×

ทวีมั่นใจรัฐบาลจีนแทรกแซงคดีตึก สตง. ถล่ม ไม่ได้ ด้านเอกนัฏโต้ ซิน เคอ หยวน ยืนยันตรวจสอบเหล็กเป็นไปตามมาตรฐาน

โดย THE STANDARD TEAM
22.04.2025
  • LOADING...
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม แถลงเกี่ยวกับคดีตึก สตง.ถล่มและมาตรฐานเหล็ก

วันนี้ (22 เมษายน) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนอนุมัติเงิน 120 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม โดยจะประสานผ่านทางกระทรวงยุติธรรม ว่า เป็นข้อมูลจากพนักงานสอบสวนในชั้นคำให้การ ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่เกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรมและความเสียหาย ซึ่งทางบริษัทจีนมีเจตนาช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย

 

ทั้งนี้ เงินเยียวยาจะไม่มีผลในเรื่องการลดโทษ แต่เป็นเรื่องที่น่ายกย่องชื่นชม และรัฐบาลจีนคงได้มาปกป้องบริษัท เพราะเสียภาพลักษณ์ของประเทศจีน อีกทั้งทราบว่ารัฐบาลจีนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบคนของเขาว่าทำถูกกฎหมายหรือไม่ รวมถึงสาเหตุของตึกถล่ม

 

ส่วนที่ ชวนหลิง จาง กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนส่งมาลงทุนในไทย พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจีนหรือคนไทย ก็ต้องอำนวยความยุติธรรม อีกทั้งรัฐบาลจีนพูดอยู่เสมอว่าเคารพกฎหมายไทย เชื่อว่าจะแทรกแซงไม่ได้ เพราะเรายึดตามกฎหมาย

 

พ.ต.อ. ทวีกล่าวอีกว่า ได้ผู้กระทำผิดครบแล้ว โดยมีคนไทย 3 คน และคนจีน 1 คน คดีนี้เนื่องจากอัตราโทษไม่สูง แต่ต้องเร่งสอบสวนให้เสร็จภายใน 4 ผัด ซึ่งจะแยกคดีออกจากกันระหว่างคดีตึกถล่ม, การจัดซื้อจัดจ้าง, ฮั้วประมูล และนอมินี

 

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่อง คือ บริษัทเหล็ก ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเกิดเหตุช่วงปี 59-60 ก็ต้องดูว่าหลังจากปี 60 มีการซื้อเหล็กจากบริษัทนี้หรือไม่ โดยได้กำชับพนักงานสอบสวน ทำงานให้รอบคอบ

 

เอกนัฏโต้ ซิน เคอ หยวน ยืนยันตรวจสอบเหล็กเป็นไปตามมาตรฐาน

 

ด้าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการแถลงข่าว ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) เมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ว่า สิ่งที่บริษัทแถลงชี้แจงฟังไม่ขึ้นเลยสักข้อ โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน ตรวจสอบได้แค่ค่าโบรอนตั้งแต่ 9-25 ppm เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันได้ยืนยันว่า อุปกรณ์ของสถาบันเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. โดยเฉพาะการเข้าไปตรวจครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2 567 ก่อนจะมีการสั่งปิดโรงงานที่ผลิต

 

ส่วนการที่บริษัทอ้างว่าไปฟังความคิดเห็นจากอดีตข้าราชการที่เกษียณแล้วของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นั้น เอกนัฏกล่าวว่า ขอให้ไปตรวจสอบดูให้ดี เพราะขณะนี้ตนก็จะตรวจสอบย้อนหลังไปให้ถึงปี 2561 ว่า SKY ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะเงื่อนไขการออก มอก. หากผลิตด้วยเตา IF จะต้องมีกระบวนการปรับปรุงน้ำเหล็กให้บริสุทธิ์ พร้อมแนะนำว่าใครที่ไปให้ข้อมูลให้คำปรึกษาก็ให้คำปรึกษาดีๆ รวมถึงทีมทนายควรจะไปซักลูกความให้ได้ข้อมูลทั้งหมดมาก่อน

 

เอกนัฏกล่าวอีกว่า SKY ได้ย้อนถึงวิธีการเก็บตัวอย่าง แต่จากการที่ตนไปตรวจสอบพบว่า มีจดหมายจาก SKY ถึง สมอ. ให้เข้าไปตรวจสอบตัวอย่างซ้ำหลายครั้ง แต่ผลก็ยังเหมือนเดิม ทั้งที่การรับรองมาตรฐานหากพบว่าค่าตกเพียงตัวเดียวก็ถือว่าตก แต่การตรวจสอบนี้พบว่าตกทั้งสามตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า สิ่งที่แถลงเมื่อวานเป็นการพูดไม่หมด และยังไม่ตอบคำถามอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นฝุ่นแดงที่มีถึง 50,000 ตัน ทั้งที่ SKY แจ้งไว้แค่ 2,000 ตัน ซึ่งสืบพบว่า SKY มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่ลักลอบนำเข้าฝุ่นจากต่างประเทศ

 

เอกนัฏยังกล่าวด้วยว่า กำลังผลิตเหล็กของประเทศไทยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 4,000,000 ตัน เตา EAF ซึ่งเป็นเตาไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคุมคุณภาพได้มากกว่า สามารถผลิตเหล็กได้เกินความต้องการของตลาด ดังนั้นการยกเลิกการผลิตเหล็กโดยเตา IF นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องมลภาวะแล้ว ยังช่วยอุตสาหกรรมเหล็กด้วย เพราะระบบเตา IF หลายประเทศมีการยกเลิกไปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising