วันนี้ (15 มีนาคม) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567
โดย นพ.สุรพงษ์ แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯ มีการกำหนดกรอบงบประมาณในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ ซึ่งมุ่งเน้นในการสร้างผู้ผลิตหน้าใหม่จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนตัวโครงสร้างของภาพยนตร์ จึงขอให้ผู้ผลิตทั้งรายใหม่และรายเก่าที่อยู่ในภาคเอกชน เตรียมนำเสนอโครงการภาพยนตร์ทั้งในแบบ Pre-pro Post หรือในแบบ Post Production
หากผ่านการพิจารณาก็จะได้รับงบประมาณตัวนี้ในการพัฒนาภาพยนตร์ สำหรับงบประมาณที่ตั้งขึ้นมา ก็เพื่อสนับสนุนการผลิตซีรีส์สำหรับเด็ก รวมไปถึงซีรีส์วาย ภาพยนตร์สารคดีที่จะนำไปสู่การประกวดในระดับนานาชาติ แต่การจัดทำงบประมาณในปี 2567 มีความล่าช้า จึงทำให้ไม่สามารถทำให้ประกาศรับสมัครการคัดเลือกเพื่อรับงบประมาณในการสนับสนุนได้ จึงขอให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งรายใหม่และรายเก่าที่อยู่ในภาคเอกชนรอและฟังการประกาศจากรัฐบาลอีกครั้ง
เช่นเดียวกับการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ติดขัดเรื่องงบประมาณปี 2567 เช่นกัน ซึ่งทางตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปถอดบทเรียน เพื่อไม่ให้การบริหารจัดการงบประมาณในปีถัดไปเกิดการติดขัด
นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
- การตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัดนครราชสีมา นำร่องกรณีโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย
- พัฒนาต้นแบบศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) สำหรับการขออนุมัติและอนุญาตจากราชการในการถ่ายทำภาพยนตร์และดนตรี
- นำร่องเปิดศูนย์ OSS Plus+ ในระดับพื้นที่ เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยยึดตามอ้างอิงลำดับสถิติการขอถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ประจำปี 2566
- เตรียมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) THACCA ซึ่งจะเป็นหน่วยงานถาวรที่จะมารับผิดชอบสนับสนุนทั้ง 11 สาขาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ รวมถึงการ Upskill และ Reskill คนไทยสู่แรงงานทักษะสูง คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปี 2568
- ลงทะเบียน One Family One Soft Power (OFOS) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคนผ่านการ Upskill และ Reskill คนไทยทั้งประเทศ เฟ้นหาศักยภาพคนไทยทุกครอบครัวอย่างน้อยครอบครัวละ 1 ศักยภาพ เป็นการสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว ภายใน 4 ปี สร้างรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 200,000 บาทต่อปี
โดยคาดว่าอุตสาหกรรมแรกที่จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนภายในปี 2567 คือ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ซึ่งจะมีการเปิดอบรมแบบ On-Site 10,000 คนแรกในปีนี้ ผ่านช่องทางสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม กว่า 140 แห่ง และรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ผู้ที่สนใจสมัครคนละ 15,000 บาท ซึ่งหลังจากฝึกอบรมแล้วจะมีการฝึกงานในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งได้รับมอบประกาศนียบัตร 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทยอีกด้วย