×

โมเดลขยายสาขาร้านอาหารกำลังเปลี่ยนไป? Grab เปิดครัวกลางรวม 12 ร้านเด็ด ‘Cloud Kitchen’ ประเดิมสามย่านที่แรก

08.10.2019
  • LOADING...

การขยายตัวและความนิยมของแพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรีในไทยไม่ได้สะท้อนแค่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันร้านอาหารน้อยใหญ่ก็เห็นช่องทางกระโจนลงมาแชร์เค้กก้อนโตมูลค่า 26,000 ล้านบาทจากมูลค่าธุรกิจ Food Delivery ท้ังหมดในไทยที่ราว 33,000 ล้านบาทด้วย

 

หนึ่งในผู้เล่นที่อยู่ในสังเวียนสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมาตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่เคลมว่าเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งเกินครึ่งและมีฐานข้อมูลขนาดมหาศาลอยู่ในมือคือ ‘Grab Food’ 

 

ล่าสุดวันนี้ (8 ตุลาคม) Grab ได้เปิดตัว ‘Grab Kitchen’ หรือ Cloud Kitchen เป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอินโดนีเซีย รวบรวมเอาร้านอาหารเด็ดๆ จากหลากหลายย่านกว่า 12 ร้าน เช่น อองตอง ข้าวซอย, ปูไข่ดองของกู, เอลวิส สุกี้ และ ป. เจริญชัย ไก่ตอน ฯลฯ มารวมตัวกันที่ชั้น 2 ของตลาดสามย่านแล้ว  

 

Cloud Kitchen คืออะไร ทำไมจึงน่าจับตา ถึงขนาดที่ ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด นิยามว่าเป็น ‘ธุรกิจ Upcoming’ ที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันไปจนถึงร้านอาหารหลายเจ้าให้ความสนใจและอยากทำกันมากๆ

 

แนวคิด Grab Kitchen หรือการแชร์ครัวร่วมกันของ Grab คือการจับเอาร้านอาหารยอดนิยมที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วเมืองในกลุ่ม ‘Local Heroes’ หรืออยู่ไกลเกินระยะจัดส่งให้มารวมตัวกันในสถานที่เพียงแห่งเดียว ทำหน้าที่เป็น ‘โรงครัวกลาง’ ปรุงอาหารเสิร์ฟเฉพาะออร์เดอร์ที่รับจาก Grab Food โดยเฉพาะ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น.

 

วิธีการคือ Grab จะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ให้กับร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน โดยมีรายได้จากการเก็บค่าคอมมิชชันจากแต่ละร้านที่อยู่บน Grab Kitchen ซึ่งสูงกว่าค่าคอมมิชชันที่เก็บจากร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มปกติ แลกกับการได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และการที่ Grab จะช่วยทำการตลาดโปรโมตต่างๆ ให้ฟรี

 

ข้อดีคือช่วยให้คนสั่งได้รับอาหารเร็วกว่าเดิม ไร้ข้อจำกัดเรื่องระยะทางและค่าจัดส่ง สั่งครั้งเดียวเลือกได้หลายร้าน แถมบางร้านก็ยังสามารถสั่งได้ก่อนหน้าร้านจริงๆ จะเปิดด้วยซ้ำ! (เช่น เอลวิส สุกี้ ยศเส เปิดให้บริการเวลา 16.00 น. แต่เมื่อมาอยู่บน Grab Kitchen ก็สามารถเริ่มสั่งอาหารได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น.)

 

ฟากร้านอาหารก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วยวิธีการขยายสาขาหน้าร้านแบบเดิมๆ ที่ใช้ต้นทุนมหาศาล และมีพันธะระยะยาวอีกต่อไป แต่สามารถขยับตัวมาอยู่บน Cloud Kitchen ได้แทน เพื่อช่วยให้ระบบจัดการต่างๆ และโฟลว์ของการทำอาหารลื่นไหลกว่าเก่า แยกหน้าร้านที่ต้องการรับลูกค้าออฟไลน์ออกจากพื้นที่รองรับลูกค้าออนไลน์และพนักงานรับส่งอาหารได้ดียิ่งขึ้น

 

ธรินทร์ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่าจุดแข็งของ Grab คือการมีฐานข้อมูลมหาศาลที่ช่วยให้รู้ข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ใช้บริการ Grab Food แต่ละย่านนิยมอาหารประเภทใด แต่ละพื้นที่ขาดแคลนเมนูใดบ้าง และเมื่อเห็นเพนพอยต์ของการที่ร้านอาหารต้องใช้ต้นทุนเปิดสาขาใหม่ที่สูง บวกกับตัวคนสั่งอาหารที่เสียค่าส่งแพง รออาหารนาน ทั้งหมดจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโปรเจกต์ Grab Kitchen ที่เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการมาเป็นระยะเวลา 1 เดือน และได้รับผลตอบรับดีมาก

 

ในมุมของการเพิ่มยอดขาย ธรินทร์เชื่อว่า Grab Kitchen อาจจะไม่ได้ช่วยให้พวกเขามียอดขายและออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นจนเห็นได้ชัดในระดับมหภาค แต่มองว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของ Stakeholder ทั้งฝั่งร้านอาหาร ลูกค้า (คนสั่ง) และคนขับได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ (ประเทศไทย) ยังบอกอีกด้วยว่า Grab Kitchen สาขาแรกที่สามย่านยังมีศักยภาพมากพอจะขยายพื้นที่รองรับอาหารได้เพิ่มอีก 3-5 ร้าน โดยในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อขยาย Grab Kitchen แห่งต่อๆ ไป แต่ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดด้านค่าสถานที่พอสมควร ช่วงแรกจึงใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

 

ทั้งนี้ THE STANDARD ได้ติดต่อสอบถามเข้าไปยังตลาดสามย่าน พบว่าพื้นที่ให้เช่าตลาดในส่วนชั้น 2 จะเริ่มต้นที่ประมาณ 40,000-45,000 บาทต่อเดือน โดยพื้นที่ที่ Grab เช่าอยู่เพื่อใช้ตั้ง Grab Kitchen ถือเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยคาดว่าน่าจะมีค่าเช่าที่ประมาณไม่เกิน 1,000 บาทต่อตารางเมตร

 

เมื่อคิดเล่นๆ ในเชิงความคุ้มค่า ร้านอาหารยอดนิยมจำนวน 12 ร้านที่รวมตัวกันอยู่ในสถานที่แห่งเดียวน่าจะมีทราฟฟิกที่หวือหวาและน่าสนใจอยู่พอสมควร และอาจจะเทิร์นรายได้กลับมาให้กับตัว Grab ในระดับที่น่าพึงพอใจแน่ๆ 

 

ที่สำคัญ น่าคิดไม่น้อยว่าการขยับตัวในครั้งนี้ของ Grab อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าจับตาของโมเดลการทำธุรกิจร้านอาหารในอนาคตได้หรือไม่ กับการที่ร้านอาหารไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการขยายสาขาเปิดหน้าร้านใหม่ๆ อีกต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X