×

รัฐบาล-บริษัทในหลายประเทศทุ่มเงินนับพันล้านเดิมพันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แม้อัตราความสำเร็จต่ำ

โดย THE STANDARD TEAM
29.04.2020
  • LOADING...

Reuters รายงานว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันพัฒนาวัคซีนเพื่อยุติวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยมีรัฐบาล องค์กรการกุศล และบริษัทยารายใหญ่หลายรายกำลังเสี่ยงทุ่มเม็ดเงินหลักหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อเดิมพันกับอัตราความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน ที่เรียกได้ว่าค่อนข้าง ‘ต่ำกว่าปกติ’

 

กระบวนการพัฒนา ทั้งในขั้นตอนทดสอบและตรวจสอบวัคซีน ถูกเร่งรัดให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอะไรรับรองว่าจะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 

 

ผู้พัฒนาวัคซีนหลายรายเริ่มก่อสร้างและปรับปรุงโรงงานเพื่อรองรับการผลิต ทั้งที่มีโอกาสไม่มากนักที่วัคซีนจะผ่านการรับรอง ขณะที่บางประเทศถึงขั้นสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าแล้ว แม้จะยังไม่มีวี่แววว่าการผลิตจะเริ่มต้นได้เมื่อใด 

 

สาเหตุที่รัฐบาลและบริษัทยาทั่วโลกต้องยอมเผชิญความเสี่ยงระดับนี้ เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบที่รุนแรงและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยุติให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

“วิกฤต (โควิด-19) ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนั้นใหญ่มากจนเราทุกคนต้องยอมเผชิญความเสี่ยงขั้นสูงสุดในตอนนี้ เพื่อทำให้โรคระบาดนี้หยุดลง” พอล สตอฟเฟลส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Johnson & Johnson ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐฯ กล่าว ขณะที่ Johnson & Johnson กำลังร่วมลงทุนกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในงบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเร่งความเร็วในการพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งสตอฟเฟล์หวั่นวิตกว่า หากการพัฒนาวัคซีนล้มเหลว สถานการณ์จะยิ่งแย่

 

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วัคซีนที่ถูกพัฒนาเพื่อรักษาโรคระบาดมีเพียง 6% ที่ได้ผลิตออกสู่ตลาด บ่อยครั้งที่การพัฒนาวัคซีนยาวนานนับปี ไม่ดึงดูดเงินลงทุนก้อนโต จนกว่าผลการทดสอบจะแสดงให้เห็นว่าวัคซีนนั้นน่าจะใช้งานได้

 

แต่สำหรับวิกฤตโควิด-19 กำลังทำให้กฎระเบียบดั้งเดิมในการพัฒนายาและวัคซีนเหล่านี้กลายเป็นเรื่องรอง เพราะความรุนแรงของการระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 2 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน) กำลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลก

 

เป้าหมายในการพัฒนาวัคซีนสำหรับรักษาโรคโควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจสอบ ทดลอง และพร้อมผลิตสำหรับใช้งานในระดับหลายร้อยล้านโดสให้ได้ภายใน 12-18 เดือน

 

ขณะที่รัฐบาล องค์กรด้านสาธารณสุขและการกุศลทั่วโลก ต่างพุ่งเป้าการลงทุนไปยังผู้พัฒนาวัคซีนที่ดูมีแนวโน้มสำเร็จมากที่สุดกว่า 100 รายทั่วโลก แต่ในจำนวนนี้มีเพียงไม่กี่รายที่พัฒนาวัคซีนก้าวหน้าไปถึงขั้นเริ่มทดลองในคน 

 

ซึ่งโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็ยังคงน้อย โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีวัคซีนที่ใช้งานได้มากกว่า 1 หรืออาจจะไม่มีเลย

 

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกอย่าง คือแม้จะได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายไปทั่วโลก ซึ่งหากวัคซีนสามารถกระจายไปถึงกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการใช้งาน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ก็จะช่วยให้การยับยั้งวิกฤตโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น  

 

แต่ในทางกลับกันก็อาจเกิดปัญหาซ้ำรอย เช่น ในการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี 2009 ที่วัคซีนจำนวนมากถูกครอบครองโดยประเทศร่ำรวย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการแพร่ระบาดจะยังคงปะทุขึ้นรุนแรงเป็นระลอก

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นั้นมีขนาดใหญ่มากกว่าโรคระบาดที่ผ่านมาในอดีตแบบเทียบไม่ได้ โดยกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด หรือ (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เริ่มต้นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 115 ราย ซึ่งทั้งหมดมุ่งเน้นการพัฒนา โดยละทิ้งมาตรฐานความรวดเร็วและความปลอดภัยในการพัฒนาวัคซีน  

 

ผู้พัฒนาบางรายทำการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพวัคซีนไปพร้อมกัน ขณะที่หลายรายกำลังประสานงานกับผู้ควบคุมกฎระเบียบการพัฒนาวัคซีนในหลายประเทศ เพื่อหาหนทางที่จะผลิตวัคซีนออกสู่ตลาดให้ได้เร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ BARDA สำนักงานวิจัยและพัฒนาของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยงบประมาณกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ วางแผนที่จะลงทุนในวัคซีน 5 ตัวที่กำลังพัฒนา โดยมุ่งเน้นโปรเจกต์ที่มาจากบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ที่มีประสบการณ์ หนึ่งในนั้นคือ Johnson & Johnson ที่ BARDA ทุ่มเงินสนับสนุนไปเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ซึ่ง Johnson & Johnson นั้นใช้เทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบเดียวกับที่ใช้พัฒนาวัคซีนต้านไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น อีโบลา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีวัคซีนตัวใดประสบความสำเร็จในการทดสอบหรือได้รับการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่การทดลองวัคซีนโควิด-19 ในคนของ Johnson & Johnson จะเริ่มต้นช่วงเดือนกันยายนนี้ 

 

“ภายในสิ้นปีนี้ เราจะได้รู้ว่ามันจะปกป้องชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่” สตอฟเฟลส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Johnson & Johnson กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทเอกชนที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 

 

ในจีน บริษัท CanSino Biologics Inc. ใช้เทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนที่คล้ายกับของ Johnson & Johnson แต่ CanSino เดินหน้าการพัฒนาไปได้ไกลกว่า โดยประกาศในช่วงเดือนนี้ว่าวัคซีนที่ทางบริษัทพัฒนานั้น ผ่านการทดสอบความปลอดภัยสำหรับใช้งานวัคซีนในคนแล้ว และพร้อมสำหรับการทดสอบวัคซีนในขั้นต่อไป

 

ส่วน Sanofi SA บริษัทผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นอีกหนึ่งรายที่ BARDA สนใจลงทุน ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่า ใช้เซลล์จากแมลงแทนไข่ไก่ในการสร้างโปรตีนไวรัสที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

 

อีกบริษัท คือ Moderna, Inc. ผู้พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นรายแรกในสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในคน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทางบริษัททำงานร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐฯ และได้รับเม็ดเงินสนับสนุนจาก CEPI อีกทั้งในเดือนนี้ BARDA ยังได้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของ Moderna ด้วยการให้เงินทุนกว่า 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับขยายขนาดการผลิต ซึ่งรวมถึงการจ้างพนักงานที่มีทักษะสำหรับผลิตวัคซีนเพิ่มอีกกว่า 150 คน 

 

“การยุติการระบาดของโควิด-19 ต้องใช้วัคซีนหลายล้านโดส” ทาล แซกส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชกรรมของ Moderna กล่าว พร้อมเผยว่าบริษัทตั้งความหวังที่จะได้วัคซีนที่ผ่านการรับรองอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนมีนาคม 2021 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising