เมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวออนไลน์ถึงการดำเนินการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตอื่นทั่วโลก อาทิ Moderna ให้กับโรงพยาบาลเอกชนว่า กระทรวงสาธารณสุข และ อภ. ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนจากหลายบริษัทเพื่อฉีดให้กับประชาชนเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และ อภ. มาเป็นระยะๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เข้าพบ หารืออีกครั้งกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันถึงความร่วมมือกันในการจัดหาวัคซีนของ Moderna ให้กับโรงพยาบาลเอกชน โดยผ่านการบริหารจัดการโดยทาง อภ.
นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้วัคซีนดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการขออนุญาตขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน เรียกว่า Conditional Approval for Emergency Use Authorization (EUA) โดยแนวทางของผู้ผลิตทั่วโลกสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกชนิดที่ผลิตได้และใช้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องบริหารจัดการและกระจายวัคซีนด้วยองค์กรภาครัฐ โดย อภ. จะรวบรวมความต้องการวัคซีนของ Moderna จากภาคเอกชน และยืนยันคำสั่งซื้อเพื่อแจ้งจำนวนความต้องการไปยังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา เพื่อให้บริษัทเร่งการนำเข้าวัคซีนกระจายไปฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงให้เร็วที่สุดภายในปีนี้
ด้าน ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน โรงพยาบาลเอกชนมีการดำเนินงาน 2 ส่วนคือ
1. ฉีดให้ฟรีตามที่ทางภาครัฐจัดสรรวัคซีนมาให้ เพื่อช่วยกระจายการฉีดของภาครัฐให้กับประชาชนรวดเร็ว เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ
2. ฉีดแบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนนี้ที่ทุกๆ ฝ่ายกำลังเร่งจัดหาวัคซีนมาให้ได้โดยเร็วที่สุดให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในส่วนนี้วัคซีนจะเป็นคนละยี่ห้อกับที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับวัคซีนของภาครัฐ
ในเบื้องต้นวัคซีนที่ฉีดแบบมีค่าใช้จ่ายนี้เป็นวัคซีน Moderna ที่กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตขึ้นทะเบียน และรวมถึงวัคซีนอื่นๆ ที่จะมีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต ซึ่งวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนจะนำมาใช้ฉีดนั้นจะมีการควบคุมราคาการให้บริการในการฉีดวัคซีนในราคาที่สมเหตุสมผล
“ขอย้ำว่าการจัดหาวัคซีนนี้ที่ต้องให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อเข้ามานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทผู้ผลิต ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศ ผู้ซื้อวัคซีน เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการได้รับทะเบียนแบบฉุกเฉิน และเป็นแนวทางของผู้ผลิตทั่วโลก” ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว