×

จาก Great Depression สู่ Great Lockdown: IMF คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 3% ในปี 2020 จากพิษโควิด-19 GDP ไทยติดลบเหมือนหลายประเทศ

15.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปีนี้จากผลกระทบของโควิด-19 พร้อมย้ำเตือนว่าโลกกำลังประสบกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในทศวรรษ 1930
  • ส่วน GDP ไทยอาจติดลบถึง 6.7% ในปี 2020 ก่อนจะฟื้นตัว 6.1% ในปี 2021
  • ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในกลุ่ม G7 จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งหมดในปีนี้ โดยคาดว่า GDP ของสหรัฐฯ จะหดตัว 5.9% ซึ่งเป็นการติดลบรายปีที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1946 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และแคนาดา อาจหดตัว 5-7% ขณะที่อิตาลีอาจติดลบเกือบ 10% ในปี 2020
  • เขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอาจเป็นภูมิภาคเดียวที่รอดพ้นจากภาวะถดถอย (โต 1%) โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของทั้งจีนและอินเดียจะยังขยายตัว แต่ GDP จีนจะโตชะลอลงเหลือ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1976

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหรือ World Economic Outlook ฉบับใหม่ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ในรายงานฉบับเดือนมกราคมว่าจะขยายตัว 3.3% พร้อมย้ำเตือนอีกครั้งว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในทศวรรษ 1930 สืบเนื่องจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกแทบหยุดชะงักลง

 

IMF ระบุว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในกลุ่ม G7 จะไม่สามารถหลีกพ้นจากภาวะถดถอยได้ในปีนี้ โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ จะหดตัว 5.9% ซึ่งเป็นการติดลบรายปีที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1946 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และแคนาดา ที่อาจหดตัว 5-7% ขณะที่เศรษฐกิจอิตาลีอาจติดลบเกือบ 10% ในปี 2020

 

ส่วนภาพรวมทั่วโลก IMF คาดว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 โดยอาจเติบโตที่ระดับ 5.8% หลังติดลบ 3% ในปีนี้ หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 โดยตัวเลขคาดการณ์ใหม่นี้สูงกว่าระดับ 3.4% ในรายงานที่เผยแพร่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

 

จิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ระบุในบทความ The Great Lockdown: Worst Economic Downturn Since the Great Depression ว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อชีวิตและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยปัจจัยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด ประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมโรค และการพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดนี้คาดการณ์ได้ยากมาก 

 

นอกจากนี้หลายประเทศต่างกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่หนักหน่วงในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข วิกฤตการเงิน และการทรุดฮวบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน โดยบรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆ กำลังวางมาตรการเพื่อเยียวยาภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะล็อกดาวน์และชัตดาวน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อเราออกจากภาวะล็อกดาวน์ครั้งใหญ่นี้แล้ว  

 

โกปินาธระบุว่านี่จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Great Depression ที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วกับประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยกันถ้วนหน้า โดยที่การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ถึงจุดสูงสุดที่เคยทำไว้ก่อนเกิดโรคระบาดจนกว่าจะถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจะเติบโตที่อัตรา 4.7% ในปี 2021 ส่วนออสเตรเลียก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1991 ด้วย

 

ถึงแม้จีนและอินเดียอาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิดในปีนี้ แต่ IMF คาดว่า GDP จีนจะโตชะลอลงเหลือ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1976 แต่เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีหน้าด้วยอัตราการเติบโตถึง 9.2%

 

ขณะที่อินเดีย อีกหนึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ในกลุ่ม G20 จะเติบโตเพียง 1.9% ในปีนี้ ก่อนจะพุ่งขึ้น 7.4% ในปี 2021 

 

โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนยังมีอินโดนีเซียที่อาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างหวุดหวิด แต่โตช้าลงเหลือ 0.5% ในปีนี้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวด้วยอัตราการเติบโตสูงถึง 8.2% ในปีหน้า 

 

“ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) เป็นภูมิภาคเดียวที่คาดว่าจะยังขยายตัวในปี 2020 (1%) แม้ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตจากทศวรรษก่อนหน้าถึงกว่า 5 จุด ส่วนภูมิภาคอื่นๆ จะเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงหรือหดตัว” IMF ระบุ

 

แต่สำหรับไทยคาดว่าเศรษฐกิจอาจติดลบถึง 6.7% ในปี 2020 ก่อนจะฟื้นตัวที่อัตรา 6.1% ในปี 2021 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจมาเลเซียที่อาจหดตัว 1.7% 

 

เป็นที่คาดหมายกันว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียให้ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เป็นระลอก อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าการเติบโตของจีนยังต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย

 

IMF ระบุด้วยว่าทางกองทุนฯ ได้จัดสรรเงินกู้ฉุกเฉินวงเงินรวม 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการบรรเทาหนี้ให้กับประเทศยากจน

 

ในช่วงท้ายรายงานชองโกปินาธที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ IMF ระบุว่า เวลานี้มีสัญญาณบวกว่าวิกฤตสาธารณสุขจะสิ้นสุดลง เพราะหลายประเทศประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 จากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การตรวจหาโรคในวงกว้างขึ้น และการติดตามผู้คนที่ติดต่อสัมผัสผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการรักษาและการคิดค้นวัคซีนก็คาดว่าจะสำเร็จเร็วกว่าที่คาดไว้

 

ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนครั้งใหญ่เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ IMF แนะว่าภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรดำเนินมาตรการตอบสนองต่อวิกฤตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ยกระดับทั้งขนาดและความรวดเร็ว โดยสิ่งสำคัญคือความสอดคล้องระหว่างมาตรการสาธารณสุขที่รวมถึงการทำงานของบุคลากรแพทย์และมาตรการของผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก เพื่อที่จะสามารถเอาชนะวิกฤตนี้ไปได้ร่วมกัน     

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising