×

‘การแทรกแซงของรัฐ’ ความเสี่ยงที่มีต่อผู้ผลิตหน้ากากอนามัยต่างชาติ

04.03.2020
  • LOADING...

ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยในภาวะที่โรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างหนัก กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งเข้ามาจัดการ ทว่าทางการจีนและไทยกำลังใช้วิธีกดดันให้บริษัทข้ามชาติที่มาตั้งฐานผลิตหน้ากากอนามัยให้เข้ามาร่วมรับมือด้วย 

 

Nikkei Asian Review รายงานว่า Koken ผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งผลิตสำหรับส่งออกโดยเฉพาะ ไม่สามารถส่งสินค้าไปยังญี่ปุ่นได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากข้อจำกัดของรัฐบาลไทย หรือในจีน ทางการได้สั่งให้โรงงานผลิตแต่ชุดป้องกันและหน้ากากอนามัยอย่างเดียว 

 

ขณะที่บริษัทต่างชาติรายอื่นๆ ก็เผชิญกับข้อจำกัดนั้นเช่นกัน The Wall Street Journal ตีพิมพ์รายงานว่า Medicom Group บริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยของแคนาดา ได้รับคำสั่งให้ขายสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในเซี่ยงไฮ้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่น 

 

ขณะที่ Respilon บริษัทของสาธารณรัฐเช็ก ประสบปัญหาเรื่องซัพพลายเชน เนื่องจากข้อจำกัดของจีนในการส่งออกหน้ากากอนามัย คำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดสำหรับธุรกิจ

 

กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้ออกแถลงการณ์ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า จะใช้มาตรการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย บริษัทไหนจะส่งออกต้องส่งคำร้องเป็นกรณีไป คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับความต้องการในประเทศ ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอย่างรุนแรง 

 

แต่เรื่องนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับธุรกิจต่างชาติที่มีฐานผลิตในไทย แม้ Koken ซึ่งเข้ามาตั้งโรงงานในไทยตั้งแต่ปี 2012 โดยเลือกเป็นฐานผลิตต่างประเทศเพียงแห่งเดียว เนื่องจากแรงงานมีราคาถูกและมีมุมมองที่ดีต่อญี่ปุ่น จะสามารถส่งออกหน้ากาก N95 สำหรับใช้ในทางการแพทย์ไปยังญี่ปุ่นได้แล้วก็ตาม แต่หน้ากากอนามัยบางส่วนต้องส่งให้รัฐก่อน 

 

กรมการค้าภายในระบุว่า ต่อไปหากบริษัทไหนต้องการส่งออก จะต้องได้รับการพิจารณาเป็นครั้งๆ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 

 

แม้เอเชียจะดึงดูดบริษัทต่างชาติที่กำลังมองหาแรงงานราคาถูกและอยู่ใกล้จีน แต่การแทรกแซงของรัฐที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะพึ่งพาการผลิตในเอเชียอย่างเดียว แม้การกระจายฐานการผลิตจะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับธุรกิจก็ตาม

 

ทาคาชิ โนมุระ นักกฎหมายที่ประจำอยู่ในสำนักงานเซี่ยงไฮ้ของ Nishimura & Asahi บริษัทกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กล่าวว่า ธุรกิจไม่มีทางเลือกนอกจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ “เป็นการยากมากที่จะบอกว่ามาตรการที่รัฐใช้นั้นสอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือไม่” 

 

โดยสิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างไปจากที่อื่นคือแนวโน้มการใช้มาตรการที่ระมัดระวังมากขึ้นเพื่อป้องกันการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาล

 

ศาสตราจารย์มาซาฮิโกะ โฮโซคาวะ จากมหาวิทยาลัยชูบุ กล่าวว่า ธุรกิจต่างชาติเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองที่คาดเดาไม่ได้ แต่การแทรกแซงของรัฐเพื่อให้ความสำคัญภายในประเทศก่อนอาจสั่นคลอนสถานะของเอเชียในฐานะโรงงานของโลก การกระทำของรัฐบาลโดยพลการแม้ในกรณีฉุกเฉิน “อาจส่งผลให้สูญเสียบริษัทต่างชาติในฐานะนักลงทุนมากขึ้น” ศาสตราจารย์มาซาฮิโกะเตือน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising