นอกเหนือจากบริการขนส่งคน สิ่งของ ตลอดจนอาหาร ก้าวต่อไปที่ Grab กำลังจะขยับตัวคือการผันตัวเองเข้า ‘บริการทางการเงิน’ อย่างเต็มตัวเพื่อสร้างผลกำไรมากขึ้นในอนาคต
Reuben Lai หัวหน้ากลุ่ม Grab Financial Group ซึ่งเป็นหน่วยการเงินของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asian Review ว่า เตรียมส่งใบสมัครสำหรับขอใบอนุญาต ‘ธนาคารดิจิทัล’ ในสิงคโปร์ ก่อนครับกำหนดส่งภายใน 31 ธันวาคมนี้ ภายหลังเห็นว่าธุรกิจการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต
“การได้รับใบอนุญาตธนาคารปลดล็อกโอกาสมากขึ้นสำหรับ Grab ในการเปิดตัวบริการเพิ่มเติมเพื่อให้บริการลูกค้า” Lai กล่าว “Grab Financial Group เป็นเสาหลักที่สำคัญของการเติบโตของ Grab และสำหรับเราที่จะได้รับใบอนุญาตการธนาคารจะทำให้สถานะของเราเป็นระบบนิเวศ Fintech ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หาก Grab ประสบความสำเร็จในการได้รับใบอนุญาต กลุ่มผู้บริโภครวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะสามารถเข้าถึงการฝากเงิน การให้กู้ยืมและบริการทางการเงินอื่นๆ ซึ่งเป็นย่างก้าวสำคัญในการเข้าสู่การเป็นผู้นำบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธนาคารกลางของสิงคโปร์จะออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลสูงสุด 5 ใบ โดยเป็นแบบ Full 2 ใบ และ Wholesale อีก 3 ใบ โดย Grab ประสงค์ที่จะยื่นแบบ Full ซึ่งธนาคารกลางสิงคโปร์คาดว่าจะประกาศใบอนุญาตในกลางปี 2020
นอกเหนือจากธนาคารดิจิทัลแล้ว Grab ยังสนใจที่จะเปิดตัว ‘บริการบริหารความมั่งคั่ง’ หรือ Wealth Management Services โดยคาดว่าจะเริ่มชิมลางก่อนที่สิงคโปร์ประมาณกลางปีหน้า
อย่างไรก็ตาม Grab ไม่ใช่แอปพลิเคชันรายเดียวที่สนใจรุกบริการทางการเงินเต็มตัว เพราะ LINE แชตแอปพลิเคชันรายใหญ่เช่นเดียวกัน ภายในงาน LINE CONFERENCE 2019 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดบนเวทีว่า LINE Smartphone Bank เตรียมขยายไปเป็นผู้ให้บริการด้านการธนาคารเต็มตัวในญี่ปุ่น, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และไทย
ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา LINE ได้แจ้งว่า LINE Bank ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลการเงินไต้หวัน ในการจัดตั้งธนาคารดิจิทัลอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยไต้หวันถือเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับ LINE ด้วยฐานผู้ใช้จำนวน 21 ล้านคน ดังนั้น การได้รับใบอนุญาตในไต้หวันถือเป็นก้าวสำคัญของ LINE ในวงการ FinTech
ส่วนของไทยนั้นได้ประกาศออกมาแล้วว่า LINE Bank ซึ่ง LINE ได้ร่วมทุนกับธนาคารกสิการไทย จัดตั้ง ‘บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด’ ในสัดส่วนเท่ากันที่ 50:50 ด้วยงบลงทุนเริ่มต้นที่มากกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งได้แต่งตั้ง ธนา โพธิกำจร ที่ข้ามฟากมาจากกลุ่มงาน Digital Banking ของธนาคารสีม่วงขึ้นเป็นซีอีโอของบริษัทอย่างเป็นทางการ เตรียมรุกให้บริการสินเชื่อในช่วงกลางปี 2020
เชื่อว่าหลังจากให้บริการจะทำให้การแข่งขันในวงการธนาคารของไทย ดุเดือดขึ้นอีกไม่ใช่น้อย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: