×

รัฐทุ่ม 7,500 ล้านบาท เยียวยาไซต์งานก่อสร้าง-ร้านอาหาร จ่ายลูกจ้างหัวละ 2,000 บาท ส่วนนายจ้างได้ 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน

28.06.2021
  • LOADING...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ช่วงเช้าวันนี้ (28 มิถุนายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรี และสมุทรสาคร รวมระยะเวลา 1 เดือน 

 

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไซต์งานก่อสร้างหรือร้านอาหาร ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม ซึ่งมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวแบ่งออกเป็น

 

  1. ร้านค้าหรือบริษัทที่อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้าง ทางประกันสังคมจะจ่ายชดเชยให้ 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นอกจากนี้ รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้อีกคนละ 2,000 บาท 

 

ส่วนกรณีนายจ้างหรือผู้ประกอบการ รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างหนึ่งรายในบริษัท โดยกำหนดจำนวนการจ่ายสูงสุดไม่เกิน 200 คน

 

  1. ร้านค้าหรือบริษัทที่อยู่นอกระบบประกันสังคม รัฐบาลจะจ่ายให้ลูกจ้างคนละ 2,000 บาท และจ่ายให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างหนึ่งรายในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นร้านที่มีฐานข้อมูลในระบบ ‘ถุงเงิน’ และต้องดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม แต่จะยังไม่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคม เนื่องจากยังจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผ่าน ‘ถุงเงิน’ (หมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ได้ภายใน 1 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบ 

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมกรอบวงเงินในการเยียวยาครั้งนี้ไว้ทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมโดยรัฐบาล 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคมอีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ 

 

ส่วนกรณีที่มีข่าวเรื่องจะเลื่อนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการเลื่อนออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการบริโภคในขณะนี้เริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น โครงการที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการบริโภคต้องดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

 

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกประกาศฉบับที่ 25 โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ 1 เดือน ซึ่งอาจกระทบโดยตรงกับธุรกิจ 2-3 ประเภท ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มเหล่านี้

 

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจคัดกรองผู้ป่วยและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

 

“นายกรัฐมนตรีประสงค์อยากจะเห็น กทม. และปริมณฑล หรือจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 10 คนขึ้นไป กลับมาเป็นเหมือน 50 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 คน การออกมาตรการยอมรับว่ามีผลกระทบ แต่การเยียวยาในรอบนี้เป็นลักษณะจำกัดตามพื้นที่การประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 25 สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ”

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising