×

‘GrabBike’ ประท้วง! ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ทบทวนค่าตอบแทน-กติกาการทำงานใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
08.12.2020
  • LOADING...
‘GrabBike’ ประท้วง! ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ทบทวนค่าตอบแทน-กติกาการทำงานใหม่

จากกรณีที่คนขับ Grab ได้ยื่นข้อเสนอ 3 เรื่องหลัก พร้อมนัดชุมนุมหน้าตึกธนภูมิ อันเป็นสำนักงานใหญ่ในวันนี้ (8 ธันวาคม) ซึ่งข้อมูลจาก Facebook Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน ระบุว่า ข้อเรียกร้องประกอบไปด้วย

 

  1. ค่าตอบแทน – ทุกคนต้องได้รับภาษีเงินได้ 3% คืนเมื่อสิ้นปีตามกฎหมาย, ต้องได้ค่าเคลมอาหารคืนภายใน 24 ชั่วโมง และค่าตอบแทนในต่างจังหวัดต้องเท่ากับหรือใกล้เคียงกับค่าตอบแทนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

  1. กติกาการทำงาน – รอลูกค้าไม่เกิน 5 นาที, หากลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์กลางคันต้องได้รับค่าเสียเวลา 20 บาท (ไม่รวมค่ารออีก 20 บาทต่อ 5 นาที), กรณีงานที่มีมากกว่า 1 คำสั่งซื้อ ต้องเป็นออร์เดอร์จากร้านเดียวกันเท่านั้น, ปรับปรุง GPS ให้ตรงกับตำแหน่งจริง และหากยกเลิกงาน การซ่อมงาน หรือทำงานชดเชย ต้องไม่เอาเปรียบไรเดอร์

 

  1. ช่องทางรับฟังปัญหา – Call Center 24 ชั่วโมง, ลดเวลาการรอสาย Call Center, หากถูกแบนโดยไม่เป็นธรรม ไรเดอร์ต้องร้องเรียนได้ทันที และบริษัทต้องช่วยเหลือทันทีหากเกิดอุบัติเหตุ (เจ็บ-ตาย) โดยไม่ต้องรอมติจากบริษัทแม่ที่สิงคโปร์

 

ขณะที่ Grab ได้ออกแถลงการณ์ว่า จากกรณีที่มีพาร์ตเนอร์คนขับ Grab บางส่วนในเขตกรุงเทพฯ รวมตัวกันขอเข้าพบผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับงาน แกร็บ ประเทศไทย ได้รับทราบถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว และขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

  1. บริษัทฯ ได้ประสานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อชี้แจงข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพาร์ตเนอร์คนขับ รวมถึงประเด็นแรงงานนอกระบบ โดยบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการตอบสนองต่อประเด็นที่เกิดขึ้น พร้อมขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งสะท้อนถึงบริบทในเชิงธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง

 

  1. ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Grab ยังคงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยบริษัทฯ ตระหนักดีว่าการให้บริการแพลตฟอร์มถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว

 

  1. บริษัทฯ ขอชี้แจงในประเด็นที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นในสังคม อันได้แก่

 

  • ประเด็นการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม: บริษัทฯ ได้กำหนดและประกาศใช้หลักปฏิบัติและจรรยาบรรณสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ และระเบียบปฏิบัติสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ โดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักความปลอดภัยและความมั่นคง
  • ประเด็นการปิดระบบของพาร์ตเนอร์คนขับอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีระบบอุทธรณ์: เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพในการให้บริการ บริษัทฯ จำเป็นต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ โดยมีการระบุบทลงโทษที่แตกต่างกันไปตามระดับความร้ายแรง ซึ่งตามกระบวนการแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงจากทั้งผู้ใช้บริการที่ร้องเรียนและพาร์ตเนอร์คนขับที่ถูกร้องเรียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรม โดยพาร์ตเนอร์คนขับสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตลอดเวลาผ่านทาง ‘ศูนย์ช่วยเหลือ’ (Help Centre) ในแอปพลิเคชันของคนขับ
  • ประเด็นการปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีเกิดอุบัติเหตุในขณะให้บริการ: บริษัทฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าได้จัดทำประกันอุบัติเหตุเพื่อให้ความคุ้มครองกับพาร์ตเนอร์คนขับทุกคนในทุกเที่ยวของการให้บริการ โดยให้ความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการรับงาน และให้ความคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาทในกรณีที่เสียชีวิต
  • ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนจากการให้บริการ: ในการบริหารค่าตอบแทนนั้น บริษัทฯ จำต้องคำนึงถึงการสร้างความสมดุลของระบบอุปสงค์อุปทาน โดยบริษัทฯ พยายามอย่างยิ่งที่จะบริหารจัดการประเด็นดังกล่าวอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดการรักษาสมดุลและสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในวงจรธุรกิจ ทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร ผู้ใช้บริการ รวมถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ

 

  1. บริษัทฯ ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากพาร์ตเนอร์คนขับผ่านช่องทางต่างๆ ในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจะถูกนำมาใช้พิจารณาเพื่อปรับปรุงการให้บริการ ตลอดจนการบริหารงานในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising