องค์การยูเนสโกระบุว่า แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แหล่งมรดกโลกทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียที่มีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ควรถูกลดระดับสู่รายชื่อแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตรายจากความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยยูเนสโกระบุว่าเป้าหมายหลักในการปรับปรุงคุณภาพน้ำยังไม่บรรลุผล ทั้งนี้ จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวกันในวันที่ 16 กรกฎาคมที่กำลังจะมาถึง และหากแนวปะการังแห่งนี้ถูกลดระดับลงก็จะถือเป็นครั้งแรกที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อที่อยู่ในสถานะ ‘ตกอยู่ในอันตราย’ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แต่ ซุสซาน เลย์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียบอกว่า ออสเตรเลียจะคัดค้านข้อเสนอการลดระดับดังกล่าว โดยระบุว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ “เห็นได้ชัดว่าการเมืองได้ทำลายกระบวนการที่เหมาะสม” เลย์กล่าว
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดต่อระบบนิเวศแนวปะการังทั้งหมดของโลก…และมีสถานที่ที่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 83 แห่งที่เผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นมันจึงไม่ยุติธรรมที่จะปฏิบัติต่อออสเตรเลียต่างจากที่อื่นๆ” เธอระบุและอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทางการต่างตกตะลึงกับสิ่งที่เธอระบุว่าเป็นการ ‘กลับคำรับรอง’ จากเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติที่เคยรับรองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกนั้นมีสมาชิก 21 ประเทศ โดยมีจีนซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไม่ค่อยราบรื่นนักกับออสเตรเลียในช่วงไม่กี่ปีมานี้เป็นประธาน
อย่างไรก็ดี ริชาร์ด เล็ค หัวหน้าด้านมหาสมุทรของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าข้อแนะนำของยูเนสโกที่ให้ลดระดับดังกล่าวนั้นชัดเจนว่ารัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้ดำเนินการเพียงพอที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์สกอตต์ เฮรอน จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ที่เป็นผู้นำในการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแหล่งมรดกโลกที่เป็นแนวปะการังระบุว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึงไปเสียทีเดียวเช่นกัน
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1981 จากความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และความสำคัญตามธรรมชาติของแนวปะการังแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การฟอกขาวหลายครั้งในแนวปะการังช่วงห้าปีที่ผ่านมาทำให้สูญเสียปะการังไปอย่างกว้างขวาง และนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสาเหตุหลักคือทะเลที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ในปี 2017 ยูเนสโกมีการอภิปรายถึงสถานะการตกอยู่ในอันตรายของแนวปะการังแห่งนี้เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้คำมั่นในการสนับสนุนงบประมาณกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการฟื้นฟูแนวปะการังแห่งนี้ และในปี 2019 หน่วยงานที่ดูแลแนวปะการังแห่งนี้ก็ออกรายงานว่าสถานการณ์ของแนวปะการังนี้แย่ลงจากรายงานฉบับก่อนหน้าเมื่อปี 2014 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียมีท่าทีไม่เต็มใจในการให้คำมั่นที่จะใช้มาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มข้นขึ้น เช่น การลงนามเพื่อใช้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ออสเตรเลียไม่มีการปรับปรุงเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 2015 และเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศผู้ส่งออกถ่านหินและแก๊สรายใหญ่อย่างออสเตรเลียในปัจจุบันยังอยู่ที่ 26-28% ของระดับเมื่อปี 2005 ภายในปี 2030
การจัดให้แหล่งมรดกโลกมีสถานะ ‘ตกอยู่ในอันตราย’ อาจมีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาได้โดยวิธีต่างๆ เช่น ช่วยปลดล็อกการเข้าถึงงบประมาณหรือการประชาสัมพันธ์ต่างๆ แต่ท่าทีของยูเนสโกในครั้งนี้ก็อาจกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้ที่สร้างงานหลายพันตำแหน่งในออสเตรเลีย และมีมูลค่าที่ถูกประเมินไว้ก่อนการระบาดของโควิด-19 กว่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเช่นกัน
ภาพ: Auscape / Universal Images Group via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: