×

สรุปประเด็นสำคัญ ศึกแก้รัฐธรรมนูญระลอกใหม่ เมื่อฝ่ายค้าน vs. รัฐบาล แยกร่างสู้

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2021
  • LOADING...
สรุปประเด็นสำคัญ ศึกแก้รัฐธรรมนูญระลอกใหม่ เมื่อฝ่ายค้าน vs. รัฐบาล แยกร่างสู้

ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญคัมแบ็กกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw เมื่อปลายปี 2563 พร้อมมีมติปัดตกให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 

 

พรรคพลังประชารัฐเดินเกมเร็ว ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมาก่อนใครเพื่อน นับเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้ ที่ท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างพาเหรดออกมาเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับของตนเอง โดยคาดว่าจะมีการประชุมร่วมของรัฐสภาวันที่ 22-24 มิถุนายน ที่มีวาระของการพิจารณา พ.ร.บ. ประชามติในวันที่ 22 มิถุนายน และวาระของการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มิถุนายนตามมา

 

ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่ละฝ่ายผนึกกำลังกันอย่างไร และมีข้อเสนอใดที่จะนำไปสู่ทางออกของการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง ที่มีกระแสว่ากำลังจะมาถึงในอนาคตได้บ้าง THE STANDARD ชวนทุกคนมาย้อนดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เคยเกิดขึ้นและกำลังจะมาถึงในการประชุมสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

 

ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้าที่ถูกปัดตก

  • 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดย iLaw และมีประชาชน 100,732 รายเข้าชื่อร่วมกัน 
  • 17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงลงมติไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีสาระสำคัญในการให้ที่มาของ สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนถูกปัดตกไปในวาระสาม 

 

ภาคประชาชนรวมตัวลุกขึ้นแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง

  • 6 เมษายน 2564 กลุ่มรี-โซลูชัน (Re-Solution) จาก iLaw ร่วมกับ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า คณะก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ประกาศล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญในแคมเปญ ‘ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์’ มีใจความสำคัญอยู่ 4 ประเด็น ได้แก่ ล้ม ส.ว. โละศาลรัฐธรรมนูญ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ และล้างมรดกรัฐประหาร 

 

การเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ

  • 7 เมษายน 2564 พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา โดยเสนอให้แก้ไข 5 ประเด็น ใน 13 มาตรา ได้แก่

 

  1. เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิชุมชนให้แก่ประชาชน
  2. แก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ 
  3. แก้ไขให้งบประมาณของประเทศมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น
  4. ให้ ส.ส. และ ส.ว. สามารถติดต่อส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
  5. เปลี่ยนอำนาจวุฒิสภาให้เป็นอำนาจรัฐสภา โดยร่างนี้จะถูกนำมาพิจารณาในวาระการประชุมของเดือนมิถุนายน 

 

พรรคเพื่อไทยแถลงจุดยืน ไม่แตะหมวด 1-2 

  • 15 มิถุนายน 2564 พรรคเพื่อไทยแถลงถึงจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะยื่นญัตติแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. สำหรับจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 และ 2 อีกทั้งตัดอำนาจ ส.ว. และให้เปลี่ยนมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

3 พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

  • 16 มิถุนายน 2564 พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จับมือกันยื่น 9 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น เปลี่ยนระบบบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีที่พรรคการเมืองหรือ ส.ส. เสนอ และปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

5 พรรคฝ่ายค้านยื่น 5 ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ก้าวไกลไม่เห็นด้วยแก้ไขมาตรา 256 

  • 16 มิถุนายน 2564 พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เพื่อชาติ ประชาชาติ ปวงชนไทย ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีทั้งสิ้น 5 ร่าง ได้แก่ 1. แก้ไขมาตรา 256 เว้นหมวด 1-2 2. ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 3. แก้ไขสิทธิเสรีภาพประชาชน 4. ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ 5. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดย คสช.
  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแถลงว่า พรรคไม่ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่จำกัดไม่แก้ไขหมวด 1 ว่าด้วยบททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งขัดต่อแนวทางของพรรค และยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียดของร่างที่ 4 เนื่องจากอยากให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ด้วยวิธีคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อให้ไม่มีคะแนนของประชาชนต้องตกน้ำ
  • รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล มีความเห็นต่อการแก้รัฐธรรมนูญว่า การแก้ระบบการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเป็นการคาดหวังให้เกิดการเทคะแนนไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ หรือไม่ และยังเป็นการตามเกมของพลังประชารัฐที่เคยเสนอระบบบัตร 2 ใบมาก่อนหน้า ชี้ยังมีระบบเลือกตั้งแบบอื่นที่เป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า
  • สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เต็มไปด้วยการสับขาหลอก พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทันเกม โดยเฉพาะประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ย้ำพรรคเพื่อไทยมีความคิดจะเสนอระบบเลือกตั้งตามร่างที่ยื่นไปอยู่ก่อนแล้ว แต่พรรคฝ่ายรัฐบาลชิงเสนอก่อนหน้า ชี้พรรคพลังประชารัฐยุยงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทะเลาะกันเอง และจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้อ้างได้ว่าไม่มีฝ่ายใดสนับสนุนร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคว่ำร่างนี้ทิ้ง
  • ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประเมินว่าหากมีการยุบสภาในอนาคต ก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น ประเทศไทยจะต้องกลับเข้าไปสู่กระบวนการเดิมคือการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว และอยู่ใต้ระบบที่ ส.ว. มีสิทธิ์ในการแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี 

 

ส.ว. เสียงแข็ง ไม่เอาด้วย มาตัดอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี

  • เสรี สุวรรณภานนท์ ระบุการเสนอตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการลุแก่อำนาจ ไม่เห็นด้วย การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. เป็นอำนาจตามบทเฉพาะกาล 5 ปี เพื่อมาแก้วิกฤตประเทศ เสียง ส.ว. ไม่มีผลอะไรเลย ถ้ามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ไม่ถึงครึ่งในการโหวตนายกรัฐมนตรี การแก้มาตรา 272 ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันจึงจะสำเร็จ ถ้า ส.ว. ไม่ร่วมมือด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จ
  • กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ระบุว่า การที่ฝ่ายค้านจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งการให้ตั้ง สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น โม้ได้แต่จะทำได้หรือไม่ เพราะจะต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ขึ้นไปสนับสนุน พร้อมระบุว่า “ขณะนี้เสียง ส.ว. ตกผลึก เบื้องต้นจะให้ผ่านเฉพาะร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส่วนร่างของฝ่ายค้านคงไม่ผ่าน”
  • สมชาย แสวงการ ระบุว่า ขอตั้งคำถามกลับไปว่า ส.ว. ทำผิดอะไรที่จะมาปิดสวิตช์อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะตามบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญก็ผ่านความเห็นชอบมาจากประชาชนในการจัดทำประชามติมาก่อนแล้ว 

 

จัดสรรเวลาอภิปรายญัตติแก้รัฐธรรมนูญฝ่ายละ 6 ชั่วโมง 

  • 17 มิถุนายน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดประชุมวิป 3 ฝ่าย ณ ห้องประชุมประธานสภาผู้แทนราษฏร ชั้น 3 เพื่อพิจารณาวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 22-24 มิถุนายน โดยมีตัวแทนวิปวุฒิสภาคือ มหรรณพ เดชวิทักษ์, สมชาย แสวงการ ตัวแทนวิปรัฐบาล ชินวรณ์ บุณยเกียรติ, ชาดา ไทยเศรษฐ์, วิรัช รัตนเศรษฐ และตัวแทนวิปฝ่ายค้าน สุทิน  คลังแสง, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์

 

  • สำหรับการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่หนึ่งในวันที่ 23-24 มิถุนายน โดยมีการยื่นต่อประธานรัฐสภา มีทั้งหมด 14 ร่าง โดยยืนยันกรอบการอภิปรายไม่เกิน 2 วัน จัดสรรเวลาอภิปรายแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง โดยวันแรกเริ่มตั้งแต่ 09.30-00.30 น. ส่วนวันที่สอง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. ซึ่งจะปิดท้ายด้วยการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X