×

รัฐบาลแจง 3 ประเด็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เตรียมใช้เวทีสภาสร้างความกระจ่างงบประมาณ ปี 2565

โดย THE STANDARD TEAM
23.05.2021
  • LOADING...
รัชดา ธนาดิเรก

วันนี้ (23 พฤษภาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายนว่า ถือเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลพร้อมชี้แจงให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 และขณะเดียวกัน ส.ส. จะได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง หากการใช้เวลาอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ จึงขอชี้แจงดังนี้ 

 

1. การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 2565 วงเงิน 624,399 ล้านบาท (20.14% ของงบประมาณรายจ่าย) น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้กฎหมายได้กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาในวรรคสองของมาตรา 20 ด้วย ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นกรณีที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งได้ ให้รัฐบาลแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภา พร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย และเพื่อให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุล และจะรายงานให้สภาฯ ได้ทราบ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ ประกอบด้วย 

 

  • 1.1 การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) 
  • 1.2 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)
  • 1.3 การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ 

 

2. ข้อวิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขนั้น ยังมีในส่วนของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณเข้าด้วยกันแล้ว ด้านการสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมากกว่ากลาโหมกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท

 

3. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเลขการรายงานเงินขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะ ตามที่ไปลือกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคาร ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของประเทศสมาชิก

 

รัชดา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปีก่อน ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท ประเด็นข้อสงสัยจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลพร้อมชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่างๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถานการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ประเทศจะได้เดินหน้าบนพื้นฐานความเข้าใจ แม้อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X