลตฟอร์มตัวรถ GWM LEMON ที่พัฒนาขึ้นโดยทีม R&D
ตลาดรถยนต์กำลังผละจาก ‘สันดาป’ สู่อ้อมอก ‘ไฟฟ้า’
หากย้อนไปสักประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ถ้าเราถามคนส่วนใหญ่ว่าพวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ICE ที่ใช้กันอยู่ปกติมากน้อยแค่ไหน คนส่วนใหญ่คงน่าจะตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า ‘ไม่’ เพราะเทคโนโลยี ณ เวลาดังกล่าวยังมีราคาที่สูงมากๆ บวกกับสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่มีครอบคลุมมากเพียงพอ และค่ายรถยนต์ที่ลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างจริงจังก็ไม่มี เราจึงได้เห็นรถยนต์ในโมเดล Hybrid หรือ Plug-in Hybrid (PHEV) มาทำตลาดก่อน
คำถามเดียวกัน ถ้าถาม ณ วันนี้ เราเชื่อว่าคำตอบที่ได้รับน่าจะ ‘เสียงแตก’ พอสมควร เนื่องจากทุกคนต่างเห็นพ้องตรงกันแล้วว่า รถไฟฟ้าคืออนาคตที่ไม่อาจ ‘หลีกเลี่ยงได้’ อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว
ที่สำคัญ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็เริ่มประกาศมาตรการแบนรถยนต์เชื้อเพลิงดีเซลตามกรอบเวลาที่วางไว้อย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตและพลเมืองในการซื้อรถไฟฟ้า นั่นจึงทำให้โรดแมปที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทกับไลฟ์สไตล์ของเราย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ตัวผู้บริโภคและคนใช้งานอย่างเราก็เริ่มสนใจ และอยากได้รถยนต์ไฟฟ้ามาครอบครองกันเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีโอกาสได้ทดลอง ‘เทคโนโลยีแห่งอนาคต’ ด้วยตัวเอง
เมื่อเทรนด์ความสนใจผู้บริโภคเริ่มขยับมาทางนี้ชัดเจน ผลที่ตามมาจึงทำให้ภาคผู้ผลิตเองก็เกิดความมั่นใจในดีมานด์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องก็เริ่มเล็งเห็นถึงหนทางในการปูพรมดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ที่ ณ เวลานี้ เริ่มวางแผนขยายเน็ตเวิร์กกันอย่างต่อเนื่องแล้ว
โดยสองเจ้าตลาดที่กำลังขับเคี่ยวแข่งขันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าวางจำหน่ายในท้องตลาดกันอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้ ย่อมหนีไม่พ้น ‘สหรัฐฯ’ และ ‘จีน’ โดยเฉพาะรายหลังที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเชิงการตลาดรถไฟฟ้า
เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ก็นับรวมเป็นหนึ่งใน ‘ของถนัด’ ที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี บวกกับความสนับสนุนของรัฐบาลจีนผ่านนโยบาย Subsidy เพลตทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้รถไฟฟ้าได้รับความนิยมในประเทศจีน
ผลลัพธ์ที่ผ่านมาคือตลอดทั้งปี 2020 ยอดการจำหน่ายรถไฟฟ้าในจีนกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางทิศทางของตลาดรถยนต์ทั้งประเทศที่ซบเซาอย่างเห็นได้ชัด
โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน China Association of Automobile Manufacturers พบว่า ปี 2020 ที่ผ่านมา รถยนต์กลุ่มพลังงานทางเลือกทั้งรถไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดในจีนสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 1.36 ล้านคัน คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 11% (คิดเป็นสัดส่วน 5.37% ของยอดขายรถทั้งประเทศ)
ขณะที่ตลาดรถยนต์ทั้งประเทศจีนในปีที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายได้เพียง 25.3 ล้านคันเท่านั้น ลดลงจากปี 2019 ประมาณ 2%
นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีน ก้าวขึ้นมาช่วงชิงความนิยมจากผู้คนจำนวนมากได้สำเร็จ โดยอาศัยแรงขับในประเทศเป็นจุดตั้งต้น แล้วพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทำไม ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ ถึงกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่ใครจะประมาทไม่ได้
จริงอยู่ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ อาจจะเปรียบเสมือนค่ายรถยนต์น้องใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเพิ่งจะมีอายุได้ไม่ถึง 1 ปี แต่หากมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทแล้ว พวกเขาได้เริ่มต้นธุรกิจในฐานะผู้ผลิตรถเอสยูวีและรถกระบะอันดับต้นๆ ของโลก โดยเริ่มก่อตั้งธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1984 หรือเพียง 37 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับความสำเร็จ ก็ถือว่าเป็นแบรนด์ที่เติบโตเร็วใช่ย่อย
ความแข็งแกร่งของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ คือการที่พวกเขาสามารถครองเจ้าตลาดแบรนด์รถเอสยูวี และรถกระบะในประเทศจีนมาโดยตลอด ในฐานะผู้นำที่มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในรถสองเซกเมนต์ดังกล่าว
ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ถือเป็นค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทเอกชนในสัดส่วน 100% โดยไม่มีการร่วมทุนกับรัฐบาลจีน และได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อปี 2003 และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในปี 2011 และมีบริษัทย่อยที่ถือหุ้นมากกว่า 80 บริษัท มีพนักงานกว่า 70,000 คน จำหน่ายรถยนต์ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีเครือข่ายในต่างประเทศกว่า 500 แห่ง
และมีแบรนด์รถยนต์ในเครือ 4 แบรนด์หลักได้แก่ HAVAL, ORA, GWM PICKUP และ WEY เพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน
ภายในห้องโดยสารและโมเดลรถ HAVAL H6
1. HAVAL วาง Position ในฐานะแบรนด์ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรถเอสยูวีรายใหญ่ เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแค่มีคุณภาพที่ดี แต่ยังต้องมีดีไซน์และความประณีตสวยงาม
2. ORA แบรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเจเนอเรชันใหม่ ที่กำลังไต่ระดับขึ้นสู่ The Most Popular EV Car มาพร้อมกับเทคโนโลยีชั้นยอด และดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ และนำเสนอรถยนต์แต่ละรุ่นที่แตกต่างกันตามรูปแบบพลังงานใหม่
แบรนด์ ORA เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยรุ่น ORA iQ ในปี 2018
3. GWM Pickup แบรนด์รถกระบะที่ได้รับการขนานนามว่า “รถกระบะอันดับ 1 ในจีน” การันตีด้วยส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 50% ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยได้รับความเชื่อมั่น ไว้วางใจของผู้บริโภคทั่วโลกมากว่า 23 ปี เพราะนอกจากเป็นผู้นำตลาดในจีนแล้ว ยังได้มีการส่งอออกไปยังยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
4. WEY แบรนด์รถยนต์เอสยูวีระดับลักชัวรีสัญชาติจีนที่ก่อตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อสกุลของผู้ก่อตั้ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นรถยนต์แบรนด์แรกที่สร้างโดยทีมงานนักออกแบบ และนักวิจัยของ เกรท วอลล์ มอเตอร์กว่า 1,600 คนทั่วโลก ด้วยความพยายามถึง 5 ปีในการออกแบบ พัฒนา และผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสูงสุดของแบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลก มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ รวมไปถึงความฝัน และการเป็นผู้นำแบรนด์รถเอสยูวีระดับลักชัวรีของประเทศจีนและของโลก
ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ คือการใช้แนวคิดแบบ ‘Globalization Strategy’ ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ของจีนที่ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ รวมไปถึงการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกในสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาเครือข่ายและคอมมูนิตี้ด้านยานยนต์แห่งอนาคต
โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ เพิ่งประกาศยอดขายประจำปีที่สูงเป็นประวัติการณ์ด้วยยอดขาย 1,111,598 คันทั่วโลก ถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปีโดยเพิ่มขึ้น 4.8% จาก 1,060,298 คันที่บันทึกไว้ในปี 2019 และถือเป็นบริษัทยานยนต์ที่มียอดขายสูงกว่า 1 ล้านคันเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน
ทีมผู้บริหาร เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย
(จากซ้ายไปขวา: สตีเฟ่น หวัง รองประธาน ฝ่ายขายและการตลาด, เอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย และ ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย)
เบื้องหลังความสำเร็จของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ คือ R&D ‘ซ้ำแล้วซ้ำอีก’ เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดกับผู้ขับขี่
ปัจจัยสำคัญประการต้นๆ ที่อยู่เบื้องหลังความสามารถ และศักยภาพในการส่งมอบรถยนต์คุณภาพดีของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการ R&D หรือขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตรถยนต์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสมรรถนะตัวรถของพวกเขาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสอดรับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา
โดยปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่ง ใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย
1. สหรัฐอเมริกา – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Drive)
2. เยอรมนี – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Battery)
3. ออสเตรีย – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Battery)
4. อินเดีย – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบิ๊กดาต้า (Intelligent Electronics and Big Data)
5. ญี่ปุ่น – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาโมเดลคุณภาพสูง (Front-Edge Modeling)
6. สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่คุณภาพสูง (Front-Edge Battery)
7. จีน – ศูนย์การวิจัยและพัฒนาในนครเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย เป็นทั้งต้นกำเนิดและศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ อัดแน่นไปด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น เพื่อประสิทธิภาพทีดี่ที่สุดของผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกสู่ตลาด
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้จัดตั้งโรงงานรวมทั้งหมด 12+5 แห่ง หรือรวมเป็น 17 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานเต็มรูปแบบในจีน 9 แห่ง และนอกประเทศจีน 3 แห่ง ได้แก่ รัสเซีย, อินเดีย และไทย และโรงงานแบบ KD (Knock Down) 5 แห่งนอกประเทศจีน ได้แก่ เอกวาดอร์, มาเลเซีย, ตูนิเซีย, บัลแกเรีย และอิหร่าน
โดยผลผลิตจาก R&D ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ลงทุนไว้ก็เช่น
1. GWM LEMON แพลตฟอร์มตัวรถ – ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นในรูปแบบของโมดูลาร์ ที่สามารถรองรับโมเดลรถและเครื่องยนต์ได้หลากหลาย รวมถึงเพิ่มสมรรถนะของรถให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง มีน้ำหนักเบา เช่น สามารถลดมุมเอียงของบอดี้ได้ถึง 50% เพิ่มความสามารถในการควบคุมรถ เข้าโค้งได้คมขึ้น 16% เกาะถนนเพิ่มขึ้น 15% จุดศูนย์กลางมวลของรถทั้งคันลดลง 30 มม. ซึ่งทั้งหมดประสานให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น และเพิ่มความสบายในการขับขี่และโดยสาร
2. GWM COFFEE ระบบอัจฉริยะที่ใช้ในการสื่อสาร – ระบบเพื่อการสื่อสารในตัวรถ ชูจุดเด่นของการเป็นระบบเพื่อ ‘การเดินทางในอนาคต’ ครอบคลุมการขับขี่อัจฉริยะ และสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่เริ่มใช้ในแบรนด์ WEY ด้วยแนวคิด ‘Interaction + AI + Ecology’ ประสานการทำงานระบบขับขี่อัจฉริยะ สร้างประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบาย และชาญฉลาดยิ่งขึ้น
3. GWM TANK แพลตฟอร์มสำหรับรถ Off-road – อีกหนึ่งเทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ทาง เกรท วอลล์ มอเตอร์ คิดค้น เพื่อส่งมอบสมรรถนะและประสบการณ์การขับขี่แบบออฟโรดอันยอดเยี่ยมให้กับผู้บริโภค
และล่าสุด เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ปราศจากโคบอลต์เป็นรายแรกของโลก จากการริเริ่มคิดค้นพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ปริซึมเคลือบลามิเนตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวแบตเตอรี่ที่ปราศจากโคบอลต์ NMX อย่างเป็นทางการ นับเป็นการตอกย้ำความเป็นเลิศด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับความยึดมั่นของบริษัทในการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการพัฒนาระบบนิเวศของโลกอย่างยั่งยืน
ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย
ค่ายรถยนต์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจาก ‘เสียงของผู้บริโภค’ ความตั้งใจการทำตลาดในประเทศไทย
สำหรับการทำตลาดในประเทศไทยนั้น เราน่าจะเริ่มได้เห็น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ‘รุกคืบ’ ตลาดรถยนต์อย่างจริงจังแน่นอน หลังจากที่ซุ่มเงียบตั้งฐานทัพการผลิตของพวกเขาที่จังหวัดระยอง โดยปรับปรุงสายการผลิต ตั้งเป้าให้เป็น “โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory)” ที่นำกระบวนการผลิตที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะถูกใช้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ส่งออกไปจำหน่ายในอาเซียนและตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลกอีกด้วย
ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในงานเปิดตัวของบริษัทว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะเน้นการดำเนินธุรกิจในไทยผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ประกอบไปด้วย
1. xEV Leader การเป็นผู้นำด้านรถพลังงานไฟฟ้า กับ Mission ‘9 in 3’ ที่จะนำรถยนต์รุ่นต่างๆ เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยทั้งหมด 9 รุ่น ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยรถยนต์แทบทั้งหมดจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
2. Consumer Voice Focus การรับฟังเสียงของผู้บริโภค โดย เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะรับฟังเสียงสะท้อนของลูกค้าเป็นหลักในการวางแผนธุรกิจ และนำมากำหนดแนวทางการทำการตลาดและการให้บริการ เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับการให้บริการในทุกมิติ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยให้ดีที่สุด
3. New User Experience สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า โดยนำเสียงของผู้บริโภคและคำแนะนำต่างๆ มาทำ New User Experience Concept ผ่านขบวนการ Design Thinking เพื่อออกแบบประสบการณ์ใหม่ของผู้บริโภคที่จะเริ่มต้นตั้งแต่การค้นหาข้อมูล, การเปรียบเทียบรุ่นรถ, การทดสอบรถ, การเลือกซื้อรถ, การขอสินเชื่อ, การส่งมอบรถ, การบริการ และการสร้างความสุขตลอดการเป็นเจ้าของรถผ่านกิจกรรมต่างๆ แบบ O2O (Online-To-Offline) และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่จะนำ New User Experience นี้เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับผู้บริโภค
ภายในห้องโดยสารและโมเดลรถ ORA Good Cat
ถ้ามองจาก 3 กลยุทธ์หลักนี้ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้งเป้าใหญ่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากได้ประกาศิตไว้แล้วว่า พวกเขาต้องการเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้ได้
ซึ่งในระยะเวลาไม่นาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้สร้าง Milestone ที่สำคัญต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเดือนมิถุนายน 2020 – เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย วันที่ 2 พฤศจิกายน 2020 – เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในโรงงาน GWM ที่ระยอง
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2021 – เปิดแบรนด์เกรท วอลล์ มอเตอร์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในคอนเซปต์ GWM Sawasdee Thailand และในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทุกคนจะได้เตรียมพบกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่งาน Motor Show
ซึ่งด้วยการผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่ทีม R&D ของบริษัทได้พัฒนา และคิดค้นวิจัยอย่างต่อเนื่องในทุกๆ วัน รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์โมเดลอื่นๆ ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็จะมาพร้อมกับนวัตกรรมล้ำสมัยซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบาย เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แบบครบครัน
ตลอดจนการประกาศว่า ‘ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท’ ที่วางขายในตลาดประเทศไทยล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการเซอร์เวย์ สอบถามความเห็นผู้บริโภค ลูกค้าตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งกลยุทธ์ Consumer Voice Focus นี้ ก็จะถูกนำไปใช้กับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงบริการใหม่ๆ ออกมาในอนาคตอันใกล้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ช่วงชิงความได้เปรียบในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ของตลาดยานยนต์ในไทย
งานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในการส่งสัญญาณของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่ต้องการป่าวประกาศให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ และหมายมั่นปั้นมือกับตลาดประเทศไทยไว้สูงมากๆ โดยเฉพาะการยกระดับฐานการผลิตแห่งนี้เป็นทัพหน้ากระจายสินค้าทำตลาดอื่นๆ ในประเทศอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานในอัตราที่สูงอย่างมีนัย
รวมถึง ‘ความตั้งใจ’ ในการรุกตลาดรถไฟฟ้าแบบจัดเต็มสูบ กดมิดคันเร่ง ซึ่งน่าจะทำให้ตลาด EV ในประเทศไทยคึกคัก และตื่นตัวตามไปด้วยอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
- Great Wall Motors (GWM) หรือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ประกาศเปิดตัวการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
- หลักๆ แล้วความตั้งใจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในครั้งนี้จะเข้ามาทำตลาดจำหน่ายรถยนต์ในไทยอย่างเต็มตัว โดยมุ่งมั่นที่จะขึ้นเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘xEV Leader’ ให้สำเร็จให้ได้
- ไม่เพียงเท่านั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังใช้โรงงานในไทยที่จังหวัดระยอง ที่ได้เริ่มเข้าไปดำเนินการเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นฐานการผลิตรถยนต์ส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย