×

หมดยุคการแข่งในสนามสงครามราคาที่มีรายได้แต่ขาดทุน ‘Grab’ ตั้งเป้าธุรกิจในไทยต้องมี ‘กำไร’ อย่างยั่งยืน ย้ำไม่มีแผนปลดพนักงาน

15.03.2023
  • LOADING...
Grab แผนธุรกิจ

เป็นที่รู้จักกันว่าธุรกิจอย่าง Grab ต้องโหมลงทุนเพื่อสร้างฐานลูกค้า โดยยอมขาดทุนก่อนจะไปหากำไรในอนาคต แต่ด้วยการเข้าเนื้อที่มากเกินไปก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อธุรกิจ ในที่สุดก็จำต้องหั่นเกมราคาเพื่อสร้างธุรกิจให้เป็นบวก

 

แม้ปี 2022 Grab Holdings จะรายงานว่ารายได้เพิ่มขึ้น 112% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 1,433 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท และขาดทุนเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 1,740 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 6 หมื่นล้านบาทด้วยกัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การเผาเงินที่มากเกินไปทำให้ในงาน Grab Investor Day 2022 ผู้บริหารยืนยันว่ามีเป้าหมายสำคัญที่จะไปถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024

 

แต่ในการรายงานผลประกอบการในปี 2022 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับการถึงจุดคุ้มทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 4 ของปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

“ปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการปรับต้นทุนให้เหมาะสม ผ่านลดต้นทุนในการให้บริการ” แอนโธนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Grab กล่าว “ปี 2023 เราต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยขับเคลื่อนต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการใช้เงินทุนอย่างรอบคอบ”

 

แน่นอนว่าการประกาศของบริษัทแม่ทำให้ธุรกิจ Grab ในไทยที่ทำตลาดมาได้ 10 ปีแล้ว เป็นที่จับตาเหมือนกันว่าจะดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายของบริษัทแม่ได้อย่างไร

 

“เราวางเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ Grab ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแข่งในสนามสงครามราคา แต่จะเน้นไปที่การสร้างบริการที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นที่จะครองใจผู้ใช้งาน” วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH

 

หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย Grab ระบุว่าเห็นถึงสัญญาณบวกและแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในทุกธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

  • บริการการเดินทาง กลับมามียอดใช้บริการมากกว่าช่วงก่อนโควิด และหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ยอดใช้บริการในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งขึ้นถึง 152%
  • บริการเดลิเวอรี ยังคงได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นตามลำดับ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยผู้ใช้บริการมีความคุ้นชินกับการสั่งอาหารรวมถึงสินค้าหรือของใช้แบบออนดีมานด์ ทำให้ธุรกิจเติบโตในต่างจังหวัด ซึ่งในปีที่ผ่านมาเติบโตสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า และ GrabMart ยังคงเติบโต โดยมีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมด
  • บริการทางเงิน ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น บริการสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ และบริการ PayLater

 

สำหรับทิศทางในปี 2023 Grab วางกลยุทธ์ได้แก่ 

  • บริการการเดินทาง จะเน้นไปที่ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การรุกตลาดนักท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และการเจาะตลาดลูกค้าพรีเมียม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง โดยเตรียมเพิ่มจำนวนคนขับที่ให้บริการเรียกรถด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถตอบรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น 
  • บริการเดลิเวอรี จะเน้นไปที่ 3 ประเด็นคือ คุณภาพของร้านค้าและบริการ ประสิทธิภาพของบริการ และการสร้างฐานสมาชิกและความภักดีต่อแบรนด์
  • บริการทางการเงิน ยังคงมุ่งเน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็ม เช่น การเพิ่มวงเงินของสินเชื่อร้านค้า หรือการขยายความหลากหลายสินค้าสำหรับบริการสินเชื่อของพาร์ตเนอร์คนขับ
  • สุดท้ายสำหรับบริการสำหรับองค์กร ที่ในปีนี้จะเริ่มรุกตลาด B2B มากขึ้น ผ่าน 2 บริการสำคัญได้แก่ Grab for Business และ GrabAds 

 

“สำหรับความท้าทายในปีนี้คงเป็นเรื่องของการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการรักษาความเป็นผู้นำซูเปอร์แอปที่ครองใจคนไทย”

 

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทเทคโนโลยีทยอยปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนนั้น แม่ทัพใหญ่ของ Grab ระบุว่า ด้วยเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงทำให้ในหลายปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการวางแผนทรัพยากรบุคคลและการจ้างงานอย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุด ทำให้ปัจจุบันไม่มีนโยบายดังกล่าว 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising