×

TDRI และอดีต กนง. เตือน รัฐบาลแทรกแซงบอร์ด ธปท. จ่อเกิดผลเสียรุนแรง

10.10.2024
  • LOADING...

TDRI และอดีต กนง. ชี้ หากรัฐบาลแทรกแซงบอร์ด ธปท. จ่อเกิดผลเสียรุนแรง และอาจถึงขั้นหายนะ หากคนที่รัฐบาลส่งมาฟังรัฐบาลทุกเรื่อง ห่วงดันแผนใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

 

วันนี้ (10 ตุลาคม) ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้ได้รับเสนอชื่อที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง และมีความเห็นในการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันอย่างมากกับ ธปท. โดยระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพยายามส่งคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้มีเสียงของตัวเองในบอร์ด ธปท. มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่าง ธปท. และรัฐบาลตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ทั้งในประเด็นการดำเนินนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย รวมถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตยุคแรกที่มีความเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่ ธปท. ดูแลกฎหมายดังกล่าวอยู่

 

ดร.สมชัย ตั้งสมมติฐานด้วยว่า ที่หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากหากบุคคลที่มาเป็นบอร์ด ธปท. มีความเห็นพ้องกับรัฐบาล เพราะมีความเชื่อทางนโยบายแบบเดียวกัน จะทำให้โอกาสในการดำเนินนโยบายตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการมีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดูแลค่าเงินบาท รวมทั้งการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ ที่เคยมีแนวคิดมานานแล้วตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยว่า ต้องการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้ โดยการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งแนวคิดนี้ถูกคัดค้านจากฝั่ง ธปท. มาโดยตลอดเช่นกัน

 

ดร.สมชัย กล่าวว่า แม้การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะประสบความสำเร็จในบางประเทศ และประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่น้อย ซึ่งหากสามารถดำเนินการภายใต้การบริหารจัดการที่ดีได้ ก็จะทำให้ผลิดอกออกผลและเป็นประโยชน์เชิงนโยบายได้ แต่ที่หลายฝ่ายกังวลคือหน้าที่การบริหารกองทุนนี้เป็นของใคร ซึ่งการทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาลสูงมาก หากเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองโดยนำคนเข้าไปนั่งบริหารกองทุน ปัญหาก็จะเกิดตามมาอีกเช่นกัน เพราะกองทุนก้อนนี้คือเงินที่เป็นเกราะป้องกันในยามฉุกเฉิน หากนำไปใช้ผิดประเภทหรือใช้จ่ายกับประชานิยมต่างๆ ก็จะเป็นเงินที่เสียเปล่า

 

“สิ่งนี้เป็นหลักการและสมมติฐานส่วนตัว ไม่ได้ระบุหรือพาดพิงตัวบุคคลใดๆ ถ้าฝ่ายการเมืองสามารถส่งคนที่มีความคิดคล้ายกันเข้ามาในบอร์ด ธปท. ได้ เป็นผลเสียที่รุนแรงมากแน่นอน แต่ถึงขั้นหายนะหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเมื่อแทรกแซงแล้วคนที่รัฐบาลส่งไปนั่งอยู่ใน ธปท. ในจุดต่างๆ ถึงขั้นที่ว่าจะฟังรัฐบาลอย่างเดียวเลย ไม่ได้มีข้อพิจารณาทางวิชาชีพหรือหลักวิชาการอะไร อันนี้ถึงขั้นหายนะแน่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเชื่อว่าแต่ละท่านมีวิจารณญาณระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาพว่า ต่อให้ท่านมีวิจารณญาณของท่านเอง แต่เผอิญสิ่งที่ท่านพูดตรงกับรัฐบาลเกือบจะทุกเรื่อง คนอื่นก็อาจมองได้ว่าฟังรัฐบาลทุกเรื่อง” ดร.สมชัย ระบุ

 

ความสำคัญของกระบวนการสรรหาบอร์ด ธปท.

 

ดร.สมชัย ยังกล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการสรรหา และคณะกรรมการสรรหาหรือคัดเลือกคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ ธปท. ว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะคณะกรรมการหรือบอร์ดชุดต่างๆ ของ ธปท. คาบเกี่ยวกันทั้งหมด

 

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายปัจจุบันจึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาเอาไว้ว่า จะต้องไม่เป็นข้าราชการในปัจจุบัน ชัดเจนว่าเจตนารมณ์คือไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือการตัดสินใจมากจนเกินไป เพราะหากคณะกรรมการสรรหามีความคิดคล้ายกับฝ่ายการเมือง และสรรหาบอร์ด ธปท. ที่มีความคิดคล้ายกันเข้ามา

 

ต่อไปเมื่อ กนง. ครบวาระในอีก 2 ปีข้างหน้า บอร์ด ธปท. ก็จะมีโอกาสคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนง. ในสัดส่วนคนนอกอีก 4 คนด้วย นอกจากนี้ ในปี 2568 จะมีการคัดสรรผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ หากคณะกรรมการคัดสรรมีแนวคิดไปทางเดียวกับฝ่ายการเมืองอีก และเลือกผู้ว่าการ ธปท. ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน ถึงตอนนั้นฝ่ายการเมืองก็จะคุมนโยบายการเงินเบ็ดเสร็จ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการสรรหาก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

ย้ำนโยบายการเงินต้องเป็นอิสระ

 

ดร.สมชัย ย้ำด้วยว่า ความเป็นอิสระของนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก มีงานวิจัยและประสบการณ์จากทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พบตรงกันว่าถ้าตลาดขาดความเชื่อมั่นในเรื่องของความเป็นอิสระทางความคิดของธนาคารกลาง ตลาดจะปั่นป่วน ผันผวน และไม่เชื่อใจ ทั้งประเด็นการควบคุมเงินเฟ้อและวินัยทางด้านการเงินการคลังอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด

 

“อยากให้มองไกลและมองกว้าง อย่าไปให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้ามากเกินไป อะไรที่ทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปสร้างภาพว่านโยบายการเงินถูกแทรกแซงได้ อันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น ส่วนที่พูดกันว่าทั้งฝ่ายการเมืองและ ธปท. เองจะต้องปรับแนวคิดทั้งสองฝั่ง เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นนั้น ส่วนตัวเห็นว่าข้อถกเถียงที่ผ่านมาเป็นเรื่องของหลักการ เพราะหลักการของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ฝั่งหนึ่งมองระยะยาว ฝั่งหนึ่งมองระยะสั้น ก็เลยทำให้ยาก แต่หากทั้งสองฝั่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ที่เหลือคุยกันง่าย” ดร.สมชัย กล่าว

 

อดีต กนง. ชี้ เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ คาดเป็นเหตุไม่ลดอัตราดอกเบี้ย

 

ดร.สมชัย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนถึงความต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ยว่า หลักคิดของนโยบายการเงินคือเรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากใช้มุมมองของรัฐบาลที่พยายามจะฉายภาพว่าเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง การรักษาเสถียรภาพด้วยการลดดอกเบี้ยถือว่าถูกต้อง แต่ต้องถามกลับว่าเศรษฐกิจตกต่ำจริงหรือไม่ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้คาดกันว่าขยายตัวประมาณ 2.5-2.9% ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรกที่เข้ามาในระบบในปีนี้ และอีกงวดในปีหน้า

 

“ตัวเลขที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินใช้คือความแตกต่างระหว่างแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวตามศักยภาพ ที่หมายถึงระดับการขยายตัวที่เป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันปัจจุบัน ซึ่งมองไปข้างหน้า ความแตกต่างนี้ไม่ชัดเจน หาก กนง. มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวจะใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ประมาณ 2.8-3.0% แนวทางที่ควรจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราในปัจจุบัน แต่การที่ กนง. บอกว่ายังไม่ลดดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่ารอบหน้าจะไม่ลด เพราะถ้ามีตัวเลขเข้ามาใหม่ว่าเศรษฐกิจซบเซากว่าที่คิด ก็มีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ย” ดร.สมชัย ระบุ 

 

ดอกเบี้ยต่ำดีเฉพาะกลุ่ม สภาพคล่องไม่ไหลลงล่าง

 

ดร.สมชัย ยังกล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการลดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุจำเป็นว่า ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยต่ำเกินควร ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจ แต่สำหรับภาพรวมของประเทศไม่ค่อยดี เพราะเมื่อดอกเบี้ยต่ำจะส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มมากว่า 90% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะคนต้องไปจ่ายหนี้ ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย

 

ดร.สมชัย ระบุว่า การลดดอกเบี้ยแต่ละครั้ง ธปท. จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย แต่สภาพคล่องและเงินจะไปกองอยู่กับคนรวย บริษัทใหญ่ และธนาคารพาณิชย์ โดยที่เงินไม่ได้ไปสู่ SME เนื่องจากธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย เพราะไม่แน่ใจว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่

 

“การลดดอกเบี้ยเพิ่มสภาพคล่องจริง แต่สภาพคล่องที่เพิ่มอาจไปไม่ถึงคนที่ต้องการสภาพคล่องอยู่ดี อันนี้จึงเป็นเหตุที่ว่าไม่ว่า ธปท. หรือใครก็ตาม พยายามเร่งรัดเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน เพราะว่าถ้าไม่ทำ ธนาคารพาณิชย์ก็จะไม่ปล่อยกู้อยู่ดี เพราะกลัวหนี้เสีย สุดท้ายรายย่อยและประชาชนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบอีก” ดร.สมชัย ระบุ

 

ดัน Upskill-Reskill เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อพลิกประเทศได้

 

​ส่วนการแก้ไขปัญหาจะต้องทำอย่างไรนั้น ดร.สมชัย ระบุว่า ต้องเดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ที่ ธปท. กำลังทำคลินิกแก้หนี้อยู่ นอกจากนี้อาจต้องมีการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยกู้ให้กับรายย่อย ให้สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้นพร้อมๆ กับปลอดภัยมากขึ้นด้วย โดยเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ลูกค้าให้ดีขึ้น ใช้ Big Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์ ซึ่งหากร่วมมือกันทำ สุดท้ายก็สามารถปล่อยเงินกู้ไปสู่รายย่อยและประชาชนได้ ส่วนทางด้านนโยบายการคลัง จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มทักษะทั้ง Upskill และ Reskill คอร์สระยะสั้นให้กับทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเพิ่มความสามารถการแข่งขันที่ดีที่สุด

 

“ถ้าคนทำงานเก่งขึ้น ประกอบธุรกิจเก่งขึ้น ถึงตอนนั้นสภาพคล่องที่กองอยู่ข้างบนก็จะไหลมาหาเขา เพราะธนาคารพาณิชย์เริ่มกล้าที่จะปล่อยกู้ เพียงแต่รัฐบาลควรต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งถ้าทำดีๆ และทำทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้ในที่สุด” ดร.สมชัย ระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising