วันนี้ (1 เมษายน) ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทย กล่าวว่า Grab ประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการ GrabCares #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน โดยประกาศมาตรการในการรับมือรวมถึงแนวทางสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกับ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่
- ร้านอาหาร ได้ปรับลดเพดานค่าคอมมิชชันสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร (ไม่รวม GrabKitchen) สูงสุดจาก 35% เป็น 30% ครอบคลุมทั้งร้านค้าเดิมและร้านค้าใหม่ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป พร้อมเร่งขั้นตอนรับสมัครและเปิดร้านค้าให้ได้ภายใน 7-10 วัน (จากเดิม 14-21 วัน) ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยสมัครเข้ามาเฉลี่ยราว 2,000 ร้านค้าต่อวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าภาวะปกติถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ได้เร่งขยายการให้บริการจัดส่งอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในต่างจังหวัด โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม) GrabFood ได้เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นใน 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ระยอง, นครปฐม, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ลำปาง, อุตรดิตถ์ และมหาสารคาม พร้อมตั้งเป้าเปิดบริการเพิ่มอีก 9 จังหวัดใน 3 เดือนข้างหน้า เช่น ราชบุรี, เพชรบุรี, สุรินทร์, หนองคาย ฯลฯ
- หน่วยงานราชการและบุคลากรทางการแพทย์ ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลการเดินทางของผู้ป่วยต้องสงสัย เนื่องจาก Grab มีระบบเช็กประวัติการเดินทางของทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการในทุกเที่ยวการเดินทาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง
มีการมอบส่วนลดค่าส่งเมื่อสั่งอาหารผ่าน GrabFood ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง อันได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร, สถาบันราชประชาสมาสัย, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน และสนับสนุนโรงพยาบาลของรัฐในการจัดส่งยาผ่านบริการ GrabExpressให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน
- พาร์ตเนอร์คนขับและจัดส่งอาหาร-พัสดุ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์-มีนาคม) Grab ได้รับพาร์ตเนอร์เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 29,000 คน และเตรียมเปิดรับเพิ่มอีกกว่า 35,000 อัตราในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับคนไทยที่ไม่ต้องการเดินทางออกจากบ้านตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้
รวมถึงเปิดให้คนขับ GrabCar และ GrabTaxi สามารถรับงานจัดส่งอาหารผ่านรถยนต์แทนบริการการเดินทางได้ โดยได้เริ่มนำร่องบริการจัดส่งอาหารผ่านรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ นครปฐม และชลบุรี โดยมีพาร์ตเนอร์คนขับเข้าร่วมแล้วมากกว่า 10,000 คน
นอกจากนี้ได้จัดทำโปรแกรมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยนำเสนอทางเลือกในหลายรูปแบบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เช่น การพักชำระหนี้ การปรับลดค่างวดเป็นแบบขั้นต่ำ การขยายระยะเวลาสินเชื่อ และการชำระคืนเฉพาะดอกเบี้ย
- ผู้ใช้บริการ มีการทำแคมเปญสื่อสารเพื่อให้ความรู้และกระตุ้นความใส่ใจในการดูแลสุขภาพและการรักษาความสะอาดระหว่างการให้บริการของพาร์ตเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหารอย่างต่อเนื่อง
และได้ประกาศใช้มาตรการส่งอาหาร-พัสดุแบบไร้การสัมผัส (Contactless Delivery) โดยให้พาร์ตเนอร์ผู้จัดส่งอาหารต้องเว้นระยะห่างกับลูกค้าอย่างน้อย 2 เมตรตลอดเวลา พร้อมส่งเสริมให้พาร์ตเนอร์ผู้จัดส่งอาหารปฏิบัติตามแนวทาง 8 ข้อในการจัดส่งอาหารอย่างปลอดภัยตามประกาศของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังออกมาตรการให้พาร์ตเนอร์ยืนห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตรระหว่างรออาหารที่หน้าร้าน
“แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและยากลำบากสำหรับทุกคน แต่วิกฤตครั้งนี้กลับทำให้เราได้เห็นพลังบวกที่ซ่อนอยู่ในหัวใจคนไทย ขอขอบคุณฮีโร่คนสำคัญทุกคน Grab ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเวลาเช่นนี้ และจะร่วมอยู่เคียงข้างคนไทยเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน” ธรินทร์กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์