×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชี้ กองทุนตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาทคือ ‘โรงพยาบาลสนาม’ ไม่อุ้มคนรวย

24.04.2020
  • LOADING...

หลังจากเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน’ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นต่อพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวก็มีความ ‘เสียงแตก’ อยู่พอสมควร เนื่องจากฝ่ายหนึ่งมองว่ากองทุนนี้น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เสถียรภาพการเงิน และระบบเศรษฐกิจประเทศได้ตรงจุด เข้าเป้า ขณะที่บางฝ่ายกลับมองว่ากองทุนดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการช่วยเหลือกลุ่มนักลงทุนและ ‘คนรวย’ 

 

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว THE STANDARD อธิบายถึงการจัดตั้งกองทุนอุ้มตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยชี้ว่ากองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับบริษัทเอกชนที่มี ‘ความน่าเชื่อถือ’ มากว่าจะเอื้อความช่วยเหลือให้กับนักลงทุนและผู้ที่มีฐานะ

 

“หากอุปมาอุปไมยง่ายๆ กับสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เราทำเปรียบเหมือนการสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ กองทุนที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเข้ามาทำหน้าที่คล้ายๆ กับโรงพยาบาลสนาม เพื่อไม่ให้สถานการณ์มันลุกลามบานปลายออกไป เราไม่ได้สร้างห้องฉุกเฉินที่ถ้าเขา (บริษัทเอกชน) ป่วยแล้ววิ่งเข้ามาหาเรา เราจะช่วยดูแล ปั๊มหัวใจให้เขารอดชีวิต 

 

“จำนวนเงินจัดตั้งกองทุน 4 แสนล้านบาทมาจากการที่เราดูว่ามีตราสารหนี้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเป็นระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ซึ่งจะครบกำหนดราว 9.6 แสนล้านบาทในช่วงปีนี้จนถึงสิ้นปีหน้า กองทุนนี้จึงจะทำหน้าที่เข้าไปเติมเต็มในกรณีที่เขาไม่สามารถ Roll Over ในช่องทางปกติได้ 

 

“โดยเขาจะต้องไประดมทุน ไม่ว่าจากช่องทางธนาคารพาณิชย์หรือจากตลาดตราสารหนี้ปกติในสัดส่วน ‘ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง’ จึงจะสามารถขอส่วนที่เติมเต็มตรงนี้ได้ เขาจะต้องไปหาเงินของเขามาก่อนให้ไม่น้อยกว่าสัดส่วนครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของส่วนที่จะครบกำหนด (ชำระตราสารหนี้) จึงจะมีสิทธิ์มาขอได้ เรามองว่าถ้าจะครบกำหนดชำระตราสารหนี้ราว 9.6 แสนล้านบาท เราจะช่วยสักครึ่งหนึ่ง นั่นจึงเป็นที่มาของเงินจัดตั้งกองทุน 4 แสนล้านบาท

 

“ที่เราทำไม่ใช่การช่วยบริษัทในกลุ่ม Below Investment Grade คนถือตราสารก็จะเป็นกลุ่ม High Network ถือในนามบุคคล เป็น ‘คนรวย’ ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความเชื่อมโยงเสถียรภาพระบบการเงิน เขาไปลงทุนก็ต้องรับความเสี่ยงเอง แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงคือกลุ่มที่เป็นบริษัทที่ดีในภาวะปกติ เขาก็ทำธุรกิจได้ Roll Over ตราสารได้ แต่ในภาวะที่ตลาดมันบาง เกิดความผิดปกติ มันจำเป็นจะต้องมีกลไกเสริมเพื่อเป็นหลังพิง หรือโรงพยาบาลสนามที่เข้าไปช่วยเหลือ”

 

ทั้งนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเอกชนใดที่แสดงความประสงค์จะขอรับสิทธิ์การช่วยเหลือ เนื่องจากพระราชกำหนดเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งยังมีการเปิดเผยอีกด้วยว่าจำนวนบริษัทที่จะขอเข้ารับสิทธิ์ช่วยเหลืออาจจะไม่ได้มีสัดส่วนที่มากเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์

 

“ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเราดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ตลาดการเงินวันนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่แล้วก็มีความนิ่งขึ้นเยอะ ซึ่งเดือนที่แล้วก็มีความกังวลเยอะมากจากทั้งโควิด-19 และกองทุนรวม แต่ในวันนี้ตลาดการเงินก็นิ่งขึ้น โรงพยาบาลสนามของเราก็มีคอนเซปต์เดียวกันกับโรงพยาบาลสนามของกระทรวงสาธารณสุข 

 

“ถ้าไม่มีใครมาใช้ก็ยิ่งดี เรามีเครื่องมือเตรียมไว้พร้อมใช้ในกรณี ‘จำเป็น’ แต่ถ้าไม่มีใครมาใช้ก็แสดงว่ากลไกหลักของเราสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องมาใช้โรงพยาบาลสนาม”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising